สภาผู้บริโภค นักวิชาการ และนักกฎหมาย เรียกร้องหน่วยงานรัฐออกมาตรการกำกับดูแลปัญหาผู้บริโภคยุคออนไลน์ ป้องกันปัญหาผู้บริโภคถูกหลอก ตกหลุมข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลเกินจริง หรือข้อมูลปลอม
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา “จุดเปลี่ยนยุคดิจิทัล… ความท้าทายงานคุ้มครองผู้บริโภคไทย” เพื่อนำเสนอปัญหาและแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในยุคที่สื่อออนไลน์มีผลกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายออนไลน์ โฆษณาออนไลน์ สุขภาพออนไลน์ ทำสัญญาออนไลน์ และเทคโนโลยีที่จะมาคุ้มครองผู้บริโภคในโลกออนไลน์
โดยสรุปในเวทีข้างต้น นักวิชาการ นักกฎหมาย และภาคประชาชนมองว่า ‘เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม’ ที่สามารถช่วยกรองข้อมูลให้แก่ผู้บริโภค แต่อีกทางก็อาจถูกมิจฉาชีพใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ดี อย่างไรก็ตามข้อมูลในยุคดิจิทัลมีอยู่จำนวนมาก ทั้งที่เป็นประโยชน์หรือเป็นข้อมูลปลอมปะปนอยู่ จนทำให้ปัจจุบันเกิดอาการที่เรียกว่า ‘ข้อมูลล้น’ ซึ่งหากผู้บริโภคส่งต่อข้อมูลโดยไม่ได้ไตร่ตรองจากความเร่งรีบเพื่อให้ทันกระแสหรือกลัวตกเทรนด์ อาจทำให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและอาจตกหลุมพรางของมิจฉาชีพที่อาจใช้ข้อมูลมาหลอกลวงได้ โดยเฉพาะที่ในปัจจุบันปัญหาข้อมูลสุขภาพปลอมถูกเผยแพร่อยู่เต็มโลกออนไลน์และคนไทยมีแนวโน้มที่จะแชร์ข้อมูลสุขภาพที่ผิดพลาด เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มักเข้าใจง่ายและนำไปปรับใช้ได้ทันที อาจทำให้ได้รับความเสียหายด้านร่างกายได้เช่นเดียวกัน แนะตรวจสอบแหล่งที่มาพิจารณาก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์
ขณะที่ปัญหาการโฆษณาที่มีเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายมีความเสี่ยงอยู่ในขณะนี้จากการที่เด็กไม่สามารถพิจารณาหรือไตร่ตรองว่าข้อมูลใดเป็นโฆษณาหรือเป็นข้อมูลได้ หากมีการโฆษณาที่เกินจริง เด็กมักจะหลงเชื่อได้ง่ายมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น นักวิชาการด้านกฎหมายจึงเรียกร้องบังคับใช้กฎหมายกำกับดูแลเข้มงวดเพื่อป้องกันทั้งเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ โดยทั้งผู้ปกครอง คุณครู ภาครัฐ หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเห็นความสำคัญเข้ามากำกับหรือออกมาตรการควบคุมโฆษณาเช่นในต่างประเทศ ด้านองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เผยว่า แพลตฟอร์มที่ถูกใช้หลอกลวงผู้บริโภคมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) จากที่ผู้บริโภคมักจะพบการซื้อโฆษณาของแฟนเพจปลอมที่มิจฉาชีพแอบอ้างทั้งหน่วยงานภาครัฐ หลอกให้ทำงานออนไลน์ หลอกลงทุน หรือหลอกขายสินค้าแต่ไม่ส่งสินค้าให้ และด้วยสถานการณ์ผู้บริโภคที่ต้องเจรจาเพื่อซื้อขายสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นทำให้ผลที่ตาม คือ ผู้บริโภคพบปัญหาของข้อสัญญาที่ส่วนใหญ่มักถูกออกแบบมาให้ผู้บริโภคไม่มีโอกาสต่อรองและมีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสัญญาควรมีความง่ายต่อการทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยงภาษาที่ซับซ้อนที่ผู้บริโภคอาจเข้าใจได้ยาก
‘ข้อมูลล้น’ ทำผู้บริโภคเสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
ผศ.ดร.ปกป้อง ส่องเมือง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะทำให้เรามีโอกาสมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ก็ยากต่อการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อมูลล้น’ (Information Overflow) ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจ หรือคิดวิเคราะห์ได้ทัน ประกอบอีกอาการหนึ่งที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) หรือการกลัวตกเทรนด์ ไม่ทันกระแส ทำให้มีการส่งต่อข้อมูลโดยไม่ได้รับการไตร่ตรอง
“ผู้ที่ส่งข้อมูล หลายครั้งใช้อารณ์เป็นตัวตัดสินใจในการส่งข้อมูล เช่น น่าสนใจ ของมันต้องมี น่าสงสาร รู้สึกว่าเป็นเรื่องอันตราย ซึ่งเป็นสิ่งที่เร่งให้เราส่งและเสพข้อมูลโดยขาดการกลั่นกรอง โลกทุกวันนี้ก็จะอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น และขยันตรวจสอบย้อนกลับเพื่อเช็กข้อมูล ถ้าเราไม่รู้ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง ให้คิดไว้ก่อนว่าไม่จริง แล้วค่อยไปตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ หากต้องการจะส่งต่อ” ผศ.ดร.ปกป้อง ระบุ
ผศ.ดร.ปกป้อง กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้เหมือนจะเป็นฮีโร่ แต่ก็ในอีกทางหนึ่งก็เปรียบเสมือนผู้ต้องหา เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันบนมือถือจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยกลั่นกรองข้อความ (SMS) ที่เป็นสแปม ในอีเมลก็จะมีฟิลเตอร์ที่ช่วยกรอง แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้แพทเทิร์นในการส่งอีเมลเสมือนจริงยิ่งขึ้น ฟิลเตอร์อัตโนมัติไม่สามารถตรวจจับได้
อีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีที่เป็นดาบ 2 คม คือแชตจีพีที (Chat GPT) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ฟรีเพื่อสร้างข้อความ รูป วิดีโอ หรือเนื้อหาที่เป็นดิจิทัลต่าง ๆ และนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ ส่งต่อและเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง ในทางกลับกันก็สามารถสร้างโค้ด หรือเป็นเครื่องมือให้แฮกเกอร์ใช้เพื่อโจมตีหน่วยงานหรือบุคคลได้
อีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการถูกแฮกข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตคือเรื่องความผิดทางกฎหมาย เช่น กรณีที่อีเมลของเรายืนยันตัวตนแล้วและถูกแฮกไปใช้ในการส่งสแปม ก็จะถือว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือใช้ในการเอาไปหลอกลวงต่อก็จะมีความผิดเรื่องหลอกลวง ถึงแม้เจ้าของอีเมลจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนใช้ ณ เวลานั้น แต่ก็ต้องไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ แนะนำว่าควรเปิดระบบยืนยันตัวตนแบบสองชั้น หรือ Two-Factor Authentication ในแพลตฟอร์มที่มีให้ใช้ เช่น เอ้าท์ลุก (Outlook) จีเมล (Gmail) เฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อป้องกันการแฮกข้อมูล
กว่า 50% ของข้อมูลสุขภาพในออนไลน์เป็นข้อมูลปลอม
ส่วนด้านสุขภาพในโลกออนไลน์ที่น่ากังวลคือเรื่องของข้อมูลสุขภาพที่ถูกบิดเบือนและส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ ซึ่ง พันตรีหญิง ดร.สุวีณา เบาะเปลี่ยน อาจารย์วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก ให้ข้อมูลว่า ลักษณะข้อมูลทางสุขภาพที่เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์มีหลากหลายช่องทาง เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก (Facebook) เอ็กซ์ (X/Twitter) เว็บไซต์ต่าง ๆ มีทั้งที่เชื่อถือได้และไม่ได้ จากการศึกษาพบว่ามีข้อมูลปลอม มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่บิดเบือนเพียงบางส่วน และบิดเบือนทั้งหมด อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นข้อมูลที่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มคนจำนวนมากและกว้างขวาง ทำให้คนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องสุขภาพ หรือคนที่มีปัญหาสุขภาพมักตกเป็นเหยื่อข้อมูลเหล่านั้น
เนื่องจากข่าวปลอมในเรื่องสุขภาพ มักเป็นข้อมูลที่มีลักษณะเนื้อหาง่ายต่อการเข้าถึง และมุ่งให้นำไปปรับพฤติกรรมของตัวเอง เพิ่มความเสี่ยงในการได้รับข้อมูลที่บิดเบือน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากขึ้น ซึ่งคนไทยมีแนวโน้มที่จะแชร์ข้อมูลสุขภาพเหล่านี้
อีกทั้ง ยังมีข้อมูลการร้องเรียนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอีเอส) พบว่า ข่าวปลอมที่พบมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพเยอะที่สุด ซึ่งที่ผ่าน ๆ มาในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่เคยตกอันดับหนึ่งหรือสองของอันดับข่าวปลอม ทำให้เห็นว่าทุกคนให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่โดยเฉพาะสุขภาพ
ดังนั้น เพื่อป้องกับปัญหาเหล่านี้ ควรให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนให้มีความรู้ การคิด และวิเคราะห์ ได้ ด้วยการสร้าง Health literacy หรือการมีกระบวนการทางปัญญาและทักษะทางสังคม ที่จะทำให้เข้าใจ เข้าถึงการใช้ข้อมูล หรือข่าวสารต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาใช้ติดสินใจทางสุขภาพที่ดี เพื่อลดความเสียงจากข้อมูลที่บิดเบือน
“เมื่อเราได้ข้อมูลสุขภาพมา สิ่งแรกที่ต้องคิด คือ แหล่งที่มาจากที่ไหน ข้อมูลเชื่อถือได้ไหม ไม่เชื่อเฉพาะประโยชน์ที่บอก แต่ต้องดูว่ามีข้อเสียหรือผลกระทบต่อร่างกาย และตั้งคำถามถึงผลข้างเคียง ยกตัวอย่าง กรณีข่าวการกินต้มพุทราจีนหรือน้ำกระเจี๊ยบ ช่วยทำให้ปลอดภัยจากโรคหลอดเลือด แต่ไม่ได้บอกวิธีว่ากินอย่างไร ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประชาชนไม่ได้หาหมอ หรือปฏิบัติผิดวิธีและเกิดผลเสียตามมา” พันตรีหญิง ดร.สุวีณา กล่าวเสริม
นอกจากนี้ พันตรีหญิง ดร.สุวีณา ได้เสนอการป้องกันข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยต้องตรวจสอบวันที่แชร์ เพราะข่าวปลอมจะมีการลำดับที่ไม่สมเหตุสมผล แหล่งข้อมูล คำโฆษณาชวนเชื่อ การใช้คำที่รุนแรง การสะกดคำ การใช้คำไม่สมเหตุสมผล รวมถึงรูปภาพหรือวีดีโอที่นำมาประกอบอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการสื่อ นอกจากนี้การสื่อสารของผู้ที่จะสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ต้องใช้คำที่ง่ายต่อการเข้าใจ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้รับสารเพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจข้อมูลที่ต้อง และในส่วนของผู้รับสารหากเกิดความสงสัยด้านสุขภาพ ควรซักถามกับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง และต้องเสพสื่ออย่างมีสติ และตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอทิ้งท้ายว่า ควรมีระบบคุ้มครองการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพ รวมถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพ และสนับสนุนให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นและเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจต้องปรับที่นโยบายภาครัฐต่อไป
แพลตฟอร์มที่ถูกใช้เป็นช่องทางหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook)
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคจัดตั้งขึ้นในช่วงปี 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ปัญหาที่สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคขณะนั้นจึงเป็นประเด็นผู้ประกอบการผิดสัญญาและสัญญาไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางออนไลน์ อาทิ การซื้อขายออนไลน์แต่ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง ซื้อประกันโควิดแต่ไม่สามารถเคลมประกันได้ ธุรกิจบันเทิงที่มีการจัดงานแต่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เป็นต้น
ส่วนในปีที่ผ่านและปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นปีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการถูกหลอก ถูกโกงจากกลลวงของมิจฉาชีพที่ใช้ช่องโหว่ของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาหลอกลวงผู้บริโภค โดยจากข้อมูลเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภค พบว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้บริโภคถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) จากประเด็นการสั่งสินค้าผ่านร้านค้าที่มีตัวตนจริงเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่กลับไม่ส่งสินค้าให้ผู้บริโภคตามที่สั่ง ติดต่อไม่ได้ และถูกบล็อก ส่วนอีกรูปแบบคือแฟนเพจปลอมของมิจฉาชีพที่แอบอ้างร้านค้าหรือหน่วยงานต่าง ๆ สร้างมาหลอกลวงผู้บริโภค โดยทั้งสองรูปแบบมีการใช้ช่องทางการโฆษณาของเฟซบุ๊กมาหลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะการซื้อโฆษณาเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคเห็นคอนเทนต์ของมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงจัดทำข้อเสนอถึงสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ให้เฟซบุ๊กต้องจดแจ้งแพลทฟอร์มดิจิทัลตาม พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และมีการตรวจสอบและจัดการแก้ไขกับปัญหามิจฉาชีพระบาดหนักบนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊ก โดยหนึ่งในข้อเสนอมีการเสนอให้เฟซบุ๊กไม่ควรเป็นพื้นที่ขายสินค้า แต่ควรมีการขายบนตลาดออนไลน์ (E – Marketplace) เท่านั้น แต่หากมีการขายสินค้า เฟซบุ๊กจำเป็นต้องมีระบบคนกลางในการถือเงินของลูกค้าไว้ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อลูกค้ากดยินยอมรับสินค้า เงินจำนวนนั้นจึงจะถูกโอนไปถึงร้านค้า (Escrow Payment) ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ใช้ทั่วไปในแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ อย่างเช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า
นอกจากนี้ควรมีการให้ร้านค้าต้องยืนยันตัวตนผู้ขายเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลและสามารถติดตามร้านค้าได้หากได้รับความเสียหาย อีกทั้งหากลูกค้าได้รับความเสียหายแต่ร้านค้าไม่ผิดชอบ แพลทฟอร์มที่เป็นตัวกลางเปิดพื้นที่ขายสินค้าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบแทนหรือรับผิดชอบร่วมด้วย
ทั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองฯ สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภค ตั้งแต่การรับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำ เจรจาไกล่เกลี่ย จนถึงการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค ผ่านช่องทางร้องเรียนที่ครบ จบ ในที่เดียว (One-stop Service) โดยจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมโดยเร็ว นอกจากการรับเรื่องร้องเรียน สภาผู้บริโภคมีการทำงานเชิงรุก เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยสินค้าและบริการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลเพียงพอ
รวมถึงการจัดทำข้อเสนอนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน หรือพรรคการเมืองเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น และมีการสนับสนุนการรวมตัวของผู้บริโภคหรือการส่งเสริมให้ผู้บริโภคออกมาใช้สิทธิผู้บริโภคในการร้องเรียน โดยมีสภาผู้บริโภคให้คำปรึกษาและเคียงข้างเหมือนเพื่อ(น)ผู้บริโภค
ในช่วงที่ผ่านสภาผู้บริโภคและกระทรวงเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ได้ผลักดันนโยบาย “เปิดก่อนจ่าย” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปิดสินค้าก่อนจ่ายเงิน ช่วยลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพยุคออนไลน์จากการได้รับสินค้าไม่ตรงปก และภายในเดือนนี้หลังจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นำไปผลักดันต่อจะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
ปัญหาผู้บริโภคถูกเอาเปรียบด้านสัญญาไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น
ดร.กฤษดา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การร้องเรียนผู้บริโภคด้านสัญญา จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในปี 2562 – 2565 พบข้อร้องเรียนเรื่องสัญญาในส่วนกลางมีแนวโน้มลดลง แต่ในขณะที่ข้อร้องเรียนส่วนภูมิภาคกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจากตัวเลขสถิติที่กําลังขยับตัวสูง เป็นสัญญาณที่ไม่ดีในเรื่องของการคุ้มครองด้านสัญญาในส่วนภูมิภาค
ดร.กฤษดา ได้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานในเรื่องการทำสัญญา เพราะเรื่องสัญญาเป็นสิ่งที่ทุกคนพบเจออยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขาย สั่งอาหารออนไลน์หรือว่าแม้กระทั่งในวันนี้นั่งรถโดยสารสาธารณะมาหรือขับรถยนต์มาทุกอย่างทุกกิจกรรมที่ทำ ถูกผูกโยงกับเรื่องของการทำสัญญาทั้งสิ้น
หลักการแรก คือ หลักเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom of Contract) หัวใจสำคัญของหลักนี้คือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน สามารถพูดคุยต่อรองกันได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน แต่ในปัจจุบันนี้ อย่างที่ทราบกันว่าจะเป็นสัญญาสําเร็จรูป ในฐานะผู้บริโภคแทบจะไม่มีโอกาสในการต่อรองสัญญา ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือขอเจรจา จนกระทั่งได้ความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการเซ็นสัญญาตามข้อสัญญาที่ถูกออกแบบมาโดยตัวผู้ประกอบธุรกิจ แต่โดยหลักของเสรีภาพในการทำสัญญาต้องสามารถที่จะขอต่อรองเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาจนกระทั่งมาถึงจุดที่มีความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
ในเรื่องของการทำสัญญาทางออนไลน์ ผู้บริโภคยิ่งไม่มีสิทธิในการต่อรอง ดร.กฤษดาได้ยกตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ คือ แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียในเครื่องโทรศัพท์ เวลาที่จะเปิดใช้บริการหรือสมัครแอคเคาท์ ที่แอปฯจะมีข้อสัญญาต่าง ๆ ให้อ่านแต่ไม่สามารถที่จะขอเจรจาเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาได้ มีสิทธิ์ได้เพียงดาวน์โหลดแอปฯ และกดยอมรับเพื่อเข้าใช้บริการแค่นั้นเอง
หลักการต่อมา คือ หลักการผู้ซื้อต้องระวัง (Caveat Emptor) คือ ผู้ซื้อจะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับมอบสินค้า จะต้องตรวจดูสินค้าให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าไม่มีความชํารุดบกพร่อง ซึ่งการจะดูว่าสินค้าที่ซื้อมามีความบกพร่องที่เห็นประจักษ์อยู่หรือไม่ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าตัวผู้ซื้อกับตัวผู้ขายตัวผู้บริโภคกับตัวผู้ประกอบการมีความรู้ในตัวสินค้านั้นเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน
“หากเราจะซื้อหนังสือเราก็สามารถตรวจสอบได้ว่าหน้าปก ตัวกระดาษมีตำหนิหรือไม่ เราสามารถใช้ความระมัดระวังในขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคเนี่ยในการตรวจสอบสินค้าตรงนั้นก่อนได้ แต่หากเราจะซื้อโทรศัพท์ มีใครสอบถามลงลึกถึงสเปกเครื่องหรือไม่ ถ้ามีปัญหาอุปกรณ์ข้างในใช้ซีพียูไหนในการอ่านข้อมูล ซึ่งความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคคือมีเพียงแค่ว่ากล้องถ่ายชัดหรือไม่ เสียงโทรศัพท์ชัดหรือไม่เท่านั้น ในปัจจุบันนี้หลักเกณฑ์นี้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ในเรื่องของผู้ซื้อต้องระวังอย่างเดียวแต่เรากําลังเปลี่ยนเป็นว่าตัวผู้ขายหรือตัวผู้ประกอบ ก็มีหน้าที่จะต้องช่วยผู้บริโภคในการระมัดระวังในการซื้อสินค้าด้วย” ดร.กฤษดา ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องมีหน้าที่ในการระมัดระวังเรื่องของคุณภาพสินค้า การผลิตสินค้าร่วมด้วย ซึ่งจะนํามาสู่กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค คือกฎหมายว่าด้วยความรับผิดอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และทิศทางในอนาคตไม่ใช่เพียงผู้ซื้อผู้ขายที่ต้องระวัง แต่ต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เป็นตัวกลางในการทำสัญญา ที่ต้องเข้ามาร่วมด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้าน ซื้อขายออนไลน์ การโฆษณาออนไลน์ ข้อมูลสุขภาพออนไลน์ สิ่งเหล่านั้นล้วนอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหมด
และหลักสุดท้าย หลักความง่ายต่อการทำความเข้าใจ (Plain and Intelligible) หลักนี้หมายความว่าในการทำสัญญาจะต้องใช้ถ้อยคําที่ง่าย เป็นพื้นฐานใครก็สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ ต้องหลีกเลี่ยงภาษาทางการภาษากฎหมายรวมถึงการใช้ภาษาต่างประเทศที่ผู้บริโภคบางท่านอาจจะไม่เข้าใจ ได้ยกตัวอย่าง สัญญากู้ยืม เวลาทำสัญญาจะมีดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ผู้บริโภคทุกคนจะทราบหรือไม่ ว่าดอกเบี้ยเหล่านั้นคืออะไร จะเกิดผลอะไรหากดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเอกสารอะไรบางอย่างที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วจะส่งผลผูกพันทางกฎหมายอย่างไร
ทั้งนี้ เพื่อการออกแบบสัญญาที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ดี คือสัญญาจะต้องง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่ใช่แค่เพียงต้องสั้นแต่ขอให้ง่ายและสามารถอ่านทำความเข้าใจด้วยตัวเองได้ อีกประเด็นหนึ่งคือในเรื่องของการขาดผู้ที่มีหน้าที่ในการช่วยตรวจสอบหรือให้คำปรึกษาในการทำสัญญา
“เวลาเราจะเซ็นสัญญา ถ้าเราไม่ได้มีความรู้ทางด้านกฎหมาย จึงควรจะต้องมีใครสักคนที่เป็นพี่เลี้ยงให้เรา ในการที่จะช่วยดูว่าสัญญาตัวนี้เอาเปรียบเราหรือไม่ เราสามารถที่จะเจรจาต่อรองเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาตรงไหนได้บ้าง แต่ในปัจจุบันยังไม่มีอย่างเช่นในส่วนกลางยังมีปัญหา แล้วสำหรับภูมิภาคตามต่างหวัดเวลาที่คุณลุงคุณป้าจะไปเซ็นสัญญากู้บ้านอะไรก็ตาม มีใครให้คำแนะนําหรือไม่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาด้านสัญญาในภูมิภาคมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางสภาผู้บริโภคมีภาคีเครือข่ายในต่างจังหวัด เพราะมันทำให้ผมรู้สึกว่าในต่างจังหวัดไม่ได้โดนทอดทิ้ง และภาคีเหล่านี้จะเป็นกําลังสำคัญในการช่วยทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคส่วนภูมิภาคดีขึ้น” ดร.กฤษดา กล่าวทิ้งท้าย
คุมโฆษณา บังคับใช้ กม.คุ้มครองเด็กจากสื่อโฆษณา
ปัจจุบันเด็กทั่วโลกต้องเผชิญกับการโฆษณาในปริมาณมาก โดยเฉพาะในช่องทางดิจิทัล ซึ่งทำให้เด็กที่ยังไม่สามารถพิจารณาหรือไตร่ตรองได้ว่าอะไรเป็นโฆษณาหรือข้อมูลอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่เกินจริงหรือละเมิดกฎหมายได้ ด้าน ผศ.ดร.เกวลิน ต่อปัญญาชาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงเสนอให้การโฆษณาที่มีกลุ่มเด็กเป็นเป้าหมายจะต้องมีการสอนและพัฒนาให้เด็กมีทักษะในการวิเคราะห์สื่อ เพื่อแยกแยะให้ออกได้ว่าเป็นโฆษณาหรือเป็นข้อมูล ผ่านการใช้เครื่องมือควบคุมเนื้อหา รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อไม่ให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือมากเกินไป และการสร้างความตระหนักในหมู่ผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทประกาศที่จะไม่ทำการโฆษณากับเด็ก
ข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากผู้ปกครอง คุณครู ภาครัฐหรือผู้ประกอบการที่ต้องให้ความสำคัญมากพอไปพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและผู้มีส่วนได้เสียทราบว่าสิ่งใดที่ควรทำ ได้แก่ 1. การโฆษณามีความชัดเจนและจริงใจ 2. การโฆษณาต้องไม่นำเสนอเนื้อหาที่ไม่หลีกเลี่ยงหรือขัดขวางการตัดสินใจของผู้ปกครอง ตัวอย่างเช่น การนำเสนอภาพของเด็กที่ผู้ปกครองไม่ซื้อสินค้าให้จนทำให้เด็กเกิดอาการเศร้าหรือร้องไห้ และ 3. การโฆษณาต้องแสดงคำเตือนและข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยของเด็ก
นอกจากนี้ ผศ.ดร.เกวลิน ได้สะท้อนถึงการกำกับดูแลโฆษณาที่มีกลุ่มเด็กเป็นเป้าหมายว่า ในไทยพบปัญหาหลายในการกำกับดูแล ได้แก่ การไม่มีมาตรการหรือกฎหมายเฉพาะแต่มีเพียงกฎหมายทั่วไปที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์มากกว่าการกำกับโฆษณา ส่วนมาตรการของสมาคมโฆษณา ระบุไว้เพียงว่า “…ไม่ทำเนื้อหาโฆษณาที่อันตรายต่อเด็ก…” ซึ่งมาตรการข้างต้นไม่ได้มีสภาพบังคับหรือแนวทางปฏิบัติที่เข้มแข็งเหมือนกับมาตรการ Children’s Advertising Review Unit (CARU) ในสหรัฐอเมริกา ทั้งยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษหรือแนวทางการลงโทษที่ชัดเจน
ขณะที่ในสหรัฐฯ มีทั้งมาตรการ CARU ซึ่งเป็นมาตรการที่เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติ โดยมีเนื้อหาที่ชัดเจน เด็กสามารถแยกออกว่าคอนเทนต์ใดเป็นโฆษณาหรือเป็นข้อมูล เนื่องจากผู้บริโภคเป็นเด็กที่อาจไม่สามารถไตร่ตรองได้ด้วยตัวเองจึงต้องทำโฆษณาที่เด็กเข้าใจได้และเป็นโฆษณาที่ไม่ทำให้เกิดพัฒนาการด้านสุขภาพที่แย่ลง โดยแม้มาตรการนี้จะไม่ได้มีสภาพบังคับแต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในสหรัฐมีการปฏิบัติตาม อีกทั้งสหรัฐฯ ยังมีคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (FTC) ที่มีสิทธิเข้ามาดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งในเรื่องของการโฆษณามีการกำกับดูแลที่คล้ายคลึงกับมาตรการ CARU
ส่วนประเทศเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะการควบคุมในประเด็นด้านอาหารที่มักมีผู้ประกอบการละเมิดและมีการโฆษณาว่าพลังงานสูง แต่กลับมีคุณค่าโภชนาการต่ำ ดังนั้น หากหน่วยงานกำกับดูแลในไทยสามารถกำกับดูแลเนื้อหาด้านการโฆษณาที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กหรือสามารถบังคับใช้ ออกเป็นแนวปฏิบัติได้อย่างแท้จริงคาดว่าจะทำให้กลุ่มเด็กเท่าทันกับปัญหาและไม่ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาผิดกฎหมายหรือเกินจริงได้