ข้อเสนอต่อปัญหาระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สถานการณ์
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาภาระหนี้สินค้างจ่ายของกรุงเทพมหานคร กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในกรณีค้างค่าจ้างเดินรถ และค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าเครื่องกล รวมกว่า 30,000 ล้านบาท ที่ถูกนำไปเป็นเงื่อนไขในการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินดังกล่าว จนถูกตั้งคำถามจากสาธารณชนว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนหรือไม่ ด้วยยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงถึงหลักคิดต้นทุนการประกอบการ และไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากกรุงเทพมหานคร เพราะเมื่อราคาค่าโดยสารไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของค่าแรงขั้นต่ำ ขาดระบบสนับสนุนการเข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนของผู้บริโภค เช่น การจัดระบบตั๋วร่วม การยกเว้นค่าแรกเข้า การใช้ค่าโดยสารตารางเดียว ซึ่งจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนเกิดวิกฤตปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีทางแก้ไขได้เลย
อย่างไรก็ดี ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย เป็นธรรมของผู้บริโภคยังมีปรากฎอยู่ ในระบบบริการขนส่งมวลชนหลายประเภท โดยหากผู้บริโภคต้องเดินทางด้วยบริการขนส่งมวลชนพื้นฐานที่จำเป็น เช่น รถไฟฟ้า จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 26 – 28% เมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำต่อวัน หรือหากใช้รถเมล์ ขสมก. ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 15 – 16% โดยที่ยังไม่รวมบริการขนส่งมวลชนประเภทอื่น เช่น รถเมล์ร่วมบริการ รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถสองแถว รถแท็กซี่ และรถตู้โดยสาร
อีกทั้งจากปัญหาการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชนที่ไม่มีคุณภาพ ราคาค่าบริการแพง และไม่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเพื่อการเดินทางมากถึง 43% และใช้บริการขนส่งมวลชนเพียง 24% โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพียง 2.68% เท่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่ ในส่วนภูมิภาค ยังขาดการรวบรวมข้อมูลสัดส่วนการใช้ระบบบริการขนส่งมวลชน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้างของประเทศ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านการเข้าถึงบริการขนส่งมวลชน ที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้บริโภคในปัจจุบัน
การดำเนินงาน
- วันที่ 12 เมษายน 2564 สภาผู้บริโภคมีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและ ครม. เพื่อยื่นข้อเสนอแนะนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการขนส่งมวลชน กรณีรถไฟฟ้าหลากสี และกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- สภาผู้บริโภค มีข้อเสนอถึงประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเสนอคณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีสาระสำคัญในการขอให้นายกรัฐมนตรีและ ครม. มีมติไม่อนุมัติต่อสัญญา สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอให่้รัฐบาลดำเนินการศึกษาวางแผนในภาพรวมของระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 สภาผู้บริโภค มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
1. จัดทำข้อเสนอต่อ ครม. ให้รถไฟฟ้าหลากสีในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เป็นบริการสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้ โดยกำหนดให้ใช้อัตราค่าโดยสารเดียวกัน กำหนดราคาสูงสุด การใช้บริการรถไฟฟ้าทั้งระบบให้มีค่าบริการไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ หรือเป็นเพดานค่าใช้จ่ายสูงสุดในการใช้บริการขนส่งมวลชนต่อวันของประชาชน
2. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว จัดทำข้อเสนอต่อ ครม. กระทรวงคมนาคม และกรุงเทพมหานคร ให้ยุติแผนการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากยังมีเวลาของสัญญาสัมปทานอีก 8 ปี ก่อนที่จะหมดสัญญา เพื่อให้มีโอกาสพิจารณาแนวทางหรือทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า และจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่
3. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวของคณะทำงานศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.มีมติไม่อนุมัติต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และขอให้รัฐบาลดำเนินการศึกษาวางแผนในภาพรวมของระบบขนส่งมวลชนของ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และนำผลการศึกษาเพื่อพิจารณาหาแนวทางการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสม
4. จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ “ร่าง” พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ต่อผู้อำนวยการ สนข. โดยมีสาระสำคัญในการเสนอเพิ่มเลขาธิการ สภาผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภค เป็นกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม และเพิ่มองค์ประกอบความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น
ความคืบหน้า
อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ