ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านการเงินฯ ประจำเดือน ก.พ. 67

สภาผู้บริโภคขานรับยุทธศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำหลักสูตรแก้หนี้ภาคประชาชน

จากการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ร่วมกับรองผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธปท. พบว่า ธปท. มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ช่วงปี 2567 – 2569 มุ่งเน้นการผลักดัน 3 เรื่องหลัก คือ 1. เสริมสร้างความยืดหยุ่นทนทานแก่เศรษฐกิจ 2. ยกระดับศักยภาพขององค์กร และ 3. เปิดกว้าง เรียนรู้ รับฟัง และประสานความร่วมมือกับภายนอก ทั้งนี้ ธปท. มีแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ

1. การกำกับดูแลให้เจ้าหนี้มีความรับผิดชอบ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำกับดูแลนโยบายการบริหารจัดการด้านการให้บริการของสถาบันการเงินแก่ผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (Market Conduct (MC) โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ การกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม เท่าที่จำเป็น เพื่อสร้างวินัยและรู้จักป้องกันตนเอง  และการกำกับตรวจสอบ ให้มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้มีการตรวจสอบด้วยตัวเอง วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะปัญหาและเกิดการบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็ว

2. การส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัย ผลักดันให้คนไทยมีทักษะด้านการเงินที่เหมาะสมในชีวิตประจำวัน โดยจะผลักดันความรู้ความเท่าทันทางการเงินเข้าสู่สถานศึกษา โดยในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะผลักดันเข้าหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนระดับอุดมศึกษา จะจัดทำหลักสูตรเข้าเป็นวิชาบังคับหรือบังคับเลือก และสร้างเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลทางการเงินที่เข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์ มีเครื่องมือพร้อมใช้

3. ปัญหาหนี้ของประชาชนต้องมีทางออก มีตัวช่วย (แก้หนี้ แก้ปัญหา) เพียงพอ มีคุณภาพ โดยมีแนวทางคือ ผลักดันให้เกิดที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้ มีคนกลาง ให้เพียงพอและมีคุณภาพ โดยผ่าน หลักสูตรคนแก้หนี้ 4 ระดับ สามารถให้คำแนะนำและดูแลเรื่องร้องเรียน ให้เหมาะสมทันเวลาและมีคุณภาพ โดยให้การสนับสนุนไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นทางเเลือกเสริม

สำหรับด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ธปท.ได้จัดทำแผนกลยุทธ์การคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงินระยะ 3 ปี มีเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพทางการเงินที่ดีตลอดช่วงชีวิต โดยมีการออมเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน การออมสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ มีการซื้อใช้สินค้าบริการทางการเงินและการเป็นหนี้อย่างฉลาด ในขณะที่ผู้ให้บริการต้องให้บริการอย่างเป็นธรรม

จากแนวทางเชิงกลยุทธ์ของ ธปท. สภาผู้บริโภค จะนำไปเป็นแนวทางจัดทำหลักสูตรการแก้หนี้สินของประชาชน โดยพัฒนายกระดับองค์กรของผู้บริโภคให้สามารถเป็นที่ปรึกษาเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนแบบครบวงจร

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค