ภาคประชาชน ยื่นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยุติกระบวนการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตคนกรุง เตรียมฟ้องหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการดังกล่าวภายใน 30 วัน
จากกรณีที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำและวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 50 เขต ในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ แต่มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในหลายพื้นที่รวมถึงการคัดค้านจากสภาผู้บริโภคและหน่วยงานอื่น ๆ จนทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศขยายเวลาการรับฟังความจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นั้น
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ สภาองค์กรชุมชนคลองเตย เครือข่ายผู้บริโภค 50 เขต รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 28 องค์กร/ชุมชน1 ได้ร่วมกันยื่นหนังสือ ต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ยุติกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการร่างผังเมืองดังกล่าวภายใน 30 วัน
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า แม้ กทม. จะขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 แต่การขยายเวลาและเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะปัญหาเรื่อง ‘จุดเริ่มต้นของการร่างผังเมืองที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย’ ยังไม่ถูกจัดการ
“สภาผู้บริโภคติดตามเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างผังเมืองอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าร่างผังเมืองฉบับนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการจราจร การจัดการน้ำ การลดความแออัดของชุมชน รวมถึงสิทธิของคนจนที่จะมีที่อยู่อาศัยในเมือง เป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึง
ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ประชาชนต้องการให้ยุติการทำร่างผังเมืองฉบับนี้ และรอระยะเวลาอีก 2 ปีเพื่อเริ่มต้นทำผังเมืองใหม่และให้ประชาชนทั้ง 50 เขตใน กทม. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำผังเมืองอย่างแท้จริง” สารี ระบุ
ทั้งนี้ หากกรุงเทพมหานครเพิกเฉย ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค (วันสุดท้ายคือวันที่ 18 สิงหาคม 2567) และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ร่างผังเมืองฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น เป็นฉบับที่มีกระบวนการมาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งนี้ ไม่สามารถออกคำสั่งยุติการร่างผังเมืองได้ แต่จะรับความเห็นและเสียงสะท้อนในครั้งนี้ไปและนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกหลายกระบวนการ เช่น การให้ความเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ผังเมืองไม่ใช่สิ่งวิเศษมันไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง เพราะปัญหาบางอย่างเรื้อรังมานาน เพราะฉะนั้นอย่าไปรอทำผังเมืองใหม่เลย อะไรแก้ได้แก้ก่อน ส่วนสิ่งที่ยังคิดว่าไม่ดีก็สามารถไปแก้ไขในอีก 5 ปีที่มีการจัดทำร่างผังเมืองฉบับใหม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนเสนอมาในวันนี้ยังไม่สามารถรับปากได้ว่าจะทำตามข้อเสนอทั้งหมด แต่จะนำเสียงสะท้อนเข้าไปสู่กระบวนการ และรอดูร่างผังเมืองที่ออกมา นี่เป็นเพียงแค่ขั้นตอนแรก และหลังจากนี้ยังต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกมากมาย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ขณะที่ ก้องศักดิ์ สหศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนจากหลายชุมชนที่เริ่มเข้าใจและสนใจเรื่องผังเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นที่หลักสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือมายื่นต่อผู้ว่าฯ กทม. ในวันนี้ คือขอให้ยุติกระบวนการจัดทำผังเมืองที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน และเริ่มต้นร่างผังเมือง กทม. ฉบับใหม่ ที่รับฟังความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากกระบวนการรับฟังความเห็นตาม พ.ร.บ.การผังเมือง ปี 2518 ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ก่อนร่างผังเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ที่มาร่วมยื่นหนังสือในวันนี้ ไม่มีใครได้มีส่วนร่วมก่อนเริ่มกระบวนการเลย กระบวนการที่ผ่านมาคือการนำร่างผังเมืองที่ กทม. ทำเสร็จแล้วมารับฟังความเห็นจากประชาชน
ก้องศักดิ์กล่าวอีกว่า การคัดค้านและยื่นหนังสือในวันนี้จะไม่เกิดขึ้น หาก กทม. ฟังเสียงประชาชนและนำไปปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมามีกระบวนการ ‘รับฟัง’ อย่างเดียว แต่ไม่ทำตามข้อเสนอและความคิดเห็น เมื่อประชาชนรับรู้มากขึ้น สนใจเรื่องผังเมืองมากขึ้นและพบว่าพวกเขาถูกริดรอนสิทธิ์ อีกทั้งในการรับฟังความเห็นไม่ระบุถึงผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการร่างผังเมืองฉบับดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมืองฯ จึงเป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ขอให้ยุติและเริ่มจัดกระบวนการทำร่างผังเมืองใหม่ตั้งต้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย
“สิ่งที่ กทม. บอกว่า มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการทางกฎหมายมาตลอดตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นั้น เมื่อดูจากสถิติจะเห็นว่า มีคนเข้าร่วมการประชุมทั้งหมดเพียงประมาณ 21,200 คน หรือคิดเป็น 0.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 5,470,000 คน มีคนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับมาบอกว่ากระบวนการนี้ชอบธรรม จะผลักดันต่อ และให้ไปรอแก้ไขในกระบวนการร่างผังเมืองอีก 5 ปีข้างหน้า เรายอมรับไม่ได้ครับ” ก้องศักดิ์ระบุ
นอกจากนี้นังมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนของชุมชนต่าง ๆ ที่มาร่วมยื่นหนังสือ โดยมีปัญหาใหญ่ร่วมกันคือ กทม. ปรับเปลี่ยนผังเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่มีจดหมายแจ้ง และมีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่ได้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากร่างผังเมืองที่ กทม. วางมาก่อนแล้ว ไม่ใช่การเปิดรับฟังความเห็นก่อนร่างตามที่กฎหายระบุ ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า กทม. ต้องยุติการดำเนินการจัดทำและว่างผังเมืองฉบับนี้
1รายชื่อองค์กร ชุมชน กลุ่มประชาชนผู้ที่คัดค้านการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)
1. สภาองค์กรของผู้บริโภค 2. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 3. มูลนิธิดวงประทีป 4. มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา 5. มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ 6. สภาองค์กรชุมชนคลองเตย 7. สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) 8. เครือข่ายผู้บริโภค 9. เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง 10. ประชาชนในเขตวัฒนา 11. ประชาชนชุมชน อารีย์ – ราชครู 12. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในอาคารผาสุก 13. ชุมชนเขตพญาไท 14. ชุมชนอินทามาระ 38 | 15. ชุมชนบริเวณบึงรับน้ำ คู้บอน 16. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยศุภราช 1 เขตพญาไท 17. ประชาชนในชุมชนซอยพหลโยธิน 37 18. ประชาชนในชุมชนซอยประดิพัทธิ์ 23 19. ชุมชนหมู่บ้านเดอะธารา รามอินทรา 20. ประชาชนในเขตภาษีเจริญ 21. ประชาชนในซอยสุขุมวิท 61 22. ประชาชนในชุมชนคลองเตย 23. ชุมชนพหลโยธินซอย 2 24. ประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอยสวัสดี 25. หมู่บ้านศุภาลัยพระราม 2 26. ซอยสุขุมวิท 49 27. ประชาชนในเขตสุขสวัสดิ์ 28. ชุมชนอนุรักษ์พญาไท |