สภาผู้บริโภค จี้ อย. ตรวจสอบ – ปรับปรุงระบบ Post-Marketing เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลังแจ้งเตือนภัย “นมผงเด็กเอนฟาโกร เอพลัส ” ล่าช้า 7 เดือนจนนมหมดอายุ และเปลี่ยนผลทดสอบ สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเตือนผลิตภัณฑ์ “เอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล” รุ่นวันผลิต 5 เมษายน 2565 ควรบริโภคก่อน 5 ตุลาคม 2566 ว่าผลิตภัณฑ์นมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมเนื่องจากผลตรวจเนื้อนมไม่รวมไขมันต่ำกว่ามาตรฐาน และต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 อย. ได้ออกประกาศทผลทวนสอบผลิตภัณฑ์นมผงดังกล่าว โดยระบุว่าได้มาตรฐานไม่ใช่อาหารปลอม ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคจำนวนมากนั้น (อ้างอิง : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4234192)
วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ภ.ก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการ อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า ปัญหาการการสื่อสารแจ้งเตือนภัยที่เกิดขึ้นของ อย. สะท้อนว่า การกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดหรือ Post-marketing ในเรื่องการแจ้งเตือนภัยของ อย. มีปัญหาทั้งความล่าช้า ไม่ชัดเจน และสร้างความสับสน ดังนั้นจึงเสนอให้ อย. ปรับปรุงระบบการกำกับดูแลหลังผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ควรตรวจสอบสาเหตุของความล่าช้าในการเตือนภัยที่เกิดขึ้น และเร่งพัฒนาระบบการทำงานระหว่าง อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สามารถกำหนดแจ้งเตือนภัยในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์นมเอนฟาโกร เอพลัส มายด์โปร ดีเอชเอ พลัส เอ็มเอฟจีเอ็ม โปร 4 วิท ทู-เอฟแอล ถือว่าระบบกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาดที่ผิดพลาด ภ.ก.ภาณุโชติ ตั้งข้อสังเกตในการทำงานของ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ใน 2 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือ การแจ้งเตือนที่ล่าช้าจนนมผงหมดอายุ โดยพบว่า อย. ได้ส่งตรวจตัวอย่างนมให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานผลการตรวจในเดือนมีนาคม 2566 แต่ อย. ออกประกาศแจ้งเตือนผลการตรวจเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ว่าผลตรวจนมต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่นมยี่ห้อดังกล่าวหมดอายุไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566
“สิ่งที่น่าสงสัยต่อระบบแจ้งเตือนของ อย. ว่าทำไมล่าช้ากว่า 7 เดือนนับจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจ้งผลตรวจสอบจนนมผงหมดอายุไปแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาจากเจ้าหน้าที่ตกหล่น หรือ อาจจะเป็นความจงใจ หรือรู้เห็นเป็นใจกับบริษัทหรือไม่ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องตรวจสอบถึงสาเหตุของการแจ้งเตือนล่าช้า” ประธานอนุกรรมการอาหารฯ ระบุ
ส่วนประเด็นที่สอง คือ การแจ้งผลทวนสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่านมผงยี่ห้อดังกล่าว ได้มาตรฐานนั้น ไม่สามารถจะหักล้างการแจ้งเตือนล่าช้าในประเด็นแรกได้ แต่กรณีดังกล่าวสะท้อนการทำงานระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย .ในการแจ้งเตือนภัยกับประชาชนว่ามีปัญหาผิดพลาดและสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคมาก
“ผมคิดว่า อย. มีความพยายามออกมาแก้ข่าว โดยการออกผลทวนสอบว่าไม่มีปัญหา นมผงได้มาตรฐานไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค แม้ว่าจะออกมาแจ้งเตือนภัยช้า 7 เดือน จนผลิตภัณฑ์หมดอายุไปแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ผมคิดว่า ไม่สามารถที่จะกลบความผิดพลาดของระบบแจ้งเตือนภัยว่ามีปัญหาได้เลย” ภ.ก.ภาณุโชติกล่าวทิ้งท้าย
#ผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #นมผงเด็ก #นมหมดอายุ