สภาผู้บริโภค สนับสนุนการบริโภคไข่ไก่จากไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรงตับ (cage-free egg)” แทนการซื้อไข่ไก่จากไก่ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรงแออัดคับแคบ ทั้งนี้ เพื่อตอบรับนโยบายอาหารปลอดภัย และการบริโภคที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare)
ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่าปัจจุบันคนไทยบริโภคไข่ไก่เฉลี่ยปีละ 223 ฟองต่อคน แต่รู้หรือไม่ว่าไข่ไก่กว่าร้อยละ 90 ที่บริโภคมาจากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบกรงตับ (battery cage egg) หรือการเลี้ยงในกรงที่แออัดคับแคบ ๆ ที่เรียงซ้อนติด ๆ กัน ทำให้ไก่แต่ละตัวตัองยืนบนพื้นที่ที่จำกัดไม่สามารถขยับร่างกายได้ ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่ขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ ส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดสูง อีกทั้งความแออัดของสถานที่ทำให้ไก่เจ็บป่วยง่าย
นอกจากนี้ การศึกษาในทวีปยุโรป พบว่า การเลี้ยงแบบกรงตับเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) หรือโรคติดเชื้อในทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถปนออกมากับอุจจาระและติดกับเปลือกไข่ได้ หากผู้บริโภคทานไข่ที่ไม่สะอาด อาจส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคในภายหลังได้
ขณะที่การเลี้ยงไก่แบบอิสระไม่ขังกรง (cage free) จะทำให้แม่ไก่มีอิสระในการเคลื่อนไหว สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ไม่เครียด ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ ทั้งยังเป็นการเลี้ยงที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ และส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยุติใช้กรงตับในการเลี้ยงไก่ไข่แล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี เป็นต้น
ด้าน มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคขับเคลื่อนนโยบายด้านอาหารปลอดภัยมาโดยตลอด และมีความเห็นว่าการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง เป็นการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของสภาผู้บริโภค “การเลี้ยงไก่ไข่แบบขังกรง ในพื้นที่แออัดทำให้แม่ไก่เกิดความเครียด เจ็บป่วย ไม่ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ การทานไข่ไก่ที่ได้จากแม่ไก่ที่เลี้ยงในกรง เป็นการทานผลผลิตที่ได้มาจากการขัดต่อสวัสดิภาพสัตว์ จึงอยากชวนผู้บริโภคหันมาทานไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง เพื่อให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงไก่ไข่เป็นแบบปล่อยนอกกรงมากขึ้น และเพื่อให้แม่ไก่ในอนาคตได้มีอิสระมากขึ้น ซึ่งเป็นการบริโภคที่ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม” มลฤดีกล่าวปิดท้าย