นโยบาย รถรับส่งนักเรียนฟรีทั่วไทย เดินทางปลอดภัย 100%
สถานการณ์
จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระบุว่า ในปี 2565 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ระยะเวลา 8 เดือน มีอุบัติเหตุทางถนนและความไม่ปลอดภัยกับรถรับส่งนักเรียนมากถึง 26 ครั้ง หรือเดือนละ 3 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 252 ราย หรือรุนแรงมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ถึง 3 เท่า โดยรถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ประเภท รถตู้โดยสาร รถกระบะดัดแปลง และรถโดยสารขนาดใหญ่ประเภท 4 ล้อ และ 6 ล้อ ที่มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรม และที่สำคัญรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากยังเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียนประจำจังหวัด
ขณะที่กฎหมายกำหนดให้รถที่นำมารับส่งนักเรียนต้องเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คนแต่ไม่เกิน 12 คน (รย.2) ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 หรือ รถยนต์ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งนี้จากข้อมูลจดทะเบียนกรมการขนส่งทางบก วันที่ 5 กันยายน 2565 ระบุว่า มีรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 4,497 คัน ขณะที่ประมาณการว่าจะมีรถรับส่งนักเรียนบนท้องถนนมากกว่า 50,000 คันทั่วประเทศ หรือมีรถรับส่งนักเรียนมากกว่า 45,000 คัน ที่รับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือเท่ากับมีนักเรียนมากกว่า 540,000 คน (เปรียบเทียบรถรับส่งนักเรียน 1 คัน บรรทุกนักเรียน 12 คน ตามกฎหมายกำหนด) ที่มีความเสี่ยงในการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ความปลอดภัย ทั้งนี้ การที่ผู้ขับรถรับส่งนักเรียนไม่นำรถที่ใช้มาขื้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตนั้น นอกจากจะทำให้กรมการขนส่งทางบกไม่มีข้อมูลจำนวนรถรับส่งนักเรียนที่แท้จริงแล้ว ยังส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในแต่ละภาคการศึกษา รวมถึงเป็นปัจจัยหนุนเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ใช้รถผิดประเภท หลีกเลี่ยงจัดทำประกันภัย ประมาทเลินเล่อ ลืมเด็กไว้ในรถ ตลอดจนดัดแปลงสภาพรถเพื่อให้รับนักเรียนได้มากขึ้น ประกอบกับเมื่อในหลายพื้นที่ของประเทศไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการที่เหมาะสมเพียงพอจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผลักดันให้นักเรียนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางแทน และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ขณะเดียวกันยังมีนักเรียนจำนวนมากเลือกที่จะใช้รถรับส่งนักเรียนในการเดินทางโดยไม่รู้ถึงความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน
นอกจากนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังฯ พบอีกว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ให้บริการรับส่งนักเรียนครั้งละหลายโรงเรียนในคราวเดียวกัน ทั้งในเส้นทางพื้นที่อำเภอเดียวกัน ระยะทางไกลระหว่างอำเภอ และระหว่างจังหวัดในบางเส้นทาง ด้วยค่านิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของตัวอำเภอหรือจังหวัด รวมถึงปัญหาต่อเนื่องจากนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ ตอกย้ำข้อมูลความเสี่ยงจากรถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัยที่พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ขาดการรับรู้ข้อมูลสถานการณ์เสี่ยง และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่วมกำกับดูแลความปลอดภัยของนักเรียน รวมถึงบุคลากรครูของโรงเรียนและผู้ขับรถรับส่งนักเรียนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้รถรับส่งนักเรียนของนักเรียน
อีกทั้งหากจะพัฒนารถรับส่งนักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย ผู้ขับรถรับส่งนักเรียนจำเป็นต้องมีงบประมาณเพื่อลงทุนในการปรับปรุงสภาพรถ จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพรถรับส่งนักเรียนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ยังไม่มีนโยบายอุดหนุนค่าเดินทางสำหรับรถรับส่งนักเรียนอย่างต่อเนื่องให้กับนักเรียนทั่วประเทศ ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียงลำพัง กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ขณะที่บางแห่งค่าบริการรถรับส่งนักเรียนรวมแล้วมีอัตราแพงกว่าค่าเทอมที่ต้องจ่ายแต่ละภาคการศึกษา อย่างไรก็ดี หากต้องการให้นักเรียนทุกคนได้รับบริการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยอันเป็นสิทธิการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับเสมอภาคกันอย่างเท่าเทียม รัฐจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนและบริหารจัดการเป็นค่าเดินทางเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่ต้องแบกรับไว้บางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสและช่องทางให้นักเรียนสามารถเดินทางระหว่างบ้านและโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถรับส่งนักเรียนและระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ
การดำเนินงาน
จัดทำข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 และยื่นข้อเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566
ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค
ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภค วันที่ 15 มีนาคม 2566
ข้อเสนอด้านงบประมาณ
1) จัดสรรงบประมาณ (เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว) ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นค่าเดินทาง (รถรับส่งนักเรียน) ให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาให้กับนักเรียนทุกคนให้มีมาตรฐานและคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
2) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณและบริหารจัดการระบบความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ใช่เฉพาะโรงเรียนในสังกัด เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยของนักเรียนที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียน และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของนักเรียนทุกคน
ข้อเสนอด้านคุณภาพมาตรฐานรถรับส่งนักเรียน
3) จัดให้มีรถรับส่งนักเรียนที่มีมาตรฐานความปลอดภัย 20,000 คัน ทั่วประเทศภายในสองปี โดยรัฐจะอุดหนุนงบประมาณเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ให้บริการนำรถขึ้นทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน เช่น การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวแบบดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับปรุงสภาพรถ การลดหย่อนภาษีรถยนต์ประจำปี และประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและภาคสมัครใจแบบคนละครึ่ง เป็นต้น
ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
วันที่ 8 สิงหาคม 2566 ขอให้ข้อเสนอทางนโยบายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพื่อบูรณาการความร่วมมือและยกระดับคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ความคืบหน้า
อยู่ระหว่างการติดตามข้อเสนอแนะ