ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอาหารฯ เดือน มี.ค. 67

เดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาหาร ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค พร้อมเกาะติดมาตรการติดตามเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 6 มีนาคม 2567 มีการหารือใน 2 ประเด็น ได้แก่

1) ความคืบหน้าในการให้ความเห็นต่อการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. …. เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2567 สำนักงานสภาผู้บริโภคจัดรับฟังความเห็นกับคณะอนุกรรมการด้านอาหารฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) นักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้อำนวยการกองอาหาร และนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีข้อเสนอแนะให้สภาผู้บริโภคจัดทำความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.อาหาร เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับรองในหลักการ

ดังนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค จึงเห็นว่า สำนักงานสภาผู้บริโภคต้องรวบรวมข้อคิดเห็นในการปรับแก้แต่ละมาตรา เช่น การปรับแก้สัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการอาหาร คำนิยามของอาหาร และจัดส่งถึง อย. รวมถึงการผลักดันให้มีผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมได้เลือกให้คณะอนุกรรมการด้านอาหารฯ สภาผู้บริโภค ได้แก่ ไพโรจน์ แก้วมณี, ผศ.ภญ.ดร.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ และ ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ยกร่างหลักการกฎหมายอาหาร ฉบับสภาผู้บริโภคและยื่นเสนอร่างกฎหมายในนามภาคประชาชน

2) การติดตามกระบวนการทำงาน การตรวจสอบและการดำเนินการกรณีอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น ที่ อย. ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการเฝ้าระวัง การตรวจสอบการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น โดยมีแผนการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นที่หน้าด่านจำนวน 60 ตัวอย่าง และสถานที่จำหน่ายในประเทศจำนวน 30 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 134 และซีเซียม 137 ไปที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นอกจากนี้การตรวจสอบสินค้าได้พิจารณาเลือกรายการสารกัมมันตภาพรังสีตามความเสี่ยงของการปนเปื้อนและการสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสี ผลการวิเคราะห์พบว่าผ่านมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการบริโภคในตัวอย่างทั้งหมดและการเก็บตัวอย่างจากอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลการเฝ้าระวังแล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และ 25 กันยายน 2566

อย่างไรก็ตามพบว่า การดำเนินการของ อย. ไม่มีความชัดเจนและไม่ตรงกับประเด็นที่สอบถาม โดยเฉพาะข้อมูลผลยืนยันการตรวจสอบจากการเก็บตัวอย่าง ผลการตรวจจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และระยะเวลาในการดำเนินการเก็บตัวอย่างที่ชัดเจน ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงเสนอให้สำนักงานสภาผู้บริโภคทำหนังสือสอบถามกลับไปยัง อย. เพื่อขอทราบผลการเก็บตัวอย่างตั้งแต่วันที่ประเทศญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจนถึงปัจจุบัน และแผนการเก็บตัวอย่างของ อย. ในรองรับการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นในรอบถัดไป