สภาผู้บริโภค ร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
วันที่ 24 – 25 มิถุนายน 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและเป็นธรรม สภาผู้บริโภค นำโดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมกับคณะทำงานหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ และเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่สนับสนุนงานขับเคลื่อนนโยบายด้านขนส่งสาธารณะ ในจังหวัดภูเก็ตเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
โดยช่วงเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2567 คณะทำงานฯ ได้เข้าพบไวทฑ อุปัติศฤงค์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด เพื่อหารือแนวคิดและเป้าหมายของภาคเอกชนในการจัดบริการขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ในเส้นทางสนามบิน – ตัวเมือง และ เส้นทางรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเขตเมืองเก่าภูเก็ต หรือ ดราก้อนไลน์ (Dragon Line) ส่วนช่วงบ่ายได้เข้าพบเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือแนวทางการจัดบริการขนส่งสาธารณะและเป้าหมายการพัฒนาระบบบริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่สามอำเภอของจังหวัดภูเก็ต
ในวันที่ 25 มิถุนายน 2567 คณะทำงานฯ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดภูเก็ต ในหัวข้อ “ร่วมก้าวข้าม 8 ทศวรรษแห่งความเสดสา สู่การพัฒนาระบขนส่งสาธารณะไร้รอยต่อภูเก็ต” ณ ห้องประชุม ชั้น 3 คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยมีนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เป้าหมายการทำขนส่งสาธารณะในจังหวัดภูเก็ต” โดยระบุว่า จังหวัดภูเก็ตมีเป้าหมายในการจัดบริการขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ประชาชน จะเริ่มให้บริการได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนใน 3 เส้นทางด้วยรถโดยสารไฟฟ้า (EV จำนวน 18 คัน ผ่านโรงเรียนและแหล่งชุมชนที่จะมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 30,000 คน ได้ใช้บริการฟรี
ขณะที่สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คุณภาพชีวิตคนภูเก็ตกับระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน” โดยได้ย้ำถึงสิทธิของคนภูเก็ตในฐานะผู้บริโภคที่ต้องมีสิทธิได้รับบริการขนส่งสาธารณะที่ดี ทุกคนในสามอำเภอสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้โดยมีค่าโดยสารรวมไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ที่สำคัญในแต่ละจังหวัดควรทำให้ประชาชนสามารถเดินเพียง 500 เมตรก็สามารถเข้าถึงบริการรถโดยสารสาธารณะได้ นอกจากนี้ ควรทำให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และต้องทำให้ค่าใช้จ่ายไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค
นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคาดหวัง แนวทางการมีส่วนร่วม และทิศทางพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนภูเก็ตอย่างแท้จริง