สภาผู้บริโภคเตรียมยื่นหนังสือถึง กสทช. กรณีเน็ตทรูล่มกว่า 5 ชั่วโมง แต่ไร้มาตรการเยียวยา ไม่ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น พบผู้บริโภคจำนวนมากได้รับผลกระทบ สูญเสียเวลาและเสียเงินซื้อแพ็คเกจเสริมเพิ่ม
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 มีผู้บริโภคออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของค่ายมือถือทรู ที่ไม่สามารถใช้บริการได้ในช่วงเวลาประมาณตี 2 ถึง 7 โมงเช้า และทำให้ผู้บริโภคหลายรายได้รับผลกระทบ เช่น การซื้อแพ็กเกจเสริมเนื่องจากไม่ทราบว่าสัญญาณเน็ตมีปัญหา นอกจากนั้น ยังเกิดปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องตอบข้อความลูกค้า ส่งงาน หรือการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ก็ทำไม่ได้ ทำให้เกิดการสูญเสียเวลาและโอกาสในธุรกิจต่าง ๆ
แต่ปัจจุบันค่ายทรูยังไม่มีการออกแถลงหรือชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ หรือการออกมาตรการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคแต่อย่างใด ในประเด็นนี้ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคจะทำหนังสือเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เชิญผู้ประกอบการชี้แจงและตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร รวมถึงขอให้มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมสำหรับผู้ใช้บริการทุกคน ส่วนกรณีที่มีความเสียหายเฉพาะอาจจะต้องพิจารณามาตรการเยียวยาเป็นรายกรณีไป
“ปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ผู้ให้บริการควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการแถลงอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใสต่อสาธารณะว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น เกิดปัญหาตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง และตอนนี้มีมาตรการเยียวยาอย่างไรบ้าง” สุภิญญา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ผู้ให้บริการเครือข่ายฯ ต้องออกมาชี้แจงให้ผู้รับบริการรับทราบ แต่หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ องค์กรที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. จะต้องเข้ามาตรวจสอบโดยตรง เนื่องจากเป็นอำนาจของหน่วยงานในการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการที่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ส่วนมาตรการทางปกครอง หากเห็นว่ามีความผิดจริงแต่มีการเยียวยาอย่างไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องมีมาตรการทางปกครองในการลงโทษผู้ให้บริการเครือข่าย ซึ่งต้องไปดูขั้นตอนของ กสทช. ซึ่งอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค ได้เรียกร้องให้ กสทช. เร่งจัดการนี้และเปิดเผยให้ชัดเจนเป็นไปตามมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค
“ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสัญญาณล่มเป็นระยะ แต่เมื่อเกิดปัญหาแล้วก็หายไป ไม่มีการออกมาตรการเยียวยาใด ๆ มันควรจะต้องมีมาตรการการเยียวยา การขอโทษ หรือแม้กระทั่งการลงโทษทางปกครองที่ชัดเจนขึ้นกว่านี้ และการชี้แจงผู้ใช้บริการทำได้หลายวิธี ทั้งการออกมาส่งเอสเอ็มเอสโดยตรง ออกมาแถลงที่ชัดเจนหน้าเว็บไซต์ หน้าเพจหรือช่องทางของผู้ให้บริการ รวมทั้งการชี้แจงเป็นจดหมายทางการไปยัง กสทช. และให้ กสทช. แถลงต่อสาธารณะและสื่อมวลชน ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่เห็นการชี้แจงแต่อย่างใด” สุภิญญา กล่าว
ขณะที่เมื่อสอบถามถึงกรณีข่าวการตรวจสอบคัดกรองเบอร์โมบายแบงกิ้ง (ซิมการ์ด) ที่ผูกกับบัญชีธนาคารต้องตรงกันนั้นและปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ สุภิญญา มีความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวกระทบกับคนจำนวนมากและเป็นวงกว้าง กสทช. จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์หรือทำประกาศที่เป็นทางการเพื่อรับฟังความคิดเห็นและเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพซึ่งหากการออกข่าวที่ยังมีข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นกระบวนการตัดสินใจที่ไม่ผ่านการแสดงความเห็นรอบด้านที่เพียงพอ สุดท้ายอาจเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคมากกว่าหรือไม่ นอกจากนี้ หาก กสทช. ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้ควรจะเปิดวงเวทีสาธารณะเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมหาทางออกที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพเพียงพอ และหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกะทันหันควรต้องมีมาตรการรองรับหรือเยียวยาผลกระทบผู้บริโภคอย่างไรที่กระทบน้อยที่สุดหรือไม่ให้กระทบอย่างไร และจะต้องเป็นมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง
“อยากให้กําลังใจผู้บริโภคซึ่งไม่ค่อยมีทางเลือกมากเท่าไรนักจากผลกระทบที่ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ และทำให้เหลือผู้ให้บริการน้อยราย เมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรอง เลยทำให้เกิดปัญหาแบบนี้จนกลายเป็นความชินชา นอกจากนี้ อยากเรียกร้องภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกวุฒิสภา หรือแม้แต่รัฐบาล ให้ช่วยกันหาแนวทางเพี่อทำให้การทำงานของ กสทช. เกิดการถ่วงดุล ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการมากกว่านี้ ด้านสภาผู้บริโภคทำได้ในมุมของการส่งเสียงร้องเรียน แต่เราไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะให้โทษกับผู้ให้บริการได้ เพราะฉะนั้น คงจะต้องเรียกร้อง กสทช. มากขึ้นในการคุ้มครองผู้บริโภค” สุภิญญา กล่าวทิ้งท้าย