สภาผู้บริโภค ยื่น 4 ข้อเสนอ ต่อ รมว.สาธารณสุข แนะเพิ่มผู้แทนผู้บริโภคร่วมเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวกับบริการเสริมความงาม ติดประกาศชื่อแพทย์ที่สถานเสริมความงามเพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับผู้บริโภค จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกัน ย้ำการแก้ไขเรื่องร้องเรียนต้องพิจารณาเรื่องจริยธรรมและมาตรฐานของแพทย์เสริมความงามอย่างเคร่งครัด หวังยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงาม
วันนี้ 3 พฤษภาคม 2567 นางสาวธัญลักษณ์ อู่ทองมาก ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนด้านบริการสุขภาพในประเด็นการใช้บริการเสริมความงามอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขปัญหา เยียวยา และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างแท้จริง
สำหรับข้อเสนอนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงามมีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้มีผู้แทนจากสภาผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในทุก ๆ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งในด้านการประกันคุณภาพด้านการรักษาความงาม ทั้งด้านผิวพรรณ และด้านศัลยกรรม คณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งในด้านการพัฒนาสถานพยาบาลเสริมความงามให้มีมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค คณะกรรมการที่มีหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งสถานพยาบาลเสริมความงามทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทุกจังหวัด และสุดท้าย คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลเสริมความงามและแพทย์เสริมความงาม เนื่องจากคณะกรรมการในแต่ละชุดขาดผู้แทนผู้บริโภค
2) ขอให้ติดประกาศชื่อแพทย์ และคุณวุฒิของแพทย์ในสถานพยาบาลเสริมความงามในทุก ๆ แห่ง พร้อมรูปภาพของแพทย์ให้ผู้บริโภคมองเห็นได้อย่างชัดเจน และตรวจสอบได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้ว่าแพทย์ผู้ให้บริการมีความชำนาญเฉพาะด้านนั้นหรือไม่
3) ขอให้จัดประชุมสัมมนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านบริการเสริมความงามทั้งหมด เพื่อหาทางออกร่วมกัน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างแพทย์ผู้ให้บริการด้านความงามและผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากแพทย์เสริมความงามทั้งด้านผิวพรรณ และด้านศัลยกรรมเสริมสวย และสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านการเสริมสวย รวมทั้งเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาสถานพยาบาลและแพทย์ให้มีมาตรฐานในระดับสากล
และ 4) ขอให้พิจารณาแจ้งแพทยสภาในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคด้านเสริมความงาม โดยควรพิจารณาเรื่องจริยธรรมแพทย์ และมาตรฐานของแพทย์เสริมความงามอย่างเคร่งครัด
นางสาวธัญลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนี้คาดหวังว่าหน่วยงานจะรับข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณาและดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการเสริมความงามให้มีมาตรฐาน ทั้งนี้ หากแพทยสภาจะพิจารณาจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ด้านศัลยกรรมเสริมสวย ควรให้เป็นหน้าที่ของราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดทำ และหลักสูตรนั้นจะต้องมีระยะเวลาฝึกอบรมอย่างเหมาะสม อย่างน้อย 3 – 5 ปี และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
“หากมีการลดมาตรฐานการอบรมหลักสูตรของแพทย์เสริมความงามลง อาจเกิดความเสียหายกับผู้บริโภค และขอให้แพทยสภาคำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นธรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการแพทย์ศัลยกรรมเสริมสวยเป็นสำคัญ” นางสาวธัญลักษณ์ระบุ