เหตุผลหนึ่งที่ผู้บริโภคหลายคนเมื่อมีอาการป่วยมักซื้อยาหรือสมุนไพรในช่องทางออนไลน์มารับประทาน เพราะมักจะคิดว่าตัวเองอาการไม่หนักมากซื้อยาเองประหยัดเวลาและเงินทองกว่าไปโรงพยาบาล แต่หลายรายพบว่าการซื้อ‘สมุนไพรมารักษาตัวเอง สุดท้ายต้องป่วยด้วย ‘โรคตับอักเสบ’
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์เตือนภัยและเตือนใจผู้บริโภคที่กำลังมองหายาสมุนไพร หรือยาทางเลือกอื่นๆ เช่นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (อาหารเสริม) มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ที่ท้ายสุดก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง
ผู้บริโภครายหนึ่งได้เล่าประสบการณ์ตนเองว่า หลังจากตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่มีผลออกมาว่าตนเองมีอาการความดันสูง แต่ด้วยความชะล่าใจคิดว่าอาการดังกล่าวไม่หนักหนา ที่หาทางเลือกรักษาตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่อาจจำเป็นต้องลางานทั้งวัน จึงค้นหาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อ้างว่าช่วยลดความดันในอินเทอร์เน็ต จนในที่สุดได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีส่วนผสมของเห็ดหลินจือ และเจียวกู้หลานที่อ้างว่าสามารถลดความดันโลหิตได้ มารับประทานไปเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน
ต่อมาช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ตนเองได้สังเกตว่า สีปัสสาวะมีสีเข้มขึ้น เริ่มมีอาการเบื่ออาหาร แม้ว่าจะซื้ออาหารที่ชอบมาทาน ก็ไม่มีความรู้สึกอยากรับประทาน น้ำหนักตัวลดลงเกือบ 10 กิโลกรัมภายใน 2 สัปดาห์ กระทั่งมีอาการตาเหลืองและตัวเหลือง จึงได้ไปพบแพทย์
“ตอนที่พบว่าปัสสาวะมีสีเข้มตอนนั้นก็ยังไม่คิดอะไรมาก คิดว่าเพราะเราดื่มน้ำน้อย ต่อมาเริ่มเบื่ออาหารก็คิดว่าตัวเองเครียดจากงานเลยทำให้เป็นโรคเครียดลงกระเพาะ จนเริ่มนอนไม่ค่อยหลับ น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ จึงได้ไปหาซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยให้นอนหลับมากินอีก” ผู้บริโภคเล่าถึงอาการที่เกิดขึ้น
หลังไปพบแพทย์จึงได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคตับอักเสบ แพทย์โรคทางเดินอาหารและตับวินิจฉัยว่า อาจมาจากการรับประทานอาหารเสริมสมุนไพรในปริมาณที่มากเกินไปหรือต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จึงส่งผลเสียกับตับ ขณะนั้นต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 วัน โดยเบื้องต้นหลังจากได้รับประทานยาที่แพทย์สั่งตามอาการที่เป็นนั้น เริ่มมีอาการดีขึ้น สีปัสสาวะเป็นปกติ และไม่มีอาการเบื่ออาหาร
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผู้บริโภครายดังกล่าวจึงอยากฝากถึงผู้บริโภคหลายๆ คนที่กำลังหาอาหารเสริมหรือสมุนไพรมาทานเพื่อรักษาตัวเองให้หยุดความคิดที่จะซื้อยาหรือสมุนไพรโดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน นอกจากนี้ควรรับประทานยาในปริมาณตามแพทย์สั่ง ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น โรคประจำตัว น้ำหนัก ประวัติแพ้ยา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินและสูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องและอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย
“ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง เราจึงอยากเล่าเป็นอุทาหรณ์เตือนคนอื่น ๆ เพราะปัจจุบันทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น เมื่อไม่สบายก็ไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตหรือเชื่อตามคนที่มาแนะนำในติ๊กต็อก (TikTok) ว่ากินอันนี้แล้วจะหายหรือแนะนำให้กินอะไรแปลก ๆ พอเราเชื่อมันอาจทำให้เราได้รับการรักษาที่ผิด หรือพลาดโอกาสการรักษาที่ถูกต้องไป อีกอย่างเมื่อลองมาคำนวณถึงค่าสมุนไพรที่จ่ายไปก็ราคารวมไม่น้อยเลย ตอนนี้เราก็คิดว่าเราโชคดีที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทัน เพราะถ้าเรายังกินต่อไปเรื่อย ๆ แล้วไม่มีอาการแสดง มารู้ตัวอีกทีเป็นแบบเฉียบพลัน เราอาจไม่มีโอกาสมาเล่าให้ฟังในวันนี้ก็ได้” ผู้บริโภครายนี้เล่าด้วยน้ำเสียงเศร้าใจ
“การบริโภคสิ่ง ๆ หนึ่งที่มากเกินไปโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้มากพอหรือไม่ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพได้” ดังนั้น หากมีอาการหรือพบความผิดปกติของร่างกาย แนะนำผู้บริโภคปรึกษาแพทย์หรือในเบื้องต้นสอบถามกับเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมมารับประทานเพราะคิดว่าจะสามารถรักษาร่างกายของเราได้ เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นสารตกค้างในร่างกาย ทำลายตับ และชีวิตได้
สุดท้ายนี้ สภาผู้บริโภคฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่ออาหารเสริมสมุนไพรที่โฆษณาเกินจริง อวดสรรพคุณรักษาโรคได้มากมาย โดยเฉพาะอาหารเสริมที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะอาจได้รับยาที่มีส่วนผสมของสารอันตรายที่ผิดกฎหมายหรือห้ามใช้ไปแล้ว ซึ่งอาจทำให้ผลข้างเคียงและเป็นอันตรายกับร่างกาย ดังนั้น ขอแนะนำผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารเสริมและยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตถูกต้อง ที่สำคัญควรตรวจสอบฉลากยา โดยฉลากต้องระบุชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา หากพบการจำหน่ายยา อาหารเสริม หรืออาหารที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย แจ้งเบาะแสไปได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสภาผู้บริโภค 1502 (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.) ร้องเรียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ tcc.or.th