หารือ สกมช. เดินหน้าเต็มสูบ สกัดกั้นภัยไซเบอร์

สภาผู้บริโภค เดินหน้าจัดการปัญหาภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ร่วมกับ สกมช. พร้อมหารือแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับแพลทฟอร์มออนไลน์ที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

หลังสภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หารือความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคในการจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ที่มิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงผู้บริโภคจนทำให้เกิดผลกระทบตั้งแต่ผลกระทบกับผู้บริโภค เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาล เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 สภาผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินคดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ทั้งนี้ ในการหารือความร่วมมือข้างต้น มีนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ สภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค ร่วมหารือกับ พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Thai Ncert) และเจ้าหน้าที่ สกมช. เข้าร่วม

สืบเนื่องจากการหารือคราวก่อนที่สภาผู้บริโภคได้นำเสนอถึงความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยสรุปได้ว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคพบช่วงเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่าน ได้แก่ 1.ปัญหาถูกฉ้อโกง หลอกลวงจากการสั่งซื้อสินค้าบนแพลทฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้ 2. เมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้าไปแล้วแต่ได้รับสินค้าหรือบริการไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ 3. ถูกหลอกลวงจากการสร้างเฟซบุ๊กเพจ (Facebook Fanpage) ปลอมหรือมีการชักชวนให้ทำงานหรือลงทุน และ 4. ถูกหลอกลวงจากเฟซบุ๊กเพจปลอมที่แอบอ้างเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมถึงร้านค้าชื่อดัง ซึ่งบางเพจมีการยืนยันตัวตน (Verified Page) กับเฟซบุ๊กแล้ว

โดยสภาผู้บริโภคได้ดำเนินการรับข้อร้องเรียน ประสานร้านค้าเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค และนำข้อมูลเกี่ยวกับร้านค้าหรือสินค้าที่หลอกลวงหรือละเมิดสิทธิผู้บริโภคมาแจ้งเตือนภัย พร้อมกับให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงวิธีการตรวจสอบเฟซบุ๊กเพจ อีกทั้งการประสานความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียในการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้บริการบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้สภาผู้บริโภคได้นำเสนอปัญหาจากการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและแพลทฟอร์มออนไลน์ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะการปิดกั้นบัญชีที่หลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งพบว่ายังพบข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการปิดเพจหลอกลวงที่ใช้ระยะเวลานานจนทำให้มีผู้บริโภคถูกหลอกลวง หรือการที่มิจฉาชีพยังคงสามารถโฆษณาเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค รวมถึงการได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหารือแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับแพลทฟอร์มที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสภาผู้บริโภค จะมีการพัฒนาความร่วมมือกับ สกมช. ในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยทุจริตทางการเงิน ทั้งการให้ความรู้ การจัดอบรมองค์กรสมาชิกของสภาผู้บริโภคให้มีความเท่าทันภัยไซเบอร์จนสามารถนำความรู้และข้อมูลไปใช้ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของสำนักปฏิบัติการจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Thai Ncert) พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ระบุว่า ปัจจุบันได้มีการทำงานร่วมกับแพลทฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้ปิดกั้นหรือนำออกจากระบบเมื่อเฝ้าระวังและพบว่าโซเชียลมีเดียเหล่านั้นมีความเสี่ยงและทำให้มีผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ซึ่งรูปแบบที่กล่าวไปข้างต้นนั้นมีทั้งส่วนที่แพลทฟอร์มให้ความร่วมมือนำออกจากระบบโดยทันที ได้แก่ หลอกลงทุนออนไลน์ หลอกแจ้งความออนไลน์ ขณะที่การหลอกลวงประเภทอื่น ๆ ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่คาดหวัง สกมช. จึงได้หาช่องทางและแนวทางอื่น ๆ เพื่อจัดการปัญหาภัยไซเบอร์เหล่านี้

ในส่วนของข้อจำกัดของสภาผู้บริโภคที่กล่าวมาข้างต้น สกมช. พร้อมรับเป็นช่องทางของหน่วยงานภาครัฐในการประสานงานเพื่อช่วยสืบสวนและดำเนินการจัดการหรือแก้ไขกับการเปิดเพจเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะข้อมูลการหลอกลงทุน หรือการหลอกลวงอื่น ๆ  รวมถึงการทำงานประสานกันเพื่อจัดการกับปัญหาภัยอาชญากรรมทางไซเบอร์ร่วมกับสภาผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการจาก Thai Ncert ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า หากผู้บริโภคเกิดข้อสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กเพจใดเป็นของจริงหรือไม่ สามารถสอบถามโดยตรงผ่านอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ThaiCert (https://www.facebook.com/thaicert) นอกจากนี้ หากต้องการร่วมรายงานโซเชียลมีเดียที่เข้าข่ายหลอกลวง สามารถส่งข้อมูลโดยการแนบภาพบันทึกหน้าจอ ลิงก์ URL และหลักฐานอื่น ๆ ได้ที่อีเมล [email protected] โทรศัพท์ 02 114 3531 หรือไลน์ทางการ @ncert_ncsa

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค