สภาผู้บริโภค จับมือศาลอาญา – แพ่ง อบรมกฎหมายอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พัฒนาทักษะหน่วยงาน – องค์กรสมาชิกเพื่อยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภค
วันที่ 18 เมษายน 2567 สภาผู้บริโภค จัดการประชุม “สร้างความเข้าใจต่อการดำเนินการเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานของสภาผู้บริโภค รวมถึงทนายความเกี่ยวกับการดำเนินคดีของแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่งซึ่งจะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานประจําจังหวัดและหน่วยงานเขตพื้นที่ของสภาผู้บริโภค ทนายความที่ขึ้นบัญชีกับสภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมด้วย
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2565 – 2567 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนมากกว่า 1,500 กรณี มูลความความเสียหายมากกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุน ปัญหาซื้อขายออนไลน์ สินค้าไม่ตรงปก ซื้อของไม่ได้ของ รวมถึงการหลอกให้รัก (Romance Scam) ซึ่งปัญหาหลักที่พบ คือเรื่องการหลอกให้โอนเงิน
การหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือการหลอกเพื่อให้ได้เงินจากผู้บริโภคหรือข้อมูลจากผู้บริโภค เพื่อนำไปใช้เข้าถึงบริการธุรกรรมทางการเงินบัญชีของผู้บริโภค หรือหลอกให้กดลิงก์ ในทางกลับกันมิจฉาชีพเองก็ใช้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในการดูดเงิน และจะสร้างบัญชีเส้นทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งธนาคารยังไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย เป็นหนี้ และธนาคารก็ต้องถูกฟ้องร้อง
“นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพราะเมื่อผู้บริโภคไปเรียกร้องความรับผิดชอบจากธนาคารก่อนมีการฟ้องร้องมักไม่ได้รับความช่วยเหลือและถูกปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคเป็นคนทำธุรกรรมด้วยตัวเอง ทั้งที่มีหลักฐานยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากมิจฉาชีพเข้าไปทําธุรกรรมไม่ใช่ตัวผู้เสียหาย” โสภณระบุ
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อเกิดสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับการเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สภาผู้บริโภคจะมีการทำสื่อเตือนภัย และให้ความรู้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เป็นต้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางจัดการปัญหาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและเยียวยา
ไกรพล อรัญรัตน์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เมื่อ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ เพื่อตอบสนองวิถีการบริโภคแบบใหม่ของผู้บริโภคกรณีซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบางครั้งมีมูลค่าความเสียหายไม่มาก หากผู้บริโภคฟ้องร้องอาจไม่คุ้มค่ากับค่าทนาย จึงนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการร้องเรียนออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถกรอกคำร้องได้ และศาลจะนัดพิจารณาคดีออนไลน์ เป็นการดำเนินการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยไม่คำนึงถึงทุนทรัพย์
ทั้งนี้ การทำคดีระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นคดีแพ่งมากกว่าคดีอาญา เนื่องจากคดีอาญาเป็นคดีที่ละเอียดอ่อน มีรายละเอียดที่มากกว่า จึงตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขึ้น ซึ่งหมายความถึงคดีอาญาที่ฟ้องลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีอาญาตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงคดีอาญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ (PDPA) และคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์ หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
ไกรพลกล่าวอีกว่า แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความไม่สอดคล้องของกฎหมายวิธีพิจารณาความกับลักษณะของอาชญากรรม โดยแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกว้างกว่า พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และหัวใจสำคัญของแผนกฯ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้อย่างมาก คือการส่งพยานหลักฐานในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาล โดยไม่ต้องปริ๊นท์เอกสารออกมาในรูปแบบกระดาษ
“เนื่องจากพยานหลักฐานในคดีทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ แต่วิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีเนื้อหาที่ระบุถึงพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อาจจะต้องปริ๊นท์เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ออกมา ซึ่งหากมีเอกสารจำนวนมากก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวก จึงตั้งแผนกนี้เพื่อแก้ปัญหาให้รองรับกับยุคสมัยมากขึ้น และหากเป็นคดีทั่ว ๆ ไป แม้ว่าจะยื่นเอกสารพยานหลักฐานออนไลน์ แต่กระบวนการอื่น ๆ ใช้การดำเนินคดีแบบปกติ มีเพียงคดีที่เป็นคำร้องมาตรการพิเศษเท่านั้นที่ดำเนินคดีแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ” ไกรพลกล่าวเสริม
สำหรับระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือ (Court Integral Online Service : CIOS) เป็นระบบที่รองรับให้กับประชาชน คู่ความ หรือทนายความ ที่เคยยื่นคำฟ้องเป็นกระดาษต่อศาลแล้วประสงค์ที่จะยื่นคำคู่ความเพิ่มเติมในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งระบบบริการของมูลคดีศาลยุติธรรม (CIOS) ได้ให้บริการหลาย ๆ ด้าน อาทิ การยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอตั้งต้นคดีใน คดีครอบครัว, การยื่น ส่ง และรับคำคู่ความและเอกสาร , การคัดถ่ายเอกสารในสำนวนคดี เพื่ออำนวยความสะดวก อำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิในกระบวนพิจารณาคดี ซึ่งประเภทไฟล์ที่ยื่นได้ตามบัญชีท้ายประกาศเอกสารหรือข้อความนั้นยื่นได้หลายประเภท แต่ขนาดไฟล์ละไม่เกิน 120 MB
นภกมล หะวานนท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกาและแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง ให้ข้อมูลว่า หลังโควิดมีการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมากขึ้น ศาลแพ่งจึงได้จัดตั้งแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งขึ้น 1 เมษายน 2567 โดยผู้บริโภคสามารถยื่นคำร้องไต่ส่วนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ หลังจากเปิดแผนกได้เพียงครึ่งเดือน มีการฟ้องร้องคดีความคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท
นภกมล อธิบายว่า แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของศาลอาญาถือเป็นด่านหน้าของการที่คุ้มครองผู้เสียหาย ส่วนแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งเป็นด่านหลังที่ช่วยตัดวงจรของผู้กระทําความผิด กล่าวคือ มุ่งไปที่องค์กรที่กระทำความผิด โดยใช้มาตรการทางแพ่ง ในการยึด อายัดทรัพย์สิน ทำให้ตกเป็นของแผ่นดิน
“กรณีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือกรณีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผู้เสียหายสามารถขอรับการเยียวยาโดยเฉลี่ยทรพย์ คือแทนที่จะทรัพย์จะตกเป็นสองแผ่นดินทั้งหมดก็มาเฉลี่ยชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งจะต้องไปยื่นกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งจะมีการกําหนดกฎเกณฑ์” นภกมลระบุ
สำหรับแผนที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคต นภกมลอธิบายว่า ปรับขั้นตอนการทํางานมีแนวทางหรือคู่มือในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นําเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศอื่นมาสนับสนุนการทํางาน เสริมสร้างบุคลากรที่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนงานของผู้พิพากษา และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงและแก้ไขข้อขัดข้องในการทํางาน
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า การฟ้องคดีเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภค ปัจจุบันสภาผู้บริโภคได้ดําเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภคจนเสร็จสิ้นได้มากกว่า 81 คดี ซึ่งเป็นไปตามอำนาจที่ระบุใน พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มาตรา 14 ใน (6) และ (7) กำหนดให้ สภาผู้บริโภคมีอำนาจในการสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาท เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งก่อนและในระหว่างการดําเนินคดีต่อศาล อีกทั้งใน รวมทั้งมีอำนาจดําเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือให้ความช่วยเหลือในการดําเนินคดี ในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดี จากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค และให้มีอํานาจประนีประนอมยอมความด้วย
“ตอนนี้เรื่องภัยออนไลน์เป็นปัญหาที่มักจะพบเจออยู่ตลอดและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปรับกรุงกฎหมาย รวมถึงความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและการนำไปใช้งานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” สุภาพร ระบุ