ส่องนโยบายผู้บริโภค ด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ กรกฎาคม 2566

เกาะติดนโยบายการพัฒนาที่ดินของการรถไฟที่ปรับขึ้นค่าเช่า ส่งผลกระทบกับผู้มีรายได้น้อยกว่า 27,000 ครอบครัวใน 300 ชุมชนทั่วประเทศ

ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้เชิญสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้แทนจากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ข้อมูลกรณีที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการเช่าใช้ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจากการสำรวจพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 27,084 ครัวเรือน ใน 300 ชุมชนทั่วประเทศ จากการที่รัฐบาลมีโครงการในการพัฒนาระบบขนส่งระบบราง เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟเชื่อมสนามบิน

ที่ผ่านมา พอช. และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งโครงการมารองรับกลุ่มประชาชน โดย พม. ได้เสนอโครงการตามคำเรียกร้องของประชาชนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คือ เห็นชอบเป้าหมายที่จะการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ตามที่สำรวจไว้ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2570

โดยให้โครงการดังกล่าวเข้าไปรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟทั้งหมด รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่เคยมีสัญญาเช่าก่อนที่จะเกิดโครงการบ้านมั่นคง และกลุ่มที่มีสัญญาเช่าแต่จำเป็นต้องย้ายออกจากที่ดิน และเห็นชอบแนวทางรูปแบบในการแก้ไขปัญหา คือ หาก รฟท. ไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อการเดินรถ ทั้ง 3 ประเภท คือ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟเชื่อมสนามบิน รวมทั้งการพัฒนาย่านสถานี ให้จัดให้ประชาชนได้มีการเช่าเพื่อทำที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ที่ประชุมอนุกรรมการฯ เห็นว่า สัญญาเช่าที่ดินระหว่าง รฟท. และผู้เช่าค่อนข้างเป็นสัญญาสำเร็จรูป และมีความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทบทวนข้อสัญญาสำเร็จรูปของ รฟท. เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายปัจจุบันมากขึ้น นอกจากนี้กรณีการเช่าพื้นที่ริมทางรถไฟในเขตจังหวัดกาญจนบุรีที่มีการร้องเรียนผ่านหน่วยงานประจำจังหวัดกาญจนบุรี สภาผู้บริโภค จะมีการจัดเวทีเพื่อหาข้อสรุปในพื้นที่เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้ปัญหาข้อร้องเรียน โดยให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพื้นที่และส่วนกลางเข้าร่วมการเจรจาหารือด้วย

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค