สภาผู้บริโภค จี้ รัฐบาล กระทรวงพลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพงด้วยการเสนอทางเลือกค่าไฟที่ กกพ. เสนอให้กับประชาชน ที่เห็นได้ชัดว่ามีแต่ทำให้ค่าไฟขึ้นราคา ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลและความเพิกเฉยต่อการทำหน้าที่ตามที่ ในการจัดการปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศ และกลับเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานนำเข้าก๊าซและกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชน
จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นและเสนอทางเลือกในการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ซึ่งส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนในช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4.65 – 6.01 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยนั้น
รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า เป็นทางเลือกที่ทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะจำยอม โดยรสนาชี้ว่าทางเลือกในการปรับขึ้นค่าเอฟทีที่ต่ำที่สุดที่ กกพ.เสนอออกมาอีกนั้นส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากปัจจุบัน และกลายเป็นทางเลือกที่เปรียบเสมือนการผูกมัดและล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชน ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดที่จะยอมรับกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นอีกได้
ภาครัฐเพิกเฉยปล่อยปัญหาค่าเอฟทีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เป็นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด รสนา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2564 สภาผู้บริโภคมีหนังสือส่งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานต่อนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายกำกับกิจการพลังงานที่กำหนดให้รัฐบาลต้องจัดหาพลังงานโดยต้องคำนึงถึงความพอเพียง มีระดับราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นภาระหนี้ให้กับประชาชนผ่าน กฟผ. และค่าเอฟที แต่กระทรวงพลังงานและรัฐบาลกลับไม่ดำเนินการอย่างจริงจังจนทำให้เกิดปัญหาภาระค่าเอฟทีปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อเรียกร้องเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง
สภาผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานเร่งแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพง ดังนี้
1. สั่งการให้ กกพ. และ กฟผ. ชะลอหรือหยุดการเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิดเข้าระบบ
2. สั่งการให้ กกพ. และกฟผ. เร่งเจรจาแก้ไขสัญญาเพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่ายรวมถึงค่าผลตอบแทนการลงทุนที่สูงเกินควร
3. สั่งการให้ ปตท. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลร่วมรับภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. ด้วยการคุมเพดานราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น และยืดเวลาชำระหนี้ให้ กฟผ. ให้ยาวขึ้น
4. สั่งการให้ กกพ. การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านและอาคารได้โดยต้องไม่มีการสร้างเงื่อนไขกีดกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ กกพ. นำมาคำนวณค่าเอฟทีเปรียบเทียบระหว่างงวดปัจจุบันและงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ทำให้นางสาวรสนา ตั้งข้อสังเกตว่า ค่าเอฟทีไม่ควรจะถูกปรับขึ้นและควรจะลดลงมาได้อีกหากสามารถบริหารจัดการภาระหนี้ของ กฟผ. ที่มีกับบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ประกอบกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ที่ค่าเอฟทีควรจะลดลง ได้แก่ 1. ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงร่วม 8,000 ล้านหน่วย หรือลดลงร้อยละ 11.70 เพราะเป็นช่วงฤดูฝนต่อเข้าฤดูหนาว ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ลดลงมากถึงร้อยละ 12.32 หรือลดลงไปถึง 9,307 ล้านหน่วย โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติที่มีการใช้ลดลง 8,498 ล้านหน่วย
2. แม้ราคาก๊าซธรรมชาติจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ราคาพูลก๊าซ (Pool Gas) ยังควรถูกคุมเพดานราคาไว้ที่ 300 – 323 บาทต่อล้านบีทียู ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมสูงไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย 3. พบข้อเท็จจริงว่าในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโรงหยุดเดินเครื่องเพราะมีไฟฟ้าล้นเกินคามต้องการใช้ ค่าซื้อไฟฟ้าลดลงจากงวดปัจจุบัน 8,835 ล้านบาท และค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. ซึ่งส่วนใหญ่คือก๊าซธรรมชาติลดลง 5,723 ล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ลดลง 727 ล้านบาท ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายลดลงรวมทั้งสิ้น 15,377 ล้านบาท
ค่าเอฟทีควรเท่าเดิมหรือลดลง
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทั้งหมดนี้ควรทำให้ค่าเอฟทีเท่าเดิมหรือลดลงได้ หากกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและมีความกล้าหาญในการบริหารจัดการหนี้ค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. ที่มีอยู่กับ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหน่วยงานของรัฐ โดยอาจกำหนดนโยบายคุมเพดานราคาก๊าซที่ ปตท. จำหน่ายเพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือให้ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ที่อ้างว่ามีหนี้สะสมอยู่ 98,495 ล้านบาทให้ยาวขึ้น และให้ ปตท. ร่วมรับผิดชอบมากขึ้น แต่ไม่ควรกำหนดทางเลือกแบบบังคับกับประชาชนเพื่อเร่งรัดการชำระหนี้ภายใน 1 งวด 3 งวด หรือ 6 งวด ที่ กกพ. เสนอมา ซึ่งไม่มีประชาชนหรือภาคธุรกิจใดที่จะแบกรับได้