ผลสำรวจความต้องการรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุด 20 บาท  

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้ากว่า 2,500 ราย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2566 – 29 พ.ย. 2566 โดย นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภคได้นำเสนอผลการสำรวจเบื้องต้นการสัญจรของผู้บริโภคในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูโดยได้สอบถามผู้ใช้บริการกว่า 2,500 รายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าหากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการจะมีผลต่อการเดินทางชีวิตประจำวันเพียงใดโดยผู้ตอบแบบสอบถาม 53.20 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าการมีรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะตอบโจทย์และเอื้อประโยชน์ต่อการเดินทา จะเห็นได้จากในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาหรือสามวันแรกของการเปิดใช้บริการได้มีผู้ใช้บริการในวันธรรมดาประมาณ 9 หมื่นกว่าเที่ยว

ถ้าเทียบกับช่วงไม่มีรถไฟฟ้าคนเหล่านี้จะต้องอยู่บนท้องถนน แต่ตอนนี้ยกระดับขึ้นมาอยู่บนรางซึ่งมีผลต่อการจราจรช่วงแครายถึงมีนบุรี ในส่วนประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้าประมาณ 47.8 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกใช้บริการในระดับมากที่สุดและ 25.7 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าอยู่ในระดับมาก อย่างไรก็ตามถ้าราคาเข้าถึงได้ก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าใจบริการ 

 

เมื่อถามว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 69.8 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าอยู่ในระดับมากที่สุดและ 17.1 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าอยู่ในระดับมาก ทั้งนี้สะท้อนว่าในมุมของผู้ใช้บริการ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตอบโจทย์ต่อการใช้งานและการเดินทางของทุก ๆ คน 

เมื่อถามว่าราคาค่าโดยสารสายสีชมพูที่รัฐบาลกำหนดไว้ 15-45 บาทแพงหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 55 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าแพงโดยให้เหตุผลว่าถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยถือว่าแพงมาก นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางสายสีชมพูเพียงสายเดียว แต่จำเป็นต้องเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าสายสีอื่นด้วย อีกทั้งคนที่เดินทางระยะไกลไม่ได้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายแพงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะรับไหว ซึ่งเห็นว่าตลอดสายค่าโดยสารไม่ควรเกิน 27 บาท ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 35 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าไม่แพงมาก โดยส่วนหนึ่งบอกว่ายังมีการใช้บริการค่อนข้างน้อย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 

เมื่อถามต่อว่า ถ้าราคาค่าโดยสารกำหนดที่ 15-45 บาทยังจะใช้รถไฟฟ้าสายสีชมพูหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถาม 44 เปอร์เซ็นต์ตอบว่ายังใช้อยู่ ขณะที่อีก 29 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าไม่ใช้เลย บางส่วนตอบว่าใช้เป็นบางครั้งหรือใช้เมื่อมีความจำเป็นต้องเดินทาง 

เมื่อถามว่า หากรถไฟฟ้าสายสีชมพูเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทเหมือนกับสายสีม่วงและสีแดง ผู้ตอบแบบสอบถาม 91 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่าอยากให้สายสีชมพูเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยคนที่เห็นด้วยให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรเก็บ 15 บาทสำหรับการเดินทางช่วงสั้นและ 25 บาทตลอดสายเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับหน่วยงานภาครัฐและกระทรวงคมนาคมกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบาย ผู้ตอบแบบสอบถามบางรายระบุว่า อยากได้ 20 บาทโดยเร็ว เพราะว่าตอนนี้ให้นั่งฟรีถึงวันที่ 3 ม.ค. 2567 เท่านั้นเองและหลังจากนั้นต้องจ่ายราคา 15-45 บาท ซึ่งอยากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในส่วนนี้ สำหรับคนที่ยังไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เอกชนขาดทุนเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้ อย่างเช่น อาจเก็บค่าโดยสารแพงขึ้นหรือมีปัจจัยอื่น ๆ นอกจากนี้ควรจะพิจารณาจากต้นทุนที่แท้จริง และที่สำคัญไม่เห็นด้วยถ้าใช้เงินภาษีมาอุดหนุน เมื่อถามต่อว่า ถ้าเป็นบริการขนส่งสาธารณะ (รถเมล์และรถไฟฟ้า) รวมแล้วต่อวันต้องเกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำหรือไม่เกิน 35 บาทต่อวัน ผู้ตอบแบบสอบถาม 89 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย ขณะที่ 6 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย สำหรับผู้ที่เห็นด้วยก็สนับสนุนนโยบายไม่เกิน 20 บาทต่อวันและควรมีตั๋วร่วมเพื่อลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน นอกจากนี้รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนประชาชนในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะหรือคิดว่าไม่ควรเกิน 50 บาทต่อวัน ในส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ควรพิจารณาจากต้นทุน ไม่ควรตอบสนองพรรคการเมือง ไม่ควรนำภาษีคนทั้งประเทศมาอุดหนุนคนกรุงเทพ ค่าครองชีพแพง ค่าโดยสารควรถูกลง 

อย่างไรก็ตามในการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาขนส่งมวลชนจากผู้ตอบแบบสอบถามดังนี้ 1.อยากให้ 20 บาทแบบข้ามสายได้ แต่เงื่อนไขสำคัญต้องมีบัตร EMV 2.ควรมีฟีดเดอร์เชื่อมต่อชุมชนกับรถไฟฟ้า 3.ควรมีรถเมล์ ป้ายรถเมล์ให้ทั่วถึงไม่ไกลจากซอยชุมชน 4.ควรให้มีจุดจอดรถจักรยาน จักรยานยนต์ ตามสถานี 5.ควรมีจุดเชื่อมต่อบริการรถสาธารณะที่ปลอดภัย 6.ทุกคนต้องได้รับสิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ดี 7.ขอให้เร่งรัดการใช้ตั๋วร่วมบัตรใบเดียวของรถไฟฟ้า 8.ขนส่งสาธารณะต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน 9.บริการสาธารณะเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน 10.ค่าโดยสารขนส่งรวมไม่ควรเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ขั้นต่ำ ทั้งนี้ทางสภาผู้บริโภคจะนำข้อเสนอเหล่านี้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมอย่างเป็นทางการต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #รถไฟฟ้าสายสีชมพู  #การเดินทาง #ค่าเดินทาง #บริการสาธารณะ #ขนส่งสาธารณะ #ขนส่งมวลชน