ส่องบทเรียนผู้บริโภคสหรัฐรวมกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action Lawsuit) ผู้จัดคอนเสิร์ตและศิลปินมาดอนนา (Madonna) เหตุเลื่อนเปิดการแสดงคอนเสิร์ตช้าไป 2 ชั่วโมง กระทบแผนใช้ชีวิตและการทำงานในวันถัดมา
“ถึงจะชอบมากแค่ไหน แต่ถ้าเปิดคอนเสิร์ตล่าช้า ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในโปสเตอร์โฆษณา แฟนเพลงแบบเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้จัดชดเชยความเสียหายให้” ผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกากล่าว
ไม่นานมานี้สำนักข่าวฟ็อกซ์ บิสสิเนส (Fox Business) จากต่างประเทศได้รายงานว่าไมเคิล เฟลโลวส์ และโจนาธาน แฮดเดน ผู้บริโภคชาวสหรัฐอเมริกาได้ยื่นฟ้องผู้จัดงานคอนเสิร์ตไลฟ์ เนชั่น (Live Nation) และบาร์เคลยส์ เซ็นเตอร์ (Barclays Center) รวมถึงมาดอนนา (Madonna) ศิลปินคนโปรดของตัวเอง ซึ่งมีสาเหตุจากการเปิดคอนเสิร์ตช้าไป 2 ชั่วโมง จนทำให้กระทบต่อการวางแผนในชีวิตประจำวัน
ผู้บริโภคทั้งคู่ได้ยื่นฟ้องผู้จัดและศิลปินในข้อหาการกระทำเชิงพาณิชย์ที่เข้าข่ายหลอกลวง ไม่เป็นธรรม และไร้ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ในคำฟ้องระบุว่า คอนเสิร์ต เดอะ เซเลเบรชั่นทัวร์ (The Celebration Tour) ของนักร้องชื่อดังได้จัดขึ้นที่บาร์เคลยส์ เซ็นเตอร์ ช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาได้โฆษณาว่าคอนเสิร์ตจะเปิดการแสดงในเวลา 20.30 น. แต่เมื่อถึงเวลากลับเลื่อนการเปิดการแสดงคอนเสิร์ตไปเป็นเวลา 22.30 น. ล่าช้าจากกำหนดการเดิมถึง 2 ชั่วโมง การเลื่อนเวลาข้างต้นทำให้ตลอดระยะเวลา 3 คืน แฟนเพลงหลายรายไม่สามารถตื่นเช้าเพื่อไปทำงานและดูแลครอบครัวได้ นอกจากนี้พวกเขายังพบเจอกับปัญหาการเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะที่มีอย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการและยังต้องจ่ายค่าโดยสารในราคาที่แพงขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เอกสารคำฟ้องระบุว่า การเริ่มคอนเสิร์ตที่ล่าช้าดังกล่าว นอกจากจะเป็นการละเมิดสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยแล้ว ยังเป็นการโฆษณาอันเป็นเท็จ บิดเบือนความจริง ไม่เป็นธรรม และหลอกลวงทางการค้า ซึ่งนิตยสารพีเพิล (People) มีการรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าการแสดงวันที่ 13 ธันวาคมของมาดอนนาถูกเลื่อนออกไปหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากปัญหาระหว่างการตรวจสอบเสียง ที่ทําให้กําหนดการล่าช้าไปหนึ่งชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นการยื่นฟ้องแบบกลุ่มตามระบบศาลนครนิวยอร์ก ขณะที่ประเทศไทยนั้นการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษาตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา
เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ผู้บริโภครวมตัวยื่นฟ้องคดีรถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล ปี 2014 – 2018 ที่พบปัญหาเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น หรือน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุดที่กำหนด เป็นคคีแบบกลุ่ม กระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้มาสด้าเรียกคืนรถยนต์รุ่นดังกล่าวทุกคันที่พบปัญหานำมาซ่อมแซมให้เป็นปกติ โดยให้บริษัทมาสด้าต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง จ่ายค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจจำนวน 30,000 บาท โดยบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้องร่วมด้วย
การที่ผู้บริโภคออกมาเรียกร้องและยื่นฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม จนศาลมีคำพิพากษาออกมาข้างต้นทำให้เกิดคดีตัวอย่างเกี่ยวกับการจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในประเทศไทย และทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์ทุกรายเกิดความตระหนัก มีความรับผิดชอบในการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสร้างมาตรฐานการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ หากถูกเอารัดเอาเปรียบ ได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถขอคำปรึกษาปัญหาด้านผู้บริโภคหรือขอความช่วยเหลือกับสภาผู้บริโภคได้ที่เบอร์สายด่วน 1502 ในเวลาทำการตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หรือร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tcc.or.th