ถามหาตั๋วร่วม ระบบขนส่งรองรับผู้โดยสารเดินทางมาถึงสถานีรถไฟฟ้า (feeder) ซึ่งระบบปัจจุบันยังไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จสำหรับคนรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ชานเมืองที่ต้องจ่ายค่าเดินทางซ้ำซากจากบ้านขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ไปต่อรถสองแถว หรือขึ้นรถเมล์เพื่อไปถึงสถานีรถไฟฟ้า ทำให้ค่าเดินทางในแต่ละวันพุ่งสูงเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้
“เดินทางหลายต่อ”
“ค่าโดยสายรวมต่อวันกว่า 200 บาท”
“ใช้เวลาเดินทางมาทำงานประมาณชั่วโมงกว่า”
เป็นเสียงสะท้อนของพนักงานออฟฟิศชาวสมุทรปราการ ที่ต้องเดินทางมาทำงานในเขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ที่กว่าจะมาถึงออฟฟิศจะต้องเดินทางหลายต่อ ตั้งแต่การใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์เดินทางออกจากซอยที่พักอาศัย จ่ายค่าโดยสารจำนวน 40 บาท เพื่อมาขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีบางนา มาลงสถานีสำโรง จากนั้นต้องเปลี่ยนขบวนเป็นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีทิพวัลมาลงสถานีลาดพร้าว จ่ายค่าโดยสารอีก 62 บาท ทำให้ค่าโดยสารรวมต่อวัน (ไปและกลับ) พุ่งไปถึง 204 บาท
“การเดินทางมาทำงานมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าเดินทางและค่าอาหาร ดังนั้นเวลามาทำงานจึงทำข้าวกลางวันมาเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะค่าอาหารบริเวณที่ทำงานมีราคาสูงพอสมควร” ผู้บริโภคชาวสมุทรปราการ ระบุ
ด้วยระยะทางจากบ้านถึงสถานีรถไฟฟ้าที่มีระยะทางที่ไกล ทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้วินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ประกอบกับการที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอื่น ๆ ให้บริการรองรับการเดินของผู้บริโภคเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมาใช้บริการรถไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าระบบฟีดเดอร์ (Feeder) ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าเดินทางหลาย ๆ ต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากกรณีข้างต้น สภาผู้บริโภคได้รับเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ที่ต้องเดินทางมาทำงานบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะต้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปเปลี่ยนขบวนเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีจตุจักร จ่ายค่าโดยสาร 27 บาท จากนั้นต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อต่อไปยังสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่มีค่าโดยสาร 35 บาท ทำให้ค่าโดยสารต่อวัน (ไปและกลับ) อยู่ที่ 124 บาท ผู้บริโภครายนี้ ระบุอีกว่าแม้จะสามารถนั่งรถเมล์จากนนทบุรีไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้ โดยเสียค่าโดยสารต่อเที่ยว 8 บาท หรือ 20 บาท แล้วแต่ประเภทรถเมล์ที่ใช้บริการ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาเดินทางนานกว่าการโดยสารรถไฟฟ้า ด้วยปัญหาการจราจรที่ติดขัด ทำให้การโดยสารด้วยรถเมล์ไม่สามารถคาดการณ์เวลาที่แน่ชัดได้ว่าจะถึงช่วงใดและทำให้ต้องเผื่อเวลาเดินทางขึ้นอีกหากต้องการประหยัดค่าเดินทาง
“ตั้งแต่มีนโยบายให้คนโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจ่ายเพียง 20 บาทตลอดสาย ช่วยให้ค่าเดินทางถูกลงไปบ้าง ถ้าเป็นคนที่อยู่ไกลและนั่งตั้งแต่สถานีปลายทางและต้องเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ ก็ถือว่าช่วยลดค่าเดินทางได้เยอะมาก นอกจากเรื่องค่าโดยสารแล้วอยากให้รัฐบาลสนับสนุนตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะทุกวันนี้เราต้องพกบัตรรถไฟฟ้า 2 ใบในการแตะเพื่อจ่ายค่ารถไฟฟ้า” ผู้บริโภคชาวนนทบุรีกล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ผู้บริโภคหลาย ๆ รายไม่เลือกที่ทำงานใกล้บ้านหรือพักอาศัยอยู่ใกล้ที่ทำงาน อาจเกิดจากข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง อาทิ การต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวและไม่สะดวกที่จะออกมาเช่าห้องอยู่ หรือหากคำนวณค่าเช่าที่พักกับค่าเดินทางแล้วอาจไม่ต่างกันมาก หรือบางรายไม่มีที่ทำงานที่อยู่ใกล้กับบ้านหรือไม่มีรถสาธารณะที่มีค่าบริการถูกกว่าให้เลือกใช้ ทำให้ต้องแลกกับการเดินทางที่ใช้เวลามากกว่าและยังต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเดินทางบนท้องถนน แต่กลับกันเหตุใดผู้บริโภคจะต้องแบกรับค่าเดินทางที่มากเกินควรในยุคที่ค่าครองชีพที่สูงสวนทางกับรายได้ขั้นต่ำที่ได้รับต่อวัน
ด้วยเหตุนี้ สภาผู้บริโภคยังคงมุ่งมั่นผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ผ่านการรณรงค์ให้ “ขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” โดยสัดส่วนค่าโดยสารต่อวันของผู้บริโภคต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน พร้อมสนับสนุนให้มีระบบฟีดเดอร์ที่ประชาชนสามารถเดินออกจากบ้านเพียง 500 เมตร และพบกับบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถส่วนตัว เพื่อลดปริมาณของฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการใช้ยานยนต์
ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจมองว่าการผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท รวมถึงการผลักดันให้มีระบบฟีดเดอร์รองรับการเดินทางที่ให้มีความเชื่อมต่อกัน เป็นการช่วยเหลือเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ปัจจุบันมีประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝงจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่ปริมาณคนที่ใช้รถไฟฟ้าเฉลี่ยรวมยังมากกว่า 1 ล้านเที่ยวต่อวัน ดังนั้น การผลักดันนโยบายข้างต้นจึงไม่ใช่เฉพาะเพียงคนกรุงเทพฯ ที่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน