สภาผู้บริโภคเสนอนายกฯ เร่งจัดทำ ‘ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือ’ หลังภัยพิบัติในอนาคตมีแนวโน้มเกิดบ่อย – รุนแรง พร้อมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ – เอกชน – ภาคประชาชน บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้ระบบแจ้งเตือนภัยทำงานได้เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะบนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมมีแผนสำรองเมื่อระบบหลักล่ม
จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย และกำลังเกิดขึ้นอีกหลายจังหวัดนั้น ธนชัย ฟูเฟื่อง หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงราย สภาผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม ระบุว่า คนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือ ปภ. เลย บางพื้นที่มีการแจ้งเตือนภัยกะทันหันจนไม่สามารถเตรียมรับมือได้ทัน สิ่งที่ประชาชนทำได้คือการพึ่งตัวเองด้วยการรับข้อมูลข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ แทน
ธนชัย กล่าวถึงสำนักงานของหน่วยงานประจำจังหวัดฯ รวมถึงองค์กรของผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปัจจุบันคนในพื้นที่ยังคงต้องพึ่งพาและดูแลกันเองอยู่ ซึ่งหากมีระบบการแจ้งเตือนภัยที่ทันท่วงที คนพื้นที่มีโอกาสได้เตรียมความพร้อม เชื่อว่า ความเสียหายก็น่าจะน้อยกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและกำลังเกิดขึ้นอีกหลายจังหวัดนั้นและเพื่อลดความเสียหายและความสูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน (Thai Emergency Alert) ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือระบบเซลล์ บรอดแคสต์ (Cell Broadcast Service) โดยเร็ว ซึ่งการที่ยังไม่มีระบบแจ้งเตือนภัยฯ ดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหาย หลายรายสูญเสียทั้งทรัพย์สิน หรือบางรายถึงขั้นสูญเสียชีวิต จากที่จะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่เยาวชนใช้อาวุธปืนกราดยิงประชาชนในห้างสรรพสินค้ากลางกรุงเทพมหานครจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ เสียหาย หรือแม้แต่สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในภาคเหนือของไทยที่พบว่า ไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเก็บข้าวของหรือเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ได้ทันเวลา
สุภิญญา ระบุว่า หลายประเทศมีระบบแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยพิบัติ เช่น ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Wireless Emergency Alerts) ในสหรัฐอเมริกา หรือระบบเตือนภัยพิบัติ (J – Alert) ของญี่ปุ่น แต่ไทยยังคงประสบปัญหาการขาดระบบแจ้งเตือนที่ครอบคลุมและทันสมัยจนส่งผลให้เกิดความสูญเสียจากภัยพิบัติเกิดขึ้นซ้ำซาก โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงแต่ประชาชนกลับไม่ได้รับการเตือนภัยอย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติบนแอปพลิเคชันไลน์ (Line Alert) และประชาสัมพันธ์ออกมาในวันที่ 14 กันยายน 2567 แม้จะขาดความรวดเร็วในการพัฒนาระบบเตือนภัย ยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะป้องกันเหตุได้อย่างเต็มที่ แต่ถือเป็นก้าวแรกในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการวางแผนโครงสร้างระบบที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยควรนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเงื่อนไขของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และจะต้องมีแผนสำรองสำหรับกรณีที่ระบบการสื่อสารหลักล่ม เช่น การใช้โดรนหรือวิทยุสื่อสารสมัครเล่น เพื่อให้การเตือนภัยถึงมือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภัยพิบัติในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้การสร้างระบบแจ้งเตือนภัยที่ครอบคลุมกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน การนำตัวอย่างจากประเทศที่มีระบบเตือนภัยที่แข็งแกร่งมาเป็นต้นแบบ รวมทั้งการประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ระบุ
ทั้งนี้ ภาคประชาชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบการแจ้งเตือนภัยได้เช่นเดียวกัน โดยประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ เสนอว่า การนำแนวคิด Civic Engagement (CE) หรือการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคพลเมือง มาใช้ในการแจ้งเตือนภัยผ่านแอปฯ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ จะช่วยทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยปลอดภัยหรือบรรเทาการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้มากขึ้น โดยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานและติดตามเหตุการณ์ได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนยังคงมีความสำคัญ เพื่อให้ระบบแจ้งเตือนภัยสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ยังเผยถึงความคืบหน้าจากการตอบกลับของกระทรวงมหาดไทยถึงการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินดังกล่าวว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 คณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำ “โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่” โดยโครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 และจะผูกพันในปีงบประมาณ 2568 แต่ยังอยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดรายละเอียดขอบเขตของงาน รวมถึงการกำหนดแนวทางการแจ้งเตือนภัยในแต่ละระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ และการกำหนดผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการแจ้งเตือนภัย โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแจ้งเตือนสาธารณภัยได้ภายในปี 2568
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคได้จัดทำข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่ให้เร่งจัดทำระบบแจ้งเตือนสาธารณภัยแห่งชาติ ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักร ที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น ภัยทางอากาศ หรือการก่อวินาศกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ