สถิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2565 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติบนท้องถนนจำนวน 13,814 ราย ซึ่งร้อยละ 81 ของจำนวนนั้น หรือประมาณ 11,000 ราย เป็นอุบัติเหตุจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
…และเป็นไปได้ว่า อาจมีผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัยรวมอยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิตด้วย เพียงเพราะเขาเหล่านั้นสวมหมวกนิรภัยที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด
จากการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ที่สภาผู้บริโภคได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) สุ่มทดสอบหมวกกันน็อกจำนวน 25 ตัวอย่าง ในปี 2565 พบว่ามีหมวกกันน็อกไม่ผ่านมาตรฐานมากถึง 11 ตัวอย่าง และหมวกกันน็อกสำหรับเด็กจำนวน 5 ตัวอย่างนั้นตกมาตรฐานทั้งหมด นั่นหมายถึงหากผู้ที่ขับขี่ หรือผู้ซ้อนท้ายประสบอุบัติเหตุศรีษะกระแทกพื้นมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่เลือกใส่หมวกนิรภัยที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้
เสียดาย ผู้ที่เสียชีวิตไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าถึงความสำคัญในการเลือกใช้หมวกนิรภัยที่คุ้มครองชีวิตได้จริง แต่ผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเฉียดตายอย่าง สุภาภรณ์ พันธ์ประสิทธิ์ ไรเดอร์เสื้อหลากสี ย่านรัชดา ได้มีโอกาสมาเล่าว่า ถ้าเธอไม่ได้สวมหมวกกันน็อกที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เธอคงไม่มีชีวิตมาจนทุกวันนี้
สุภาภรณ์ย้อนอดีตว่า ในวันเกิดเหตุเธอสวมหมวกนิรภัยแบบเต็มใบ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานขี่ไปรับออร์เดอร์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง หลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อยก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งอาหารให้ลูกค้าตามปกติ แต่ ระหว่างที่เธอกำลังรอจังหวะจะกลับรถไปอีกฝั่งหนึ่ง มีรถเก๋งพุ่งมาชนเธอแบบเต็มแรง จนกระทั่งเธอลอยออกจากตัวรถมอเตอร์ไซค์ จนลำตัวและศีรษะกระแทกลงบนพื้นถนน เคราะห์ดีที่เธอใส่หมวกกันน็อกทำมีเพียงความรู้สึกมึนและสลบไปประมาณ 5 นาที
อุบัติเหตุในวันนั้นส่งผลให้สมองของเธอได้รับการกระทบกระเทือนจนมีอาการเบลอ คอเคล็ดขยับไม่ได้และขาบวม จนถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 5 เดือนแล้วแต่เธอยังมีอาการมึนงงหรือเบลออยู่ ส่วนที่ต้องรักษาด้วยการทำเลเซอร์ คือคอ และขา ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อให้ขยับได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าหมวกกันน็อกเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยป้องกันชีวิตของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนน และที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่ออกมารณรงค์เรื่องการสวมใส่หมวกกันน็อกขณะขับขี่มอเตอร์ไซค์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ถูกสื่อสารและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคมคือเรื่อง “คุณภาพ” ของหมวกกันน็อก
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการใช้มอเตอร์ไซค์มากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า ในปี 2565 มีการจดทะเบียน มอเตอร์ไซค์มากถึง 22.14 ล้านค้น หรือร้อยละ 52.66 ของการจดทะเบียนรถทุกชนิดภายในปีเดียว ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ได้รายงานข้อมูลอุบัติเหตุสะสมของปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 939,713 ครั้งเป็นอุบัติเหตุผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ถึง 526,240 ครั้ง หรือร้อยละ 56
ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ระบุว่า หากผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกคนในประเทศไทยใส่หมวกกันน็อก จะทำให้อัตราการเสียชีวิตในภาพรวมลดลงถึงร้อยละ 36
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้หมวกกันน็อกที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ไม่สามารถช่วยป้องกันการกระแทกของศรีษะในกรณีอุบัติเหตุได้ ทั้งยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อใบหน้าและศรีษะผู้สวมใส่ เช่น กรณีพลาสติกกันลมถูกกระแทกอย่างรุนแรง หากเป็นพลาสติกที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจแตกหักและเป็นอันตรายต่อใบหน้าและศีรษะของผู้สวมใส่ได้
สุภาภรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ไรเดอร์บางคนละเลยความสำคัญของการสวมใส่หมวกกันน็อกเวลาที่อยู่บนถนน ตามปกติเธอจะใส่และถอดหมวกกันน็อกบ้าง เนื่องจากร้านอาหารบางแห่งไม่ให้ใส่หมวกกันน็อกเข้าไป แต่ถ้าใส่นานเกินไปก็จะได้รับผลกระทบ มีไรเดอร์หลายคนที่มีอาการเส้นเลือดสมองตีบเพราะใส่หมวกกันน็อกทั้งวันเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมาก อย่างไรก็ตาม สุภาภรณ์ได้ฝากอุทธาหรณ์ให้แก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ว่า แม้จะมีช่วงเวลาที่ต้องถอดหมวกบ้าง แต่เมื่อต้องขับขี่บนท้องถนนก็ต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้ง เนื่องจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและการไม่สวมหมวกกันน็อกเพียงครั้งเดียว อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บสาหัสหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สุภาภรณ์ย้ำเตือนคือการเลือกซื้อหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐาน เพราะเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยปกป้องชีวิตของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ร้านค้าหลายร้านทั้งร้านค้าออนไลน์ และวางขายตามร้านค้าต่าง ๆ มีการจำหน่ายหมวกกันน็อกทั้งที่ได้มาตรฐานและที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก
“อยากฝากถึงผู้ประกอบการหรือร้านค้าให้มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าและเลือกหมวกกันน็อกที่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย ไม่นำวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานหรือนำเข้าของปลอมที่ราคาถูกและเอามาจำหน่ายในราคาปกติซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อีกทั้งยังทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้อยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบร้านค้า เข้าไปตรวจสอบแหล่งผลิต และออกกฎหมายเข้มงวดกับของปลอมและของหนีภาษีนำเข้า” สุภาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การสุ่มตัวอย่างหมวกกันน็อกที่นำมาทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยนั้น สภาผู้บริโภคและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค : MTEC) สุ่มตัวอย่างจากการซื้อหมวกกันน็อกในทุกระดับราคาจากห้างสรรพสินค้า ร้านตัวแทนจำหน่ายหมวกกันน็อก และร้านค้าบนตลาดออนไลน์ที่เป็นช่องทางที่ประชาชนนิยมใช้ซื้อหาหมวกกันน็อกที่เป็นการยืนยันว่า ขณะนี้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์จำนวนหนึ่งกำลังเสี่ยงต่อชีวิตในการใช้หมวกที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน
ผู้บริโภคที่ต้องการทราบว่าหมวกนิรภัยที่ใช้อยู่ปลอดภัยหรือไม่ หรือกำลังเลือกซื้อหมวกกันน็อกที่ปลอดภัย สามารถตรวจเช็กยี่ห้อ รวมถึงรุ่นหมวกกันน็อกที่ผ่านและไม่ผ่านมาตรฐาน โดยการเข้าไปอ่านผลการทดสอบฉบับเต็มได้ที่นี่ : เผยผลทดสอบหมวกกันน็อกตกมาตรฐาน 11จาก 25 ตัวอย่าง (https://www.tcc.or.th/08052566_helmet-test_news/)
#saveหัวกันน็อก#สภาองค์กรของผู้บริโภค#สภาผู้บริโภค#ผู้บริโภค#เพื่อนผู้บริโภค#TCC#ความปลอดภัยทางถนน
หมายเหตุ : ภาพสำหรับประกอบรายงานพิเศษเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์