ข้อเสนอต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก ตามโครงการ “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สถานการณ์

โครงการ “VACC 2 School” เป็นโครงการที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศนำร่องฉีดวัคซีนบริจาค “ซิโนฟาร์ม” ให้กับอาสาสมัครเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 10 – 18 ปี เพื่อศึกษาความปลอดภัยภายหลังการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม BBIBP-CorV (Sinopharm)

ขณะที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ออกคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เฉพาะที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และให้ฉีดในเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งวันที่ 22 กันยายน 2564 มีวัคซีนเพียงชนิดเดียวที่มีในประเทศไทย คือ ชนิด mRNA ของ Pfizer=BioNTech สำหรับวัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนฟาร์ม และซิโนแวค อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อมูลเรื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในเด็ก และขณะนี้ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น


การดำเนินงาน

1. ทำหนังสือถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสอบถามการคุ้มครองผู้บริโภคจากการเข้าร่วมโครงการวิจัยวัคซีน 

2. ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสอบถามเรื่องสิทธิในการรักษาและการช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กับกลุ่มบุคคลอายุ 10 – ต่ำกว่า 18 ปี ตามโครงการ VACC 2 School


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

เสนอให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่กำลังดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าว ให้มีการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยและให้ความสำคัญกับความคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ที่มาเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ เพื่อให้โครงการวิจัยเป็นประโยชน์และเคารพสิทธิผู้เข้าร่วมวิจัยได้อย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 

1. ขอให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจ้งรายละเอียดโครงการและรายละเอียดการได้รับอนุมัติให้วิจัยในมนุษย์ 

2. ผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมงานวิจัยทั้งผู้ปกครอง เยาวชนที่อายุมากกว่า 12 ปี และต่ำกว่า 12 ปี จะต้องได้รับคำอธิบายว่า มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการเข้าร่วมและไม่มีข้อห้ามในการเข้าร่วมโครงการ ในภาษาที่เหมาะกับความเข้าใจของกลุ่มอายุ และเข้าใจถึงสิทธิที่จะขอออกจากโครงการวิจัยได้ตลอดเวลา

3. นักวิจัยและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จะต้องเคารพความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

4. ต้องชี้แจงอย่างชัดเจนว่า โครงการวิจัยจะตอบแทน และ/หรือรับผิดชอบกรณีเกิดผลไม่พึงประสงค์อย่างไร เช่น ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล การรับส่งผู้ป่วย ค่าป่วยการ (ถ้ามี)


ความคืบหน้า

1. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดให้ผู้เข้าฉีดวัคซีนทุกรายได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ โดยดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนข้อกฎหมายและตามมาตรฐานวิจัยสากลแล้ว

2.  กรณีเกิดความเสียหายจากการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) พ.ศ.2564)

3. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ infographic เช็กก่อนตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร “งานวิจัยฉีดวัคซีน” ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคทราบ