สภาผู้บริโภค ผนึก อย. ร่วมมือเชิงรุก เฝ้าระวังโฆษณาเกินจริง เร่งคุ้มครองผู้บริโภค

Getting your Trinity Audio player ready...

สภาผู้บริโภค ผนึกกำลังกับ อย. ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค หลังผู้บริโภคพบปัญหาโฆษณาเกินจริง การแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายล่าช้า พร้อมหารือผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่เน้นให้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนไป เตรียมอบรมแผนเฝ้าระวังและเตือนภัยในเครือข่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่รวดเร็ว จัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ทันท่วงที

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ได้หารือแนวทางการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขยายความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเด็นด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคพบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากต่างประเทศแต่ไม่มีการติดฉลากภาษาไทย หรือการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงจนส่งผลให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อไปรับประทาน

มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงประเด็นที่สภาผู้บริโภคนำมาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับ อย. นั้นมี 5 ประเด็น ได้แก่ 1. ให้การสนับสนุน อย. ในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาในกฎหมายฉบับเก่าอาจไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบริบทของสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 2. การผลักดันระบบเฝ้าระวังเตือนภัยที่ให้ภาคประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม หากพบประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงการแจ้งเบาะแสแหล่งผลิตหรือที่ตั้งของโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตที่อยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยที่ภาคประชาชนในท้องถิ่นสามารถร้องเรียนและแจ้งเตือนภัยเข้ามาในระบบเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทำให้เกิดการจัดการปัญหาได้อย่างฉับไว

3. เสนอให้ อย. เร่งผลักดันระบบฐานข้อมูลกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อข้อมูลและแจ้งเตือนภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและสามารถป้องกันตัวเองจากผลิตภัณฑ์อันตรายได้ 4. เสนอให้มีการหาแนวทางในการตรวจสอบและทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารทุกชิ้นที่นำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องมีการติดฉลากภาษาไทย และ 5. เสนอให้มีแนวทางการดำเนินการต่อผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่โฆษณาเกินจริงที่มีจำนวนมากที่ปรากฎในระบบออนไลน์ รวมทั้งการทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันโฆษณาเหล่านั้น และไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ผิดกฎหมาย

ด้าน ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค กล่าวถึงการทำงานของสภาผู้บริโภคที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน และช่วยเหลือให้คำปรึกษา เจรจา ไกล่เกลี่ย จนถึงการฟ้องร้องคดีหากผู้ประกอบการหรือหน่วยงานเพิกเฉย ในขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภคยังได้มีการส่งข้อเสนอการคุ้มครองผู้บริโภคถึงคณะรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแจ้งการละเลยการกระทำที่กระทบสิทธิผู้บริโภคไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเรียกร้องให้ อย. และกรมประมงเร่งชี้แจงมาตรการและแนวทางการป้องกันและตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น หลังมีข้อมูลว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วลงทะเล ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่าหากผู้บริโภครับประทานอาหารทะเลปนเปื้อนสารอันตรายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว สภาผู้บริโภคได้รับทราบว่า อย. ได้ออกมาให้ข้อมูลและแจ้งว่าได้ตรวจสอบแล้วตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นระบุว่าจะปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วลงทะเล แต่อย่างไรก็ตาม สภาผู้บริโภคมีความเห็นว่า อย. ควรอธิบายถึงรายละเอียดในการทำงานให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบมากกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ แจ้งว่า อย. มีขั้นตอนการตรวจสอบมีอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการของ อย. และเกิดความสบายใจในการบริโภคมากขึ้น

“เมื่อพบผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภค สภาผู้บริโภคหรือภาคประชาชนได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองได้รวดเร็ว และเราจะยิ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกร้องไปว่าได้รับการตอบกลับหรือมีการจัดการปัญหาอย่างไร ซึ่งหากข้อมูลที่ส่งไปไม่ครบถ้วน ก็เชื่อว่าเครือข่ายผู้บริโภคหรือเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ จะกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หน่วยงานต้องการ ทั้งนี้การที่ภาคประชาชนรายงานผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายหรือผลิตภัณฑ์อันตรายอาจถือได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถเป็นหูเป็นตาในการทำงานเฝ้าระวังร่วมกันให้กับหน่วยงานของรัฐได้” ภาณุโชติ กล่าว

ทั้งนี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า หนึ่งในอำนาจหน้าที่ของสภาผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 คือ การที่สภาผู้บริโภคสามารถจัดทดสอบและเฝ้าระวังสินค้าและบริการ รวมทั้งสามารถเปิดเผยชื่อผู้ประกอบการเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลตัดสินใจได้ ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนและนักวิชาการจัดการทดสอบและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายประเภท

ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว การสำรวจราคาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในประเทศไทยและราคาชุดตรวจโควิด19 (ATK) การเฝ้าระวังปัญหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาน้ำสมุนไพร ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาฟาวิพิราเวียร์ การเฝ้าระวังปัญหาการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายยี่ห้อทาคาตะ (TAKATA) ออกจากรถยนต์ การทดสอบระบบระบบเบรกเอบีเอส (ABS) ในรถจักรยานยนต์ การทดสอบหมวกนิรภัย การทดสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ การทดสอบสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท การเฝ้าระวังการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซีดาพ ที่มีรายงานว่าพบสารเคมีอันตรายปนเปื้อนในบะหมี่ หรือแม้แต่การร่วมมือกับกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ อย. เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้รับอนุญาตจำหน่ายหรือไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจาก อย. จำนวน 20 ตัว

จากข้อมูลข้างต้น สารีเน้นว่า หากเป็นการทดสอบหรือการเฝ้าระวังที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น อย.สามารถใช้ผลทดสอบของสภาผู้บริโภคไปดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องทดสอบใหม่ รวมถึงการดำเนินการต่อผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย การแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หรือการนำข้อมูลไปใช้เพื่อออกมาตรการหรือข้อบังคับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคต้องการเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการที่จะนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันได้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการสุ่มตรวจ เช่นในกรณีการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างสภาผู้บริโภคและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หลังจากที่สภาผู้บริโภคได้ทำการทดสอบความปลอดภัยของหมวกนิรภัยนั้น สภาผู้บริโภคได้ส่งข้อเสนอและผลทดสอบให้กับ สมอ. ซึ่ง สมอ. ได้นำผลทดสอบดังกล่าวไปดำเนินการต่อ

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญคือการติดตามเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคที่ส่งเข้ามายัง อย. ซึ่งสภาผู้บริโภคเสนอให้มีการจัดระบบใหม่ให้ปรับการติดตามเรื่องร้องเรียนในลักษณะเดียวกันกับการติดตามเส้นทางการส่งพัสดุ (Tracking) ว่าจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงสถานะเรื่องร้องเรียนได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนประเด็นพื้นที่ในการกำกับดูแลอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น หากเป็นพื้นที่ที่ อย. ไม่มีอาสาสมัครในการกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ท้องตลาด สภาผู้บริโภคจะช่วยดำเนินสำรวจดูว่า หากเป็นพื้นที่ที่สภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิกอยู่ก็อาจทำให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลมาให้กับ อย. เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาได้

ด้าน ตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) ปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยแพนมีการทดสอบการปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมีอันตรายในผักและผลไม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการทดสอบตามกระบวนการที่ได้มาตรฐานและการเก็บหลักฐานที่ครบถ้วน แต่เมื่อส่งผลทดสอบไปยัง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารเพื่อให้ดำเนินการกลับพบว่า อย. ต้องนำพืชผักผลไม้เหล่านั้นมาสอบอีกครั้งซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนให้กับ อย. ในขณะเดียวกัน การตรวจสอบซ้ำอีกครั้งกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคล่าช้าลงโดยไม่จำเป็น อีกสิ่งหนึ่งที่เครือข่ายไทยแพนต้องการเห็นคือระบบเฝ้าระวังด้านอาหารในประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพหากได้มีการปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกับระบบในทวีปยุโรปที่มีการแจ้งเตือนความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับคน และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Foods and Feeds : RASFF) โดยระบบดังกล่าวจะแจ้งข้อมูลแก่ประเทศที่เข้าร่วมในเครือข่าย RASFF ให้ทราบถึงความผิดปกติของสินค้าอาหารสำหรับคน และอาหารสัตว์ที่นําเข้าทางเมืองท่าต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปในกรณีที่พบว่าสินค้าเหล่านั้นมีความเสี่ยงโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสุขภาพมนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีการดําเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมต่อสินค้าอาหารนั้นต่อไป

ในการร่วมหารือครั้งนี้ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. พร้อมร่วมมือในทุกกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ร่วมกับภาคประชาชน รวมทั้งสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่าองค์กรภาคประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด และในอนาคตหากพบประเด็นปัญหาผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายจากการเฝ้าระวังสามารถส่งเข้าไปที่ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ได้ทันที ส่วนการดำเนินการต่อสินค้าที่โฆษณาเกินจริงนั้น อย. ยอมรับว่าจำนวนคนทำงานไม่เพียงพอกับปริมาณการโฆษณาเกินจริงที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น แต่ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นก็สามารถส่งเรื่องเข้าไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ อย. จะไปดำเนินการต่อทันที นอกจากนี้ อย. กำลังปรับปรุงระบบต่าง ๆ ที่มีความล่าช้าหรือทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ให้รวดเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นการผลักดันร่าง พ.ร.บ.อาหารฉบับใหม่นั้น นพ. ณรงค์ยืนยันว่าจะเสนอร่างดังกล่าวให้ ครม. พิจารณา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนั้นแล้ว นพ.ณรงค์ ระบุอีกว่า ปัจจุบัน อย. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการในการกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด (Post – Marketing) แล้วไปบางส่วน และต้องการให้สภาผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคช่วยพิจารณาร่วมเสนอความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ นพ. ณรงค์คาดว่าจะมีการสร้างความร่วมมือในการจัดทำแผนเฝ้าระวังและเตือนภัยร่วมกันระหว่าง อย. และเครือข่ายภาคประชาชน โดยถอดบทเรียนด้วยการอ้างอิงรูปแบบจากการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาผู้บริโภคและกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรของ อย. อย่างไรก็ตามหากองค์กรภาคประชาชนมีการจัดประชุม มีการเปิดเผยผลทดสอบหรือผลการเฝ้าระวัง อย. ก็ยินดีที่จะเข้าก็ยินดีที่จะเข้าไปร่วมแถลงข่าว เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค