ผลงานสภาผู้บริโภคปี 66 ช่วยเหลือผู้บริโภค 16,142 กรณี แก้ไขเรื่องร้องเรียนสำเร็จ 79%

ผลงานสภาผู้บริโภคปี 66 ช่วยเหลือผู้บริโภค 16,142 กรณี แก้ไขเรื่องร้องเรียนสำเร็จ 79%

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค “สภาผู้บริโภค” สร้างผลงานช่วยเหลือและคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยากว่า 543 ล้านบาท และสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกจนตัวเลขล่าสุดเดือนมิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคมี 328 องค์กรวมาชิก 18 หน่วยงานประจำจังหวัด และ 4 หน่วยงานเขตพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่  48 จังหวัด เพื่อขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภค

นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจากการรายงานผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคประจำปี 2566 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ของสภาผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นำเสนอผลงานความสำเร็จของสภาผู้บริโภคโดยแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง งานด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยในปี 2566 สภาผู้บริโภค ได้รับจำนวนเรื่องร้องเรียนจำนวน 16,142 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 1,200 เรื่อง และเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมี 12,837 เรื่องที่ได้รับการแก้ไขจนยุติ คิดเป็นร้อยละ 79 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าที่ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเป็นเงินประมาณ 71.70 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัญหา 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคร้องเรียน ได้แก่ อันดับ 1 ด้านสินค้าและบริการทั่วไป เช่น ปัญหาข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกรณีบัตรคอนเสิร์ตฯ อันดับ 2 ด้านการเงินการธนาคาร  เช่น บริษัทประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนฯ และอันดับ 3 ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคมฯ เช่น SMS หลอกลวง เป็นต้น นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคในด้านการฟ้องคดีจำนวน 32 คดี โดยทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีอยู่ที่ 15,708,295 ล้านบาท

ประชาชนอยากได้อะไรจากสภาผู้บริโภค

ส่วนที่ 2 งานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เตือนภัยและให้ความรู้แก่ผู้บริโภค ผ่าน 7 ช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ tcc.or.th เฟซบุ๊กสภาองค์กรของผู้บริโภค ไลน์ออฟิเชียล ยูทูบ ทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) ติ๊กต็อก tccthailand และอินสตาแกรม tcc.thailand โดยมีผู้ติดตามแตะ 100,000 บัญชี ผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ กว่า 1,500 ชิ้น และมีการเผยแพร่ต่อมากกว่า 30 ล้านครั้ง  คิดเป็นมูลค่าประชาสัมพันธ์กว่า 207 ล้านบาท

ส่วนที่ 3 งานสนับสนุนและสร้างเครือข่าย โดยสภาผู้บริโภคเริ่มต้นจากการมีสมาชิก 237 องค์กร ในปี 2564 และตัวเลขเดือนมิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกทั้งหมด 328 องค์กร หน่วยงานประจำจังหวัด 18 แห่ง และหน่วยงานเขตพื้นที่ 4 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนที่ 4 งานด้านนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยในปี 2566 สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอนโยบายทั้งสิ้น 25 เรื่องครอบคลุม 8 ด้าน เช่น การหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาเรื่องภัยทุจริตทางการเงิน สนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย การคัดค้านการปรับปรุงผังเมือง การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย (Post-marketing) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การขับเคลื่อบเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล (Extra billing) ผลักดันเรื่องการเปิดก่อนจ่าย (COD) การแก้ปัญหาภัยคุกคามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อความสั้น (SMS) การควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ต และข้อเสนอเรื่องการกำกับราคาน้ำมัน ไฟฟ้า เป็นต้น

“ปัจจุบันสภาผู้บริโภคพยายามเตือนภัยเรื่องภัยทางการเงินต่าง ๆ แต่ก็ยังมีผู้เสียหายรายวัน และก็ถึงแม้เราจะสามารถจับบัญชีม้าได้ แต่การเยียวยาที่มีต่อผู้บริโภคน้อยมาก และขณะนี้สภาผู้บริโภคได้เสนอเรื่องการ ‘หน่วงเงิน’ หรือการจ่ายเงินที่ช้า ในกรณีที่โอนเงินจำนวนมากกว่า 10,000 บาท ซึ่งตัวเลขนี้มาจากรายงานรายงาน สถิติดิจิทัล (Digital Stat) ปี 2022 ที่ระบุว่าคนไทยใช้เงินซื้อของออนไลน์ปีละประมาณ 17,000 บาท” นางสาวสารี ระบุ

ทั้งนี้การทำงานที่ผ่านมาในปี 2566 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า (ETDA) เกี่ยวกับเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ 2) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการจัดการปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน 3) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) และ ปัญหาการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ 4) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ร่วมจัดทำระบบเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย (Post-marketing) และ 5) กรมการขนส่งทางรางที่ช่วยทำข้อมูลและผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท

อีกทั้งยังมี 4 หน่วยงานที่ตอบสนองต่อข้อเสนอของสภาผู้บริโภค ได้แก่ 1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ที่จัดให้มีการแสดงต้นทุนการรักษาพยาบาลกรณีสิทธิ UCEP ของ รพ.เอกชน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน 2) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่เห็นชอบให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ ไม่ต้องมีวิศกรรับรอง

3) กระทรวงสาธารณสุข ที่ดันเรื่องเรื่องการนำพืชกัญชาและกัญชงมาใช้เป็นวัตถุดิบในอาหาร จนกระทั่งสำนักงานรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอมาตรการฯและมอบหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการต่อ และ 4) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กรณีการโฆษณาเกินจริงของอาหารที่มีส่วนประกอบกัญชาและกัญชงทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของสภาผู้บริโภคที่สำคัญคือเรื่องการไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องความซับซ้อนในการแก้ปัญหา การตระหนักในสิทธิของผู้บริโภค ความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ การสื่อสารที่ยังเข้าไม่สามารถถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคุลม และหน่วยงานภาครัฐยังไม่ตอบสนองต่อข้อเสนอและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ส่วนเรื่องความท้าทายในงานคุ้มครองผู้บริโภค นางสาวสารีกล่าวว่า มีความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ 1) การทำให้ผู้บริโภคสามารถคุ้มครองตัวเองได้ในยุคดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2) ผลักดันกฎหมายเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรมใน 3 เรื่อง คือ การทำให้สิทธิผู้บริโภคทัดเทียมสากล การผลักดันกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า และการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร เพื่อทำให้อาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค 3) การขยายเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

สส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ร่วมอภิปราย

 ทั้งนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (สส.) จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมอภิปรายการรายงานผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค โดยมีทั้งคำชื่นชม ให้กำลังใจ และข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการทำงานต่อไป เริ่มจาก นางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวชื่นชมการทำงานของสภาผู้บริโภค ที่ได้ให้การช่วยเหลือรวมถึงพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เห็นได้ชัดจากรายงานการดําเนินงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนกว่า 16,000 เรื่อง และสามารถแก้ไขเรื่องต่าง ๆ จนเป็นที่ยุติได้ถึง 12,000 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ทำให้ผู้บริโภคได้รับการชดเชยเยียวยากว่า 71 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผลงานอีกด้านของสภาผู้บริโภคที่โดดเด่นคือ เรื่องการสื่อสารเพื่อให้ความรู้คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสภาผู้บริโภคเป็นหนึ่งในไม่กี่หน่วยงานที่มีการปรับตามพฤติกรรมของ

ขัตติยา สวัสดิผล

นางสาวขัตติยา ได้ฝากประเด็นเพิ่มเติมพร้อมข้อเสนอแนะแก่สภาผู้บริโภค เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งหากกฎหมายนี้ร่างสำเร็จย่อมเป็นผลดีต่อประชาชนมากขึ้น ปัญหาการควบรวมกิจการและการผูกขาด ที่นอกเหนือจากต้องแบกรับความเสี่ยงกรณีที่มีกลุ่มผูกขาดจากต่างประเทศที่เข้ามามี ผู้บริโภคยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากการควบรวมและการผูกขาดกิจการในประเทศไทยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ นางสาวขัตติยาได้ฝากข้อเสนอแนะเรื่องการเก็บรวบรวมและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค จึงควรมีมาตรการในการที่จะกำกับดูแลการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค และไม่ให้ใช้มากไปเกินกว่าที่ผู้บริโภคนั้นได้ให้ความยินยอมไว้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในการคุ้มครองกับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความซับซ้อนของสินค้าและบริการ จึงเป็นหน้าที่ของสภาผู้บริโภคต้องมีการเตรียมความพร้อมให้การความคุ้มครองกับผู้บริโภคที่มีความทันสมัยมากขึ้น

ส่วนปัญหาและอุปสรรคด้านงบประมาณ ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคนั้น นางสาวขัตติยาฝากไปยังรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงกระบวนการในการเสนองบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตหากสภาผู้บริโภคมีเรื่องร้องเรียนหรือปัญหา ที่อยากได้รับความร่วมมือจากสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถนําเสนอได้เพื่อทำงานร่วมกัน และปรับปรุงพัฒนาระบบการคุ้มครองและพิทักษ์ผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้พี่ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด

“สิ่งสุดท้ายที่รายงานของสภาผู้บริโภคทำได้ดี ไม่ใช่การรายงานถึงผลสัมฤทธิ์ที่ได้ แต่คือการที่ท่านทำให้ประชาชนนั้นมีรอยยิ้ม ได้เห็นความหวังของผู้เสียหายในกรณีต่าง ๆ ที่ทางสภาผู้บริโภคนั้นได้ให้ความช่วยเหลือ และในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ขอมอบความไว้วางใจให้กับทางสภาผู้บริโภคในการที่จะคุ้มครองดูแลและพิทักษ์สิทธิของประชาชนทุกคนในฐานะผู้บริโภคต่อไป” นางสาวขัตติยา กล่าวทิ้งท้าย

เอกราช อุดมอำนวย

ด้าน นายเอกราช อุดมอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นอกจากกล่าวชื่นชมและให้กําลังใจแล้ว ยังกล่าวถึงแนวทางพร้อมข้อเสนอแนะในฐานะเป็นผู้แทนรับฟังปัญหาของประชาชน เพื่อทางสภาผู้บริโภคจะได้ดำเนินการในปีถัด ๆ ไป ได้ฝากไว้ใน 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ปัญหาเรื่องค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาสูง จะช่วยกันผลักดันอย่างไร ให้ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนหรือแม้กระทั่งตามคลินิกต่าง ๆ ให้ราคาสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐมีผู้ใช้บริการเยอะ เมื่อเทียบกับแลกกับเวลาที่ต้องต่อคิว ผู้บริโภคบางคนจึงเลือกที่จะใช้บริการโรงบาลเอกชนแต่ก็ต้องแลกกับค่าบริการราคาสูง

ประเด็นที่สองบริการอาหารออนไลน์ ที่อาจมีราคาสูงเกินความสมเหตุสมผล จึงควรจะมีมาตรฐานหรือมาตรการอย่างไรเพื่อให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และประเด็นที่สาม เรื่องของค่าทางด่วน ซึ่งมีค่าบริการที่สูงมาก แม้ว่าจะติดเรื่องสัญญาสัมปทานของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้สภาผู้บริโภคช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภค ประเด็นที่สี ปัญหาเรื่องแอปพลิเคชันกู้ยืมเงิน หรือแอปฯลงทุนต่าง ๆ ซึ่งพบว่าผู้บริโภคถูกหลอกจำนวนมาก จึงอยากเห็นว่าสภาผู้บริโภคจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับประเด็นสุดท้าย นายเอกราชได้ฝากถึงคณะกรรมการ ในกรณีผู้ที่เช่าซื้อหรือผู้ที่ใช้บัตรกดเงินสด บัตรเครดิตถูกฟ้องเป็นจําเลยในคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมทั่วประเทศประเด็นไม่ได้อยู่เรื่องการฟ้องร้อง แต่ประเด็นอยู่ที่เรื่องของการต่อสู้คดี ซึ่งผู้บริโภคมักไม่รู้สิทธิของตัวเอง ไม่รู้เรื่องกฎหมาย ทำให้อาจถูกเอาเปรียบเรื่องการเรียกค่าเสียหายเกินจริง ซึ่งจะมีแนวทางใดบ้างที่จะพอช่วยเหลือผู้บริโภค ที่ลําบากอยู่แล้วไม่ต้องลําบากต่อไปอีก

อดิศร เพียงเกษ

ส่วน นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่าการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดกิจกรรมแถลงข่าวค่าไฟต้องแฟร์ข้อเสนอภาคประชาชนสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ รวมถึงการยื่นเรื่องขอเข้าพบ รมว. พลังงานเพื่อเสนอนโยบายราคาไฟฟ้าที่เป็นธรรมถือเป็นความกล้าหาญของสภาผู้บริโภค และข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของสภาผู้บริโภค ก็เป็นข้อเสนอที่ดี ทั้งนี้ อยากให้เปิดเผยเรื่องต้นทุนจริง ๆ และอุปสรรคที่ทำให้ค่าไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซหุงต้มแพง เพราะเป็นปัญหาที่มีประจําทุกครัวเรือนของประชาชน

อีกเรื่องหนึ่งที่นับเป็นความกล้าหาญคือเรื่องการผลักดันร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบํานาญพื้นฐานแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลาย ๆ พรรคการเมืองใช้หาเสียงและอ้างว่าพรรคของตัวเองเป็นผู้เสนอ ในเมื่อสภาผู้บริโภคจัดเวทีเสวนา มีการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยต่าง ๆ ก็ควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อต่อสาธารณะ เช่น เรื่องแหล่งที่มาของเงินทุนที่นำไปทำเรื่องบำนาญเดือนละ 3,000 บาท เป็นต้น อีกทั้งควรนำเสนอผลงานเรื่องนี้อย่าให้พรรคการเมืองนำผลงานไปกล่าวอ้างได้

อย่างก็ตาม นายอดิศร เสนอแนะว่า นอกจากการทำข้อมูลต่าง ๆ แล้วก็เน้นเรื่องการผลักดันเพื่อให้เกิดขึ้นจริงด้วย ทั้งเรื่องราคาพลังงาน และบำนาญถ้วนหน้า

“ดูท่านเป็นยักษ์นะครับแต่ดูแล้วไม่มีอาวุธเลยกระบองก็ไม่มี ท่านทําทุกเรื่องใหญ่โตมโหฬารเพื่อพิทักษ์รักษาสิทธิของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว งานของท่านมีมากมาย ข้อมูลต่าง ๆ ถูกผลิตและทำเป็นข้อเสนอ แต่สุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดนโยบายนั้นขึ้นจริงต้องทำอย่างไร จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใครเป็นคนทำ นี่คือสิ่งที่ท่านต้องผลักดันต่อ” นายอดิศรระบุ

ภัณฑิล น่วมเจิม

ขณะที่ นายภัณฑิล น่วมเจิม สส. เขตคลองเตย – วัฒนา พรรคก้าวไกล กล่าวชื่นชมและสนับสนุนการทำงานของสภาผู้บริโภค ทั้งในเชิงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการรณรงค์เชิงประเด็น โดยระบุถึงการทำงานในด้านต่าง ๆ ของสภาผู้บริโภค เช่น เรื่องการภัยทุจริตการเงิน ผังเมืองอาคารสูงในซอยแคบ เรื่องตั๋วร่วม เปิดก่อนจ่าย การคัดค้านการควบรวมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เรื่องค่าไฟฟ้าแพง การผลักดันให้เกิดระบบเน็ตมิเตอร์ริง (Net Metering) ประเด็นเรื่องการเที่ยวบิน บัตรคอนเสิร์ต รวมถึงเรื่อง พ.ร.บ.เลมอนลอว์

นายภัณฑิลกล่าวอีกว่า มาตรการหนึ่งที่สภาผู้บริโภคเสนอ และเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากคือ มาตรการหน่วงเงิน โดยกักเงินไว้ก่อนในกรณีที่มีการโอนเงินในจํานวนมาก ซึ่งต้องมีศึกษาและดําเนินการต่อ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวเองเป็นหนึ่งใน กมธ. จะสามารถร่วมมือกับสภาผู้บริโภค เช่น เรื่องผังเมือง ระบบตั๋วร่วมและราคาค่าโดยสารร่วม บัตรคอนเสิร์ต สัมปทานทางด่วนที่ผูกขาดเอื้อประโยชน์ให้นายทุนขนาดใหญ่ รวมถึง พ.ร.บ. ความรับผิดเพื่อชํารุดเพื่อความชํารุดบกพร่องของสินค้า เพื่อพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

เกียรติคุณ ต้นยาง

ส่วน นายเกียรติคุณ ต้นยาง สส. จังหวัดนนทบุรี พรรคก้าวไกล ระบุว่าปริมาณเรื่องร้องเรียนและถึงจำนวนที่ยุติเรื่องได้เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับการรายงานผลการดำเนินงานปี 2565 นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มจำนวนองค์กรสมาชิกและหน่วยงานประจำจังหวัดได้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องปริมาณแล้วอยากให้เน้นคุณภาพขององค์กรที่จะเกิดขึ้นหรือเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาผู้บริโภคด้วย

“พี่น้องคนตําบลพิบูลราชอําเภอบางบัวทองถนน บ้านกล้วยไทรน้อยกว่าจะออกไปหาที่ร้องเรียนได้รอรถสองแถวครึ่งชั่วโมงก็ยังไม่เจอ สองแถวคันใหญ่หนึ่งชั่วโมงมาหนึ่งคัน สองแถวคันเล็กครึ่งชั่วโมงมาหนึ่งคัน นอกจากนี้ ฝากเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสายสีชมพูและสีม่วงที่วิ่งในจังหวัดนนทบุรี รวมไปถึงการพัฒนาองค์กรสมาชิกและหน่วยงานประจำจังหวัดในจังหวัดนนทบุรีด้วย อย่างน้อยขอให้คนนนทบุรีได้รู้ว่าเมื่อมีปัญฆา เขาจะต้องไปหาใครไปหาใคร หรือต้องไปพึ่งพาองค์กรของผู้บริโภคได้ที่ไหน” นายเกียรติคุณกล่าวทิ้งท้าย

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ตอบคำถามของสมาชิกวุฒิสภา

สารี อ๋องสมหวัง

ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ตอบคำถามของสมาชิกวุฒิสภาในแต่ละประเด็น โดยเริ่มจากคำถามของ นายเกียรติคุณ ต้นยาง เรื่องหน่วยงานประจําจังหวัดที่นนทบุรี โดยอธิบายว่าหลักเกณฑ์ของสภาผู้บริโภคคือจังหวัดที่จะมีหน่วยงานประจําจังหวัดได้ต้องมีสมาชิกองค์กรของผู้บริโภคอย่างน้อย 5 องค์กร ซึ่งการที่จะมีสมาชิกในแต่ละจังหวัดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาผู้บริโภค เนื่องจากสมาชิกต้องไปจดแจ้งกับสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ด้วย

อย่างไรก็ตามสภาผู้บริโภคได้พยายามสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยมีบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ และถึงแม้สภาผู้บริโภคยังไม่มีหน่วยงานประจําจังหวัดนนทบุรี แต่ศูนย์คุ้มครองสิทธิที่จังหวัดนนทบุรีก็ถือว่าเป็นหน่วยประสานงานจุดให้การช่วยเหลือของนนทบุรี ทั้งนี้ ขอย้ำว่าสภาผู้บริโภคให้ความสําคัญกับเรื่องคุณภาพ เพราะฉะนั้นจํานวนหน่วยประจําจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพขององค์กร และเงื่อไนว่าต้องมีคนทำงานอย่างน้อย 3 คน และต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์กรอย่างน้อย 5 องค์กรในจังหวัดเดียวกัน เพื่อขึ้นมาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด ซึ่งสภาผู้บริโภคก็คาดหวังเช่นเดียวกันว่าจะมีจำนวนสมาชิกและหน่วยงานประจำจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ถึงแม้เรายังไม่มีหน่วยประจําจังหวัดครอบคลุมทุกจังหวัด ขณะนี้สภาผู้บริโภคมีคนร้องเรียนทั้ง 77 จังหวัดผ่านสายด่วน 1502 และเรื่องร้องเรียนนั้นจะถูกกระจายโดยอัตโนมัติไปที่หน่วยงานประจําจังหวัดในรับผิดชอบพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เขาได้สนับสนุนผู้บริโภคในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ของเขา” นางสาวสารีกล่าว

สำหรับคำถามของนางสาวขัตติยา สวัสดิผล โดยข้อแนะนำเรื่องเรื่องพ.ร.บ.เลมอนลอว์ สภาผู้บริโภคจะร่วมกับ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้ต่อไปและหวังว่าพรรคต่าง ๆ ต่างจะช่วยสนับสนุนในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ด้วย ส่วนข้อสังเกตเรื่องให้สภาเต็มความพร้อมจะขออนุญาตรับไป ทั้งเรื่องธุรกิจสินค้าสมัยใหม่ แพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งมีปัญหาในเชิงของการขึ้นทะเบียนและความรับผิดต่าง ๆ ที่จะมีต่อสมาชิกหรือประชาชนในประเทศไทย เนื่องจากการที่บริษัทเองก็อาจมีบริษัทใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์หรือประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสําคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่จะทําให้การขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเนี่ยมีการกํากับที่ชัดเจนมากขึ้นส่วนเรื่องการควบรวมกิจการการผูกขาดก็เป็นประเด็นสําคัญที่สภาผู้บริโภคจะติดตามต่อไป

สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่สภาผู้บริโภคให้ความสําคัญมาก อีกทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคที่สภาผู้บริโภคได้ยกร่างแก้ไขในขณะนี้ ได้มีการผลักดันให้เพิ่มเติมสิทธิเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือสิทธิที่ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

ส่วนประเด็นอภิปรายของ นายเอกราช อุดมอํานวย สส.จากพรรคก้าวไกลนั้น นางสาวสารีกล่าวว่า สภาผู้บริโภคต้องขอความร่วมมือในหลายเรื่อง ทั้งค่าบริการของสถานพยาบาลซึ่งปัจจุบันมีกรมการค้าภายในกํากับดูแลแต่ก็กํากับในลักษณะที่ให้แจ้งราคาแล้วก็ถ้าประชาชนสงสัยหรือพบยาราคาแพงหรือถูกเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงก็ให้ใช้กลไกร้องเรียน เพราะฉะนั้นเป็นการกํากับในระดับของการแจ้งราคาให้กับผู้บริโภคเท่านั้น ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคได้ทํางานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ หรือ ยูเซ็ป (UCEP) ซึ่งขณะนี้ใช้ระบบจ่ายตามการรักษาจริง หรือที่เรียกว่า Free Schedule เป็นการจ่ายที่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ขาดทุนและน่าจะทำมาปรับใช้กับเรื่องค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดได้

สำหรับเรื่องดอนเมืองโทลล์เวย์ องค์กรผู้บริโภคโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟ้องคดีเมื่อปี 2552 และชนะคดีในศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาที่น่าสนใจมากว่าการขึ้นราคาเป็นการสร้างภาระกับผู้บริโภคและไม่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรผู้บริโภคและรวมถึงการมอบอํานาจรัฐให้กับเอกชนในการขึ้นราคา

“เราจะเห็นว่าเมื่อดอนเมืองโทลล์เวย์จะขึ้นราคาเนี่ยติดป้ายประกาศ 30 วันเท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าเรามอบอํานาจรัฐให้กับเอกชน แต่เมื่อคดีไปถึงศาลปกครองสูงสุดเราก็แพ้คดี เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าขณะนี้ดอนเมืองโทลล์เวย์ซึ่งควรจะหมดสัมปทานเมื่อปี 2555 แต่ขยายไปถึง 2577 และขณะนี้รัฐบาลก็เตรียมการที่จะขยายโดยให้คงราคาเดิม เช่นเดียวกับทางด่วนระยะที่สอง ซึ่งเป็นโจทย์ของประชาชนและก็สภาผู้แทนราษฎรที่ต้องตรวจสอบและทํางานร่วมกันเพื่อทําเรื่องนี้ให้ประสบความสําเร็จ” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคระบุ

ส่วนเรื่องแอปฯ เงินกู้นั้น นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือผู้บริโภคแล้ว ขณะนี้สภาผู้บริโภคได้จัดทําหลักสูตรเรียกว่าแก้หนี้แบบยั่งยืน ที่จะให้ตัวแทนของสมาชิกสภาเป็นหน่วยแก้หนี้ในพื้นที่ เพื่อที่จะทําให้ประชาชนอย่างน้อยมีที่พึ่ง รู้ว่าหนี้แบบไหนดอกเบี้ยเท่าไหร่ และต้องผ่อนอย่างไร

นอกจากนี้ นางสาวสารียังตอบประเด็นของ นายอดิศร เพียงเกษ ในเรื่องค่าไฟฟ้าว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะยังดำเนินการไม่สำเร็จ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมถึงสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ ส่วนเรื่องบํานาญพื้นฐานแห่งชาตินั้น ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องงบประมาณแต่มีปัญหาเรื่องการจัดลําดับการใช้งบประมาณแผ่นดิน เพราะฉะนั้นหากจะทําเรื่องบํานาญพื้นฐานแห่งชาติอาจจะเริ่มต้นได้เลย โดยที่ค่อยเป็นบันไดก็ได้ ไม่ต้อง 3,000 บาททีเดียวอาจจะ 2,000 บาทก่อน แล้วก็เป็น 3,000 บาทในอีกกี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้มีประชาชนมากกว่า 10,000 รายชื่อที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ เพราะฉะนั้นสภาผู้บริโภค หวังว่าสส. จะช่วยมาร่วมมือและก็ผลักดันให้รัฐบาลรับรองกฎหมายดังกล่าว

ส่วนประเด็นที่ นายภัณฑิล น่วมเจิม ยกขึ้นมาเรื่องค่าทางด่วนนั้น นางสาวสารีแสดงความเห็นว่าต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เลขาธิการสภาผู้บริโภค ได้กล่าวขอบคุณสำหรับกําลังใจและสนับสนุนการทํางานของสภาผู้บริโภคจาก สส. ทุกท่าน รวมถึงเรื่องการสนับสนุนให้มีการจัดสรรเงินให้กับสภาผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

บุญยืน ศิริธรรม

ทางด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ร่วมตอบคำถามของนายอดิศร เพียงเกษ โดยระบุว่าต้องขอความร่วมมือจาก สส. ในการผลักดันกฎหมายบํานาญแห่งชาติซึ่งตอนนี้ยังค้างอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน หากผ่านการอนุมัติของนายกรัฐมนตรีก็สามารถนำมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรและไปตามขั้นตอนของกฎหมายได้

“ถ้าท่านอยากจะให้มันเกิดความสําเร็จ ท่านช่วยไปบอกท่านนายกว่าช่วยเซ็นกฎหมายฉบับนี้เพราะขณะนี้ท่านนายกมีอํานาจคนเดียวในการตัดสินใจว่าจะเซ็นหรือไม่ ซึ่งในฐานะของสภาผู้บริโภคเรามองว่าสภาผู้แทนราษฎรต่างหากที่ควรจะมีสิทธิ์ที่จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้เพราะฉะนั้นขอแรงพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านช่วยส่งเสียงบอกท่านนายกแทนสภาผู้บริโภคด้วย” ประธานสภาผู้บริโภคระบุ

นางสาวบุญยืนกล่าวทิ้งท้ายว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่า 30 ปีแล้วพบว่าอุปสรรคส่วนใหญ่ของการทํางานคุ้มครองผู้บริโภค คือ กติกาและกฎหมายจํานวนไม่น้อยที่เอื้อต่อการเอาเปรียบผู้บริโภค สิ่งนี้ต่างหากที่เราจะต้องร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไข

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค