ขับรถส่งอาหาร 12 ชม./วัน หมวกกันน็อกคู่ใจ “ไรเดอร์” ต้องได้มาตรฐาน 

อาชีพไรเดอร์ถือเป็นอาชีพที่ต้องขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนน และต้องสวมหมวกกันน็อกเกิน 12 ชั่วโมงในแต่ละวัน นอกจากการเลือกรถจักรยานยนต์ที่เหมาะสมแล้ว การเลือกหมวกกันน็อกคู่ใจสำหรับผู้ขับขี่จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

จากประสบการณ์การรอดชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ ‘ศุภชัย พูนพิมะ’ ไรเดอร์จากแอปพลิเคชันส่งอาหารให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหมวกกันน็อกที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และสวมใส่หมวกกันน็อกทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ 

​ศุภชัย เล่าให้ฟังว่า ตนเองเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณสี่แยกพงษ์เพชร ถนนงามวงศ์วาน ในกรุงเทพมหานคร ขณะนั้นสัญญาณไฟจราจรเหลือเพียงอีก 10 วินาทีและกำลังจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นไฟสีแดง เมื่อตนเองขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูงจึงเหยียบเบรก ประกอบกับเจอกับหลุมบนถนน ตนเองจึงเสียหลักล้มลงไปและทำให้รถจักรยานยนต์และตัวของศุภชัยกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีที่เขาสวมใส่หมวกกันน็อกจึงช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ส่วนหนึ่งและหากไม่ได้สวมใส่อาจกระทบกระเทือนไปถึงสมองได้

ศุภชัย พูนพิมะ ไรเดอร์จากแอปพลิเคชันส่งอาหาร

​จากข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า เมื่อผู้ขับรถมอเตอร์ไซด์ประสบอุบัติเหตุโดยไม่สวมหมวกกันน็อกและศีรษะไปกระทบกับของแข็งไม่ว่าจะเป็นถนน กำแพง หรือเสาไฟฟ้าจะทำให้กะโหลกหยุดเคลื่อนไหวกะทันหัน สมองจะลอยไปกระแทกกับกะโหลกซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้สมองส่วนที่ควบคุมอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกายเสียหายและได้รับการกระทบกระเทือน เกิดความช้ำ บวม และหากเกิดขึ้นกับสมองส่วนที่ควบคุมความทรงจำ หรือ สมองกลีบขมับ (Temporal Lobe) ก็อาจทำให้เกิดสูญเสียความทรงจำหรือมีภาวะหลงลืมบางอย่าง เช่น ภาวะการจำชื่อหรือใบหน้าของคนใกล้ตัว และจากการสำรวจการสวมหมวกนิรภัยของมูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads) พบว่า อัตราการสวมหมวกโดยเฉลี่ย 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2562) อยู่ที่ร้อยละ 44 และหากแยกเฉพาะผู้ขับขี่ที่สวมหมวกกันน็อกจะอยู่ที่ร้อยละ 52 ส่วนคนซ้อนท้ายสวมหมวกกันน็อกเพียงร้อยละ 21 ดังนั้น หากผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งขณะขับขี่จะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงต่อการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ร้อยละ 72 ลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 39 เลยทีเดียว

​ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีหมวกกันน็อกหลากหลายรูปแบบที่วางขายอยู่ในท้องตลาดและในออนไลน์ สิ่งที่ผู้ขับขี่ส่วนหนึ่งเลือกซื้อหมวกกันน็อกคือการออกแบบที่ทันสมัยโดยอาจลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หมวกกันน็อกแต่ละใบนั้นผ่านการทดสอบหรือได้มาตรฐานหรือไม่

​ด้วยความจำเป็นทางอาชีพของศุภชัยที่ต้องสวมใส่หมวกกันน็อกมากกว่า 12 ชั่วโมง การซื้อหมวกกันน็อกที่มีมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับศุภชัย อันดับแรกเขาจะสังเกตฉลากที่มีเครื่องหมาย ‘มอก.369 – 2557’ ที่ต้องควบคู่กับเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยหากสแกนแล้วควรจะต้องมีข้อมูลสินค้าและผู้ผลิต แต่หากไม่มีข้อมูลเหล่านี้แนะนำให้ไม่ควรซื้อ

​นอกจากการที่ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหมวกกันน็อกที่ต้องมีเครื่องหมาย มอก. แล้วนั้น ศุภชัยยังดูข้อมูลประกอบอื่น ๆ เช่น วันเดือนปีที่ผลิต ไซส์ของหมวกกันน็อกที่พอดีกับศรีษะ หรือแม้แต่อายุของหมวกกันน็อก ซึ่งในประเด็นนี้ศุภชัยได้ย้ำว่า การเลือกซื้อหมวกกันน็อกไม่ควรเลือกซื้อหรือใช้งานหมวกกันน็อกที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เพราะหมวกกันน็อกแต่ละใบมีอายุการใช้งานสูงสุดไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผลิต ซึ่งหากมีการระบุวันที่ผลิตหรืออายุของหมวกกันน็อกไว้อย่างชัดเจนจะช่วยให้ผู้ขับขี่เลือกซื้อหมวกกันน็อกได้อย่างมั่นใจมากขึ้น โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดและเมื่อพบกับข้อมูลวันเดือนปีที่ผลิตจะทำให้ผู้ขับขี่สามารถคำนวณอายุของหมวกได้อย่างชัดเจน และนอกจากนี้ควรเลือกขนาดหมวกกันน็อกที่เหมาะกับศรีษะของตนเองเพื่อดูว่าสามารถระบายความร้อนได้ดี หายใจสะดวก หรือใช้งานสะดวกหรือไม่

อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาหมวกกันน็อกจะช่วยยืดอายุของหมวกกันน็อกคู่ใจให้คงทนและทนทานไม่แพ้กับส่วนอื่น ๆ เบื้องต้นควรใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ชุบน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่หมาด ๆ และเช็ดทำความสะอาด เพื่อเช็ดคราบภายนอก ส่วนหน้ากากบังลมควรหาผ้าไมโครไฟเบอร์สะอาด ชุบน้ำสบู่อ่อน ๆ และเช็ด โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสกปรกหรือน้ำยาที่มีสารเป็นกรดหรือด่างสูงเกินไป เช่น ใช้ผงซักฟอก น้ำยาฟอกขาว ขณะเดียวกันหากมีการติดตั้งหูฟังหรือไมโครโฟนบลูทูธ แนะนำให้ถอดออกเพื่อช่วยให้ทำความสะอาดง่ายขึ้นและตรวจสอบสภาพการทำงานว่ายังสมบูรณ์หรือไม่ นอกจากนี้ในหมวกบางใบจะมีตัวช่วยลดการเกิดฝ้าจึงแนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดอย่างเดียว

​“หมวกกันน็อกที่ผมใช้อยู่ตอนนี้มีอายุไม่เกิน 3 ปี และผมจะเช็กตลอดว่ามีสภาพที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพหรือไม่ โดยเฉพาะจะสังเกตที่พลาสติกภายนอกว่ามีสีซีดกว่าเดิม พลาสติกเริ่มผุ เม็ดโฟมภายในเริ่มเสื่อมสภาพ ไปจนถึงนวมฟองน้ำที่เสียรูปทรง สายรัดขาดความยืดหยุ่น อันนี้ต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะใส่แล้วอันตรายไม่ได้ช่วยป้องกันอันตรายอะไรเลย” ศุภชัยระบุ

​จากประสบการณ์เฉียดตาย ศุภชัยเห็นว่าผู้ขับขี่จักรยานยนต์ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพด้านความปลอดภัยมาก่อนสิ่งอื่น เพราะนั่นหมายถึงชีวิต 

​ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไปสามารถดูผลการตรวจสอบยี่ห้อหมวกกันน็อกที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่สภาผู้บริโภคได้นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะในเว็บไซต์ของสภาผู้บริโภคเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อหมวกกันน็อกได้อย่างถูกต้อง

อ้างอิงข้อมูล

https://www.thaihealth.or.th/ลืมทุกอย่าง-แม้กระทั่ง/

https://www.tcc.or.th/helmet-safe/

https://drive.google.com/file/d/1hBZCk2W-5tDwCu0vF2ZgyHEcBm_VAbnf/view?usp=drivesdk

#saveหัวกันน็อก#สภาองค์กรของผู้บริโภค#สภาผู้บริโภค#ผู้บริโภค#เพื่อนผู้บริโภค#TCC#ความปลอดภัยทางถนน