สภาผู้บริโภคเปิดผลสำรวจผู้บริโภค 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุด 20 บาท ขณะที่เลขาธิการสภาผู้บริโภคยืนยันเดินหน้าผลักดันนโยบาย 20 บาท จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ด้านกรมการขนส่งทางรางเตรียมตั้งคณะกรรมการเจรจาเอกชนผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทสำหรับทุกสาย
จากกรณีที่รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 โดยให้ใช้บริการฟรีจนถึง วันที่ 3 มกราคม 2567 จากนั้นจะเก็บค่าโดยสารราคา 15 – 45 บาท
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 สภาผู้บริโภคจึงจัดเวทีเสวนา “รถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสายทำได้ เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประชาชน” เพื่อเสนอทางออกในการกำหนดราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยมี อธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค รวมถึงเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ เข้าร่วมเวทีด้วย
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค นำเสนอผลการสำรวจเบื้องต้นการสัญจรของผู้บริโภคในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากการสอบถามผู้ใช้บริการกว่า 2,500 ราย ตั้งแต่วันที่ 20 – 29 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 69.8 มีความเห็นว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการตอบโจทย์ต่อการใช้งานและการเดินทางของทุก ๆ คน
เมื่อถามว่าราคาค่าโดยสารสายสีชมพูที่รัฐบาลกำหนดไว้ 15 – 45 บาทแพงหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 55 ตอบว่าแพงมาก หากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้โดยสารเห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายไม่ควรเกิน 27 บาท
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 91 ต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพูเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทเหมือนกับสายสีม่วงและสีแดง
“ผู้ตอบแบบสอบถามอยากได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู 20 บาท เนื่องจากขณะนี้ให้นั่งฟรีถึงวันที่ 3 ม.ค. 2567 เท่านั้นเองและหลังจากนั้นต้องจ่ายราคา 15 – 45 บาท ซึ่งอยากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในส่วนนี้” คงศักดิ์ระบุ
ทางด้านเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง สีม่วง สีชมพู สีเหลืองและสีน้ำเงิน ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องราคารถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โดยทุกคนต่างเห็นด้วยและสนับสนุนให้มีราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอด นอกจากนี้ยังต้องการให้ผลักดันการใช้ตั๋วร่วมเนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าครองชีพอย่างมาก
สำหรับปัญหาการใช้บริการที่ถูกสะท้อนจากตัวแทนผู้บริโภค เป็นเรื่องจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเขียวที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่สูงอายุ รวมถึงปัญหาการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถเมล์ เป็นต้นซึ่งบางสถานีไม่มีป้ายรถเมล์ให้ผู้โดยสารได้ใช้บริการต่อไปยังรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เชื่อว่า หากค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ราคา 20 บาทตลอดสายก็จะยังคงใช้บริการต่อไปและเชื่อว่าจะมีคนใช้บริการจำนวนมากขึ้น
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคผลักดันเรื่องรถไฟฟ้าราคา 20 บาททุกสายมาโดยตลอดและจะผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าต้นทุนค่าเดินรถไฟฟ้าอยู่ที่ 10.30 บาท และ 16.10 บาททำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทสามารถทำได้
การกำหนดค่าโดยสารในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยังช่วยให้เกิดการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยขณะนี้คนไทยใช้ขนส่งสาธารณะในปริมาณน้อยเพียงร้อยละ 24 – 25 เท่านั้น ขณะที่ประเทศมาเลเซียตั้งเป้าหมายในปี 2573 จะทำให้คนใช้ขนส่งมวลชนร้อยละ 40
นางสาวสารี กล่าวอีกว่า การกำหนดค่ารถไฟฟ้าราคา 20 บาท นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน แล้วยังช่วยลดปัญหามลพิษ ลดปัญหาโลกร้อน โลกเดือด ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้บีทีเอสมีแคมเปญแจกต้นไม้ฟอกอากาศ 4,000 ต้น เนื่องในโอกาสเปิดบริการกับผู้โดยสารครบ 4,000 ล้านเที่ยวคน ซึ่งบีทีเอสระบุว่าการจำนวนเที่ยวโดยสาร 4,000 ล้านเที่ยวคนนั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2.11 ล้านตันคาร์บอน หรือคิดเป็นปริมาณต้นไม้ที่ปลูกได้ถึง 222.22 ล้านต้น จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
“สภาผู้บริโภคสนับสนุนให้รถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทุกคนสามารถขนส่งมวลชนขึ้นได้ทุกวัน และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งนี้ การเข้าถึงขนส่งมวลชนต้องสะดวก สามารถเดินไปไม่เกิน 500 เมตร เจอขนส่งมวลชนสาธารณะ ดังนั้น เราจึงผลักดันในเรื่องค่ารถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ซึ่งจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุ
ด้าน อธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กรมรางฯ และผู้บริโภค มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเดินทางขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทมาอย่างต่อเนื่องและสามารถทำได้ดำเนินการสำเร็จใน 2 สายคือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากเป็นรถไฟฟ้าที่รัฐลงทุนและในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจะเปิดให้มีการเดินทางร่วมกันได้ระหว่างสายสีแดงและสายสีม่วง โดยไม่มีค่าแรกเข้าผ่านบัตร EMV ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ได้มีการประเมินผลของการดำเนินนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท โดยประเด็นเรื่องจำนวนผู้โดยสารพบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 20,000 คนเพิ่มขึ้นเป็น 26,097 คน ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงจากเดิมมีผู้โดยสารอยู่ที่ 56,979 คน เพิ่มขึ้น 64,803 คน
ส่วนการประเมินเรื่องรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนจะมีนโยบาย 20 บาทมีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ประมาณ 660,000บาท แต่หลังดำเนินการมีรายได้ลดลงมาเหลือประมาณ 500,000บาท ขณะที่ รายได้ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากเดิมวันละล้านบาท หลังดำเนินการเหลือประมาณ 600,000 บาท ดังนั้นรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทำให้เราต้องมาประเมินกันว่าจะเดินหน้านโยบายค่าโดยสาร 20 บาทต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการผลักดันในเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายต่อไปกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจากับเอกชนเพื่อเจรจาในส่วนรถไฟฟ้าที่ติดสัญญาสัมปทานว่าจะสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยในคณะกรรมการชุดนี้จะมีสภาผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนผู้บริโภค โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ส่วนมาตรการอื่น ๆ ในการผลักดันให้เกิดนโยบาย 20 บาททุกสาย นายอธิภู กล่าวว่าจะผลักดันนโยบายบัตร EMV เพื่อให้สามารถเดินทางร่วมกันได้ เพื่อลดค่าแรกเข้าครั้งเดียว ซึ่งได้มีการคุยกันในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายและมีแนวคิดเรื่องการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนค่าโดยสารและได้เข้าไปหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อนำเงินกองทุนน้ำมันมาเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่ทั้งหมดยังเป็นแนวคิดที่จะดำเนินการภายใต้หลักการค่าโดยสารของกรมการขนส่งทางราง ผู้บริโภคต้องเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม
รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การตีความว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม หรือใครได้ประโยชน์จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสายนั้นสามารถมองได้ 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกต้องมีระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางโดยรถไฟฟ้า เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่ห่างไกลจากสถานีรถไฟฟ้า ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาทเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น หากมีคนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการจราจรจะลดลงมาก
ติดตามงานเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/oFdtmEzlx7/