อาเซียน+3 ผนึกพลัง ขยับกฎหมาย – ปลุกความรู้สู้ภัยดิจิทัล คุ้มครองผู้บริโภคยุค AI

อาเซียนบวกสามร่วมคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัล เสริมภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันภัยเอไอ ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคแต่ละประเทศ พบข้อจำกัดร่วม กฎหมายล้าสมัย ไม่ครอบคลุม บังคับใช้ไม่ได้จริง ชี้ต้องส่งเสริมผู้บริโภคป้องกันตัวเองร่วมด้วย

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภคร่วมกับองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนบวกสาม เปิดเวทีร่วมสะท้อนปัญหาสถานะการณ์การหลอกลวงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)  พร้อมทั้งแบ่งปันข้อมูลและการจัดการปัญหาที่พบความรุนแรงทวีมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคที่เป็นไปตามกระแสการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยยังไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ โดยมีข้อเสนอแนะการเตือนภัยทั้งภูมิภาค ทั้งนี้มีการเน้นการป้องกันกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ทั้งนี้มีการระบุเตือนการใช้เอไอแทรกแซงการเมืองช่วงเลือกตั้ง

เริ่มจาก สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เผยถึงปัญหาภัยออนไลน์ในประเทศไทยที่ได้มีการร้องเรียนเข้ามาอันดับหนึ่งว่า ส่วนใหญ่มาจากแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก มีทั้งในรูปแบบหลอกขายสินค้า หลอกลงทุน แอบอ้างเป็นคนอื่น หลอกให้รัก ฉ้อโกงทางการกุศล หลอกหางาน และหากกล่าวถึงการป้องกันผู้บริโภคในประเทศไทย นั้นมีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPA คุ้มครองเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเมือไม่นานมานี้ประเทศไทยมีข่าวดี เรื่องคุมเข้มสั่งปรับข้อมูลรั่วไหลภาคเอกชน จำนวน 7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามแก้ปัญหาผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเปิดสายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 สำหรับแจ้งอายัดบัญชีได้ทันท่วงที นโยบายเปิดก่อนจ่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นสินค้าก่อนจ่ายที่จะบังคับใช้ในเดือนตุลาคมปีนี้ หรือมาตรการยืดระยะเวลาจ่ายเงินให้ผู้ขาย การลงทะเบียนผู้ขาย ยกระดับการเปิดบัญชีป้องกันบัญชีม้า อีกทั้ง สภาผู้บริโภคได้เสนอให้มีการหน่วงเงินก่อนโอน เนื่องจากข่าวที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคหลอกกดลิงก์แล้วดูดเงินจากบัญชี การโอนเงินต้องชะลอตัวช้าลง เพราะเราไม่สามารถแข่งกับมิจฉาชีพได้ทัน จึงต้องป้องกันให้การโอนเงินจากบัญชี

“สภาผู้บริโภคมีการคุ้มครองผู้บริโภคใน 8 ด้าน ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมปัญหาผู้บริโภค เราก็เปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้า ที่ผู้บริโภคพบปัญหาด้านใดก็สามารถมาร้องเรียนได้ เราพร้อมดูแลผู้บริโภคตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ” สารี ระบุ


ขณะที่ ดาโต้ อินดรานี ทุไรซิงแฮม (Dato Indrani Thuraisingham) รองประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) ให้ความเห็นว่า การคุ้มครองผู้บริโภคนอกเหนือจากการช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว การให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาสหพันธ์ฯ พยายามแชร์ข้อมูลในกลุ่มอาเซียน เพื่อเตือนภัยแต่ละประเทศให้เฝ้าระวัง และเมื่อไม่นานนี้ มีการแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอที่เป็นอันตราย เพื่อให้แต่ละภูมิภาคเฝ้าระวังเพื่อป้องกันผู้บริโภคได้รับอันตราย

สำหรับด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่มีการใช้เอไอ ที่ไม่ใช่เพียงการซื้อขายแต่มีสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินผ่านรูปแบบต่าง ๆ การส่งเอกสาร การเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ซึ่งต้องพยายเรียนรู้ให้เท่าทันโซเชียล รวมถึงประเด็นที่เฝ้าระวังก็จะมีรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามา นอกจากนี้ยังมีประเด็นเฝ้าระวังการใช้อินฟลูเอนเซอร์โฆษณาสินค้า พบปัญหาการโฆษณาเกินจริงทั้งที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ และภายหลังพบว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีคุณภาพ

“เอไอมีทั้งประโยชน์และความโทษ บางครั้งเราอยากรู้อะไรก็ถามในแอปต่าง ๆ ก็จะมีแชทบอทบอกเราได้ เอไอเหล่านี้มีประโยชน์ แต่บางครั้งก็มีผลกระทบ เช่น การใช้เทคโนโลยีดีปเฟค (Deepfakes) ในการปลอมแปลงเสียงบุคคลที่ผู้บริโภคไว้วางใจ เพื่อหลอกลวงคนอื่น โดยเฉพาะใช้ใบหน้าปลอมของบุคคลมีชื่อเสียง ซึ่งปัจจุบันมีการร้องเรียนเรื่องนี้อย่างมาก” รองประธานสหพันธ์ฯ กล่าว และว่า  เป้าหมายของสหพันธ์ฯ คือการเสริมสร้างความรู้เท่าทันดิจิทัลและให้ข้อมูลที่ครอบคลุมแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับทั้งประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ดาโต้ อินดรานี กล่าวถึงปัญหาเรื่องภัยไซเบอร์ กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเรื่อนี้ไม่ใช่แค่เด็กและผู้สูงอายุ แต่ทุกเพศทุกวัย ในฐานองค์กรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค มีสิ่งที่ต้องเตือนหรือข้อมูลที่ต้องพูดแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม เพราะแต่ละช่วงวัยหรือแม้แต่ต่างเพศก็เผชิญปัญหาต่างกัน

“ในมาเลเซีย ข้อมูลเรื่องสิทธิผู้บริโภคถูกบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษา ทั้งการปูพื้นฐานเด็กวัยก่อนมัธยมปลายให้รู้จัก FOMCA และการนำประเด็นเรื่องปัญหาผู้บริโภค ความเท่าทันสื่อ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของเด็กมัธยมปลาย เพื่อให้เขามีพื้นฐานในการป้องกันตัวเองและมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบันและอนาคต”


ส่วน อันจานี่ วิดยา (Ms.Andjani Widya) นักการศึกษา มูลนิธิผู้บริโภคแห่งอินโดนีเซีย (YLKI) เผยว่า YLKI เป็นองค์กรผู้บริโภคในอินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิของผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและเอไอ ในปัจจุบันมีการนำเอไอเข้ามาบริการลูกค้ามากขึ้น รวมถึงใช้ตรวจจับสินค้า ในยุคดิจิตอลที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภค มาพร้อมกับความท้าทายในเรื่องของการใช้ข้อมูลส่วนบุคลล ข้อมูลหลอกลวง โฆษณาปลอม เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล

พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอินโดนีเซียในเมื่อปี 2565 เกิดการละเมิดข้อมูลครั้งใหญ่กับหน่วยงานบริหารประกันสุขภาพทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอินโดนีเซียหลายล้านคน ถูกเปิดเผยและขายในเว็บมืด และพบการใช้ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมที่สร้างโดยเอไอก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเมื่อปี 2567

อันจานี่ ระบุว่า ขณะนี้อินโดนีเซียไม่มีกฎระเบียบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ แต่ YLKI ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิของตนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นยังร่วมมือกับผู้กำหนดนโยบายด้านนี้เพื่อพัฒนากฎระเบียบที่ปกป้องสิทธิผู้บริโภค แต่นอกจากนี้ จำเป็นต้องเพิ่มทักษะความรู้ให้มากขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศด้วย พร้อมสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคถึงสิทธิของตน

“เรามีการเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคผ่านวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลในทุกด้าน รวมถึงระบบแจ้งเตือนผู้บริโภคล่วงหน้า เพื่อลดความเสียหายมากที่สุด พร้อมการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ผลิตให้รู้ถึงความรับผิดชอบของตน และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค” อันจานี่ กล่าว


ด้าน อัง จง ซิน วิลเฟรด (Mr.Ang Zhong Xin Wilfred) รองหัวหน้าฝ่ายผู้บริโภคสัมพันธ์ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้บริการช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ สั่งอาหารออนไลน์ และพบว่าปัญหาจากการทำธุรกรรมออนไลน์ 5 ข้อ คือ 1. สั่งของไม่ได้ของ 2. บริษัทไม่ทำตามข้อสัญญา 3. บริษัทปิดตัวแล้วไม่ได้เงินคืน 4. ร้านจะคืนเงินแต่ไม่คืนเงิน และ 5. ไม่พึงพอใจในบริการ

นอกจากนี้ ได้ยกตัวอย่างกรณีเรื่องร้องเรียน งานโคมลอยที่มีการขายตั๋วก่อนวันงาน ประมาณ 2,000 ใบ แต่เมื่อมาถึงวันจัดงานกลับถูกยกเลิก เนื่องจากผู้จัดไม่มีใบอนุญาตจัดงาน แต่ผู้จัดเพิ่งแจ้งผู้บริโภคในวันงาน มีแนวทางการเยียวยาโดยให้ไปงานที่จะจัดอีกรอบและไม่มีแนวทางคืนเงิน ด้านผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและเข้ามาร้องเรียน สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ได้เป็นตัวกลางในการเจรจาให้ผู้จัดคืนเงิน จนสุดท้ายผู้บริโภคได้เงินคืน

สำหรับแนวทางจัดการข้อพิพาทในการซื้อของออนไลน์ทางสมาคมฯ มีแนวทางดำเนิน 5 ข้อ คือ 1. ผู้ประกอบการต้องได้รับการยืนยันตัวตน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ 2. การให้ข้อมูลและการสื่อสารต้องชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย 3. กรอบเวลาที่ชัดเจนในการระงับข้อพิพาทการร้องเรียน 4. ผู้ประกอบการต้องมีระบบจัดการเรื่องร้องเรียน ชดเชย และเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหาย รวมไปถึงระบบปกป้องการจ่ายเงินหรือข้อมูลของลูกค้าด้วย และ 5. การอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือเพื่อระงับข้อพิพาท ผ่านช่องทางออนไลน์

“สังคมของเราใช้เอไอเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แชทบอตในการตอบลูกค้า แม้ว่าบางกรณีควรจะเป็นคนให้คำตอบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้เอไอควรใช้อย่างระมัดระวัง” รองหัวหน้าฝ่ายผู้บริโภคสัมพันธ์ สมาคมฯ กล่าวทิ้งท้าย


ออง ไน่ง มิน (Mr.Aung Naing Min) เลขาธิการสหภาพผู้บริโภคเมียนมาร์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวว่า กว่า 3 ปีที่สหภาพผู้บริโภคเมียนมาได้วางรากฐานและแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค สหภาพฯ มีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค และเชื่อมั่นว่าการผนึกกำลังจะเป็นบทบาทสำคัญ ในการชี้ทิศทางการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์สูงสุดเพื่อปกป้องผู้บริโภค

นอกจากนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดก็ตามต้องมีความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค เพราะหากไม่มีความรู้จะทำให้ส่งมอบบริการหรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยต้องยึดผู้บริโภคเป็นหลัก โปร่งใส่ มีจริยธรรม และต้องสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจกับผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ ตัวผู้บริโภคเองต้องมีความรู้ด้วยเพื่อป้องกันตัวเอง

“การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องป้องกันสิ่งที่เป็นอันตราย ตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวัง การติดตาม แต่ทั้งนี้ คนในประเทศเมียนมาร์ส่วนมากยังไม่ค่อยใช้เทคโนโลยี จึงทำให้ไม่มีความคืบหน้าของกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี” เลขาธิการสหภาพผู้บริโภคเมียนมาร์ฯ กล่าว


ส่วน ทองดำ พงศ์พิชิต (Mr.Thongdam Phongphichith) ผู้อำนวยการสมาคมเกษตรกรรมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนประเทศลาว เผยความสำเร็จล่าสุดในการผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกนำเข้าน้ำดื่มจากจีน หลังตรวจพบสารปนเปื้อนจากยากำจัดศัตรูพืช สะท้อนบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค และแม้จะประสบความสำเร็จในกรณีดังกล่าว แต่ก็ยังมีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภคในโลกออนไลน์ ที่ผู้บริโภคลาวมักได้รับความเสียหายจากการใช้บริการแพลตฟอร์ม ได้แก่ Facebook และ Whatsapp โดยเมื่อเกิดความเสียหายมักติดตามตัวผู้กระทำผิดได้ยาก ประกอบกับยุคสมัยที่ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน เช่น สั่งอาหาร สั่งสินค้า เดินทาง หรือจองโรงแรม ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ยิ่งทำให้ยากต่อการควบคุม เนื่องจากไม่มีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรงอยู่ในประเทศ

“ผู้บริโภคลาวยังเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์และการละเมิดสิทธิ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย งบประมาณและความไม่เท่าทันเทคโนโลยีของคนในประเทศ หรือแม้แต่ขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐที่ยังไม่มากพอในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาภัยไซเบอร์” ผู้อำนวยการสมาคมเกษตรกรรมฯ กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมเกษตรกรรมฯ จึงมุ่งแก้ปัญหาด้วยการให้ความรู้ผ่านสื่อใหม่ ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนควบคุมคุณภาพสินค้า พร้อมประสานเครือข่ายผู้บริโภคอาเซียนเพื่อพัฒนานโยบายร่วมในยุคดิจิทัล ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวันของชาวลาว


ด้าน อลิซ แพม (Ms.Alice Pham) ผู้อำนวยการสำนักงานเอพีวิจัย ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้างความท้าทายใหม่ในการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในเวียดนาม ที่พบปัญหาผู้บริโภคถึง 24 รูปแบบ อาทิ การได้รับสินค้าไม่ตรงตามโฆษณา และการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการก่อให้เกิดความเดือดร้อนจากการถูกรบกวนโดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยีดีปเฟค ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 3 แสนล้านดองเวียดนาม หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีประเทศ

เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นางสาวอลิซ ระบุว่า เวียดนามได้เร่งปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย แม้ผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่สามารถควบคุมผู้มีแนวโน้มกระทำผิดได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ภาคประชาชนพยายามผลักดันมาตรการเชิงรุก อาทิ การกำหนดให้สแกนใบหน้าสำหรับการโอนเงินเกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และการถ่วงเวลาโอนสำหรับยอดเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งเน้นให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ข้อมูลยุคดิจิทัล        


ส่วน แซนดรา ลิซ่า ซี. บิเซนิโอ (Ms.Xandra Liza C. Bisenio) หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิวิจัย การศึกษา และการพัฒนาข้อมูลที่ไม่แสวงหากำไร ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีความพยายามในการเดินหน้าสู่การเป็นประเทศดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในทุกภาคส่วน ทั้งการบริการภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อาทิ การใช้บัตรประชาชนเพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะในด้านธุรกรรมการเงินและการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เห็นได้จากเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ซึ่งรวมถึงการแพร่กระจายของข่าวปลอมและการโจมตีทางไซเบอร์

เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ ระบุว่า ภาคประชาชนและภาครัฐในฟิลิปปินส์จึงได้ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุก ประกอบด้วย การเฝ้าระวังและเตือนภัย การให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและกรอบการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและทั่วถึง


ขณะที่ กิลลี วอง ฟัง – ฮาน (Ms.Gilly Wong Fung – han) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาผู้บริโภคฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า ฮ่องกงมีความก้าวหน้าในด้านการเงินและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งได้นำมาใช้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น การผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจนเกิดเกณฑ์อ้างอิง (Benchmark) ด้านราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลและทางเลือกที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานและเผยแพร่ความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภคฮ่องกงฯ ระบุอีกว่า ในปี 2566 การซื้อขายออนไลน์กลายเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของผู้บริโภคในฮ่องกง พร้อมกับกรณีหลอกลวงผ่านการปลอมแปลงคลิปวิดีโอโดยใช้เทคโนโลยีดีปเฟค ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 25 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ ปัจจุบันสภาผู้บริโภคฮ่องกงได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์และเอไอ แม้จะมีประโยชน์ แต่ยังคงมีจุดอ่อนและต้องการการกำกับดูแลเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวง

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2567 ยังมีการจัดตั้งสำนักนโยบายดิจิทัลเพื่อกำหนดแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคจากภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะการกำกับดูแลเอไอ ซึ่งนางสาวกิลลี วอง ย้ำว่า เอไอจะเข้ามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน แต่หากขาดการกำกับดูแล อาจกลายเป็นภัยคุกคามได้ ดังนั้น การผลักดันกฎหมายและนโยบายการกับดูแลที่ชัดเจน รวมถึงการร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ จึงมีความสำคัญยิ่งในการป้องกันรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคให้เกิดการรับรู้ ตื่นตัว และเท่าทันปัญหา


ปิดท้ายที่ ยุกยอง ฮอ (Ms.Youkyung Huh) ผู้อำนวยการองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี ระบุว่า ปัจจุบันหลายภาคส่วนนำเอไอมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการนำมาปรับใช้กับการซื้อขายบนตลาดออนไลน์

“แม้เอไอจะสร้างความสะดวก แต่ผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้ยังคงกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และต้องการการคุ้มครองหากเกิดผลกระทบจากการใช้งาน”

ผู้อำนวยการองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี ระบุอีกว่า ขณะนี้หน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน และเอกชนได้ร่วมมือกันผลักดันกฎหมายควบคุมเอไอ ภายใต้ชื่อ “Korean AI Bills” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่กฎหมายดังกล่าวยังไม่ถูกบังคับใช้ แม้จะผ่านเข้าสภานิติบัญญัติแล้ว ซึ่งทำให้ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคเกาหลียังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง

“นวัตกรรมเอไอก้าวไปไกลกว่ากฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อผู้บริโภคมากพอ ทำให้ผู้บริโภคยังคงถูกหลอกและถูกโกง ดังนั้น เราต้องผลักดันให้กฎหมายทันกับนวัตกรรมและมิจฉาชีพ เพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภค” ยุกยอง ระบุ

News English Version :: ASEAN+3 Collaborates to Enhance Legislation and Protect Consumers from Digital Threats in the AI Era