โควิด19 ทำทัวร์ที่จองไว้ถูกเลื่อน ผู้บริโภคสอบถามกับบริษัททัวร์มากกว่า 2 ปี แต่ไม่มีคำตอบชัดเจน สุดท้ายเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง จนได้รับการช่วยเหลือและได้เงินคืน พร้อมแนะ ผู้บริโภคมีสิทธิยกเลิกสัญญาหากไม่ได้เดินทาง และได้เงินคืนเต็มตามกฎหมายกำหนด และก่อนจองควรตรวจสอบบริษัทร่วมด้วย
เรื่องเล่าผู้บริโภคนี้เป็นของผู้บริโภคชาวลำปางที่ได้จองโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมัลดีฟส์ แบบร่วมกลุ่ม หรือการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกับผู้อื่นโดยมีบริษัทกลาง ในมูลค่าจำนวนกว่า 5 แสนบาท กับบริษัท ไอเลิฟมายมัลดีฟส์ จำกัด มีกำหนดการเดินทางวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2563 แต่ขณะนั้นด้วยสถานการณ์โควิค19 จึงทำให้การเดินทางถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดยบริษัทฯ ได้ส่งจดหมายชี้แจงเงื่อนไขการเลื่อนการเดินทางมาให้กับผู้บริโภครายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการจองที่พักและเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงการเดินทางของสายการบิน ขณะเดียวกันเมื่อส่งรายละเอียดการเลื่อนการเดินทางมาให้ ผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อกับบริษัทฯ ได้
ต่อมาเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 ผู้บริโภคได้รับการติดต่อจากบริษัทฯ อีกครั้ง จึงได้สอบถามเกี่ยวกับเวลาการเดินทางอีกครั้ง บริษัทฯ ให้คำตอบว่า กำหนดการเดินทาง คือ วันที่ 24 – 28 เมษายน 2566 โดยผู้ร่วมเดินทางเป็นรายชื่อและจำนวนเท่าเดิม แต่ตลอดระยะเวลาก่อนถึงช่วงวันเดินทางนั้น บริษัทฯ ยังไม่มีข้อมูลการเดินทางที่ชัดเจนให้ผู้บริโภคจนกระทั่งเลยกำหนดเดินทาง ซึ่งผู้บริโภคคาดว่าจะไม่ได้เดินทางแล้วอย่างแน่นอน จึงติดต่อขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดลำปาง หน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง สภาผู้บริโภค ในวันที่ 28 เมษายน 2566 เพื่อขอให้บริษัทฯ คืนเงินจองโปรแกรมท่องเที่ยว
“เวลาติดต่อไปที่บริษัทฯ เพื่อสอบถามเพิ่มเติม เราจะไม่ได้รับการตอบกลับอยู่บ่อยครั้ง หรือหากตอบกลับจะมีการบอกว่าให้รอการติดต่อกลับหรืออ้างว่าจะตอบกลับวันถัดไปบ้าง นอกจากนี้เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง จึงติดต่อไปอีกครั้ง เพราะเราต้องเดินทางจากลำปางไปขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ แจ้งว่าให้รอก่อนและจะติดต่อกลับ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ติดต่อกลับมาจนเลยวันเดินทาง เราคิดว่าจะไม่ได้ไปเที่ยวแน่นอนจึงเข้ามาร้องเรียน” ผู้บริโภคระบุเพิ่มเติม
หลังจากได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว หน่วยงานประจำจังหวัดลำปางได้ติดต่อบริษัทนำเที่ยวดังกล่าวฯ เพื่อเจรจา รวมถึงการทำเอกสารยกเลิกสัญญา ต่อมาบริษัทฯ ให้เหตุผลว่าจากสถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจขาดรายได้จึงส่งผลต่อรายได้ของบริษัทฯ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอในการบริหารจัดการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างอนุมัติการจ่ายเงินคืนให้กับผู้บริโภค ผ่านรูปแบบของการผ่อนจ่าย ซึ่งหน่วยงานประจำจังหวัดลำปางได้ติดตามกับผู้บริโภคจนได้รับเงินครบทั้ง 10 งวดและสุดท้ายผู้บริโภคได้รับเงินคืนเต็มจำนวน
เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนประจำหน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง ระบุอีกว่า นักท่องเที่ยวที่จองหรือซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวสามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาได้และมีโอกาสได้เงินคืนเต็มจำนวน ตามประกาศของกรมการท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 ที่กำหนดไว้ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีนักท่องเที่ยวถูกยกเลิกการเดินทางนำเที่ยว ผู้บริโภคสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.dot.go.th/news/inform/detail/3854
นอกจากนี้ ยังได้ฝากทิ้งท้ายเป็นข้อแนะนำผู้บริโภคว่า การซื้อหรือจองโปรแกรมท่องเที่ยวผ่านตัวแทนจำหน่ายและบริษัทนำเที่ยวควรพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ เป็นสิ่งแรกที่ รวมถึงการรีวิวของผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะรับรองความน่าเชื่อถือของบริษัทเหล่านั้นได้ และตรวจสอบบริษัทนำเที่ยวก่อนตัดสินใจจองได้ที่เว็บไซต์ https://www.tourism.go.th/news/inform/detail/6542 โดยควรจองโปรแกรมท่องเที่ยวจากบริษัทฯ ที่มีสถานะ “ปกติ” เท่านั้น ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบประวัติการร้องเรียนบริษัทนำเที่ยวกับกรมการท่องเที่ยว ได้ที่โทรศัพท์ 02 141 3171 ในวันและเวลาราชการ
อย่างไรก็ตาม ผู้ใดที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 80 ของ พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ผู้บริโภคชาวลำปางหรือจังหวัดใกล้เคียง หากพบปัญหาเกี่ยวกับการยกเลิกทัวร์ หรือได้รับปัญหาผู้บริโภคอื่น ๆ ร้องเรียนได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดลำปาง โทรศัพท์ 054 222 539 หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ‘ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดลำปาง’ หรือร้องเรียนกับสภาผู้บริโภค ได้ที่
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 1502 (เวลาทำการวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 18.00 น.)
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค