ผู้บริโภคชาวกาญจนบุรีร้อง! เจ้าของบ้านเช่าไม่คืนเงินมัดจำ ทนายความยืนยันต้องคืนเงินเต็มจำนวน เพราะสัญญาเช่าระบุไม่ครบถ้วน
เรื่องเล่าผู้บริโภคครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคชาวกาญจนบุรี ที่พบปัญหาเจ้าของบ้านเช่าไม่คืนเงินมัดจำ ซึ่งผู้บริโภครายนี้ได้ทำสัญญาเช่าบ้าน เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2568 ค่าใช้จ่ายเดือนละ 8,000 บาท และให้วางเงินมัดจำล่วงหน้า 2 เดือน จำนวน 16,000 บาท ต่อมาเมื่อต้นเดือนกันยายน 2567 ผู้บริโภคได้ไปแจ้งกับผู้ให้เช่าว่าจะย้ายออกในวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้ให้เช่าจึงแจ้งว่าเมื่ออยู่ไม่ครบสัญญา ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินมัดจำทั้งหมด
ด้านผู้บริโภครู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและเป็นทุกข์ใจที่ต้องโดนยึดเงินมัดจำนวนมาก จึงหาข้อมูลหน่วยงานที่จะช่วยเหลือ และได้พบกับหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาผู้บริโภค และได้ติดต่อไปเพื่อขอคำปรึกษาและร้องเรียน
หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน เจ้าหน้าที่หน่วยงานฯ กาญจนบุรี ได้ปรึกษาทนายความเพื่อตรวจสอบสัญญาเช่า ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าว่า “สัญญาไม่ได้ระบุว่าผู้ให้เช่าจะริบเงินมัดจำกรณีที่ผู้เช่าอยู่ไม่ครบสัญญาได้ ดังนั้นผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ และต้องคืนเงินมัดจำให้ผู้เช่าเต็มจำนวน” เจ้าหน้าที่รับเรื่องจึงแจ้งให้ผู้บริโภคประสานงานกับผู้ให้เช่าตามที่ทนายความแจ้ง ซึ่งผู้บริโภคได้ดำเนินการตามคำแนะนำและสุดท้ายได้เงินมัดจำคืนเต็มจำนวน
ผู้บริโภคได้กล่าว ขอบคุณหน่วยงานฯ กาญจนบุรี ที่ช่วยเหลือผู้บริโภคโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งช่วยติดตามผล ให้คำแนะนำ “รู้สึกโชคดีมากที่ได้ตัดสินใจติดต่อหน่วยงานไป เดิมทีผู้บริโภคทุกข์ใจอย่างมากเพราะไม่รู้ว่าต้องปรึกษาใคร” พร้อมแนะนำผู้บริโภครายอื่นหากพบเจอปัญหาเช่นนี้ ร้องเรียนได้ที่สภาผู้บริโภค หรือหน่วยงานประจำจังหวัดใกล้บ้าน
ช่องทางติดต่อสภาผู้บริโภค : เบอร์ 1502 หรือค้นหาหน่วยงานประจำจังหวัดใกล้บ้านได้ที่ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/
สำหรับผู้บริโภคที่กำลังมีแผนจะเช่าหรือซื้อบ้าน คอนโด หอพัก ก่อนทำสัญญาเช่าผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียด อย่างเช่น ระยะเวลาสัญญาและเงื่อนไขการต่อสัญญา ข้อกำหนดในการยกเลิกสัญญาว่าต้องแจ้งล่วงหน้ากี่เดือน และมีค่าปรับหรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขการคืนเงินประกัน เช่น ต้องทำความสะอาดหรือซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายก่อนหรือไม่
ทั้งนี้ ในกรณีซื้อบ้านหรือคอนโด ผู้ขายไม่สามารถริบเงินดาวน์เงินจองได้เช่นกัน หากไม่ได้ระบุในสัญญา กรณีวางเงินดาวน์ หากผู้ซื้อขอสินเชื่อกับธนาคารไม่ได้ ผู้ขายไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ได้ และต้องคืนเงินดาวน์ เว้นแต่ ในสัญญามีข้อความว่า “หากผู้ซื้อผิดสัญญา ให้ผู้ขายมีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ได้” เพราะเงินดาวน์จะถือเป็นเบี้ยปรับที่ผู้ขายมีสิทธิริบได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377
หรือ กรณีวางเงินจองหรือเงินมัดจำ ผู้ขายไม่สามารถริบเงินจองหรือมัดจำได้ เว้นแต่ สัญญากำหนดไว้ว่า “เป็นการวางเงินไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น” หากผู้ซื้อผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบเงินเหล่านี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378
ซึ่งกรณีที่มีการระบุเงื่อนไข แล้วผู้ซื้อทำผิดตามเงื่อนไข ผู้ขายสามารถเลยริบเงินได้ แต่ทั้งนี้ หากผู้ซื้อเห็นว่าเงื่อนไขในสัญญาไม่เป็นธรรม สามารถโต้แย้งได้
ดังนั้น ขอแนะนำผู้บริโภคตรวจสอบและอ่านข้อสัญญาอย่างละเอียด ก่อนตกลงทำสัญญาใด ๆ และควรถ่ายภาพสัญญาเก็บไว้ หากสัญญาข้อไหนไม่ชัดเจน ให้สอบถามอย่างละเอียด หรือหากพบข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต้องแจ้งผู้ประกอบการทันที อย่ายอมเซ็นข้อสัญญาที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมเด็ดขาด