สภาผู้บริโภคช่วยเจรจาบริษัทตู้เย็น เปลี่ยนสินค้าให้ผู้บริโภค หลังพบปัญหาช่องฟรีซตู้เย็นไม่เย็น แจ้งเปลี่ยนแล้ว แต่บริษัทถ่วงเวลา – เปลี่ยนสินค้าล่าช้า ชี้แจ้งซ่อมแล้วแต่ไม่หาย ผู้บริโภคมีสิทธิเปลี่ยนสินค้าหรือขอเงินคืนได้ พร้อมดันกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า (เลมอน ลอร์) แก้ปัญหาสินค้าชำรุด ไม่มีมาตรฐาน
จากสถิติเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไปเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งแต่ได้รับบริการไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือการพบปัญหาจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุด สภาผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่พบปัญหาจากการสั่งซื้อตู้เย็นพบตู้เย็นมีปัญหาความเย็น ซึ่งผู้บริโภคได้แจ้งให้บริษัทแก้ไขไปถึง 4 – 5 ครั้ง ในระยะเวลาสามปี ต่อมาช่องแช่แข็ง (ช่องฟรีซ) ไม่ทำความเย็นทำให้ช่องแช่ธรรมดาไม่มีความเย็นตามไปด้วย ผู้บริโภคจึงขอให้บริษัทเปลี่ยนตู้เย็นให้ใหม่จากการใช้ประกันที่ยังคงครอบคลุมในระยะเวลาการรับประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้าภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้นบริษัทไม่มีการดำเนินการใด ๆ และแจ้งให้ผู้บริโภครอคอยให้บริษัทนำตู้เย็นมาเปลี่ยนเป็นเวลานับเดือน
เมื่อเกิดความล่าช้า ประกอบกับที่ผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทบ่ายเบี่ยงและถ่วงเวลาที่จะเปลี่ยนตู้เย็นให้ ผู้บริโภคจึงแจ้งมาที่สภาผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาและแนวทางการดำเนินการกับบริษัท ทั้งนี้ หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคได้ติดต่อกับบริษัทตู้เย็นเพื่อขอให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นของผู้บริโภค โดยสภาผู้บริโภคแจ้งให้บริษัทต้องเปลี่ยนสินค้าให้ผู้บริโภค เนื่องจากระยะเวลาการประกันความชำรุดบกพร่องของสินค้ายังคงอยู่ ต่อมาบริษัทจึงได้นำตู้เย็นเครื่องใหม่มาเปลี่ยนทดแทนให้ผู้บริโภค
หลังจากได้รับความช่วยเหลือจนได้รับการแก้ไข ผู้บริโภครายดังกล่าวได้แสดงความขอบคุณสภาผู้บริโภคในการให้ความช่วยเหลือจนเปลี่ยนสินค้ากับบริษัทได้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการทุกรายไว้ว่า “ผู้ประกอบการควรมีความรับผิดชอบและควรดำเนินการตามบริการหลังการขายเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดี มีมาตรฐาน”
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่องที่ปัจจุบันผู้บริโภคมักพบปัญหาดังกล่าวและเมื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแก้ไขหรือชดเชยเยียวยาเป็นไปได้อย่างยากลำบาก สร้างภาระให้ผู้บริโภคในการต้องดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องไปที่ผู้ประกอบการหรือเกิดการฟ้องร้องขึ้น สภาผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ….. หรือเลมอน ลอว์ (Lemon Law) ขึ้น เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบในสินค้าหรือบริการและเกิดการคุ้มครองกับผู้บริโภคอย่างเป็นธรรมมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเสนอกฎหมายข้างต้นเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง
อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านสินค้าและบริการ สามารถรวบรวมหลักฐาน ได้แก่ ใบรับประกันสินค้าและใบเสร็จรับเงิน หลักฐานประกอบอื่น ๆ ติดต่อขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค ได้ที่เบอร์ 1502 ในวันและเวลาทำการ (วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.) หรือร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th และนอกจากนี้สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภค ทั้ง 18 จังหวัด โดยดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/