ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากนิยมใช้บริการเสริมความงาม และยังมีผู้แอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญให้บริการเสริมความงาม โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ ซึ่งการใช้บริการกับผู้แอบอ้างที่ไม่มีใบอนุญาต อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดหรือเสียชีวิตได้
ในครั้งนี้เป็นเรื่องของผู้บริโภคชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เข้าใช้บริการสระผมในร้านเสริมสวยย่านประตูน้ำพระอินทร์ อำเภอวังน้อย แต่กลับถูกเจ้าของร้านเสริมสวยชักชวนให้ใช้บริการฉีดฟิลเลอร์เพื่อลบริ้วรอยบนใบหน้า โดยอ้างว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ เนื่องจากเคยทำงานในคลินิกเสริมความงามมาเป็นเวลา 10 ปี และยังรู้จักตัวยาต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าของร้านเสนอให้ผู้บริโภครายดังกล่าวฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มในราคา 3,000 บาท และแจ้งกับผู้บริโภคว่าผิวหน้ามีริ้วรอยจำนวนมาก จึงจะทำบริเวณรอบดวงตาเพิ่มให้อีก โดยคิดค่าบริการเพิ่มอีก 2,000 บาท รวมเป็น 5,000 บาท ผู้บริโภคจึงตกลงใช้บริการ
หลังจากรับบริการไปได้ 2 – 3 วัน ผู้บริโภคเกิดอาการแพ้ มีอาการบวมแดง และคันบริเวณใบหน้า จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ ต่อมาเกิดเป็นแผลพุพองบริเวณใบหน้า แพทย์แจ้งว่าเป็นอาการแพ้สารที่ฉีดบริเวณใบหน้าและมีอาการแผลติดเชื้อ ทำให้ผู้บริโภคต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลยาวนานนับเดือน ระหว่างนั้นผู้บริโภครายนี้ได้ติดต่อกับเจ้าของร้านเสริมสวยให้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าของร้านได้โอนเงินค่าบริการคืนให้กับผู้บริโภคเป็นจำนวน 4,500 บาทขณะที่ผู้บริโภคไม่อยากให้มีการให้บริการทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้บริโภครายอื่นเกิดขึ้นอีก จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาของสภาผู้บริโภค
เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานฯ ได้ประสานไปยังผู้บริโภคเพื่อให้รวบรวมหลักฐาน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน ข้อความการสนทนากับเจ้าของร้านเสริมสวย ข้อมูลของร้านเสริมสวย ใบรับรองแพทย์ ภาพถ่ายแผลที่เกิดขึ้น นอกจากนี้หน่วยงานฯ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของร้านเสริมสวยดังกล่าว จนในที่สุดนำไปสู่การจับกุมเจ้าของร้านเสริมสวยได้ในเวลาต่อมา เนื่องจาก เจ้าของร้านเสริมสวยดังกล่าวไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ และไม่มีใบอนุญาต
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้ใดให้บริการเสริมความงาม โดยไม่มีใบอนุญาตถือว่ามีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งกำหนดให้การฉีดสารเสริมความงามทุกชนิดต้องกระทำในสถานพยาบาล โดยแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญเท่านั้นและการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ท้ายสุด เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนประจำหน่วยงานฯ ได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการเสริมความงามว่า ก่อนเข้าไปใช้บริการควรตรวจสอบเลขที่ใบอนุญาตการเปิดคลินิก กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก่อนที่เว็บไซต์ https://hosp.hss.moph.go.th/ และตรวจสอบแพทย์ผู้ให้บริการร่วมด้วยที่เว็บไซต์ของแพทยสภา https://checkmd.tmc.or.th/ โดยให้ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อใช้บริการกับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญโดยเห็นแก่ค่าบริการราคาถูกเด็ดขาด
หากผู้บริโภคพบสถานพยาบาลเสริมความที่ไม่มีใบอนุญาต หรือพบบุคคลแอบอ้างเป็นแพทย์สามารถแจ้งเบาะแสไปที่เฟซบุ๊ค “มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน” และหากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการเสริมความงาม แนะนำให้รวบรวมหลักฐานและแจ้งมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เบอร์ 1426 หรือ 02 193 7000 ในวันและเวลาราชการ เวลา 08.30 – 16.30 น. และสำหรับผู้บริโภคชาวอยุธยาหรือจังหวัดใกล้เคียงสามารถปรึกษา – ร้องเรียนกับหน่วยงานประจำจังหวัดอยุธยาได้ที่ โทรศัพท์ 093 090 2333 หรือร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคได้ที่
- ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1 (หรือสายด่วนสภาผู้บริโภค 1502)
- ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
- อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค