นักวิชาการ – พรรคการเมือง – ภาคประชาชน เรียกร้องรัฐบาล เปลี่ยนเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เป็นสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน
หลังจากรัฐบาลเศรษฐาได้ประกาศใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาทเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเลตแจกเงินจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแต่ไม่มีความชัดเจนในการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการ รวมทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สภาผู้บริโภคจึงร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ “การบ้านรัฐสวัสดิการในรัฐบาลเศรษฐา”
โดยมี สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล เดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม และสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเสวนาด้วย
รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แนวคิดเรื่องสวัสดิการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งสมัยที่เป็นรัฐบาลไทยรักไทยไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องรัฐสวัสดิการ ทั้งเรื่องการให้สวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า การสนับสนุนเงินให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีที่ยากจนและต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทั้งที่จัดสรรเงินการช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มเปราะบางหรือค่อนข้างที่จะมีรายได้ต่ำซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ
“ควรพิจารณาปรับการใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท นำไปแจกให้กับเด็กและผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีมีรายได้และการออมกว่าต่ำค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี และคาดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าการแจก 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต” รศ. ดร. ชัยรัตน์กล่าว และเน้นว่าคนที่รายได้ค่อนข้างต่ำมีแนวโน้นจะใช้เงินเพื่อบริโภคทันทีในสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าแจกคนละ 10,000 บาทที่มีบางส่วนไม่นำไปจับจ่ายทันที อีกทั้งยังเห็นว่าจะทำให้ได้กลุ่มที่เดือดร้อนจริง ๆ
ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์นโยบายของพรรคเพื่อไทยพบว่า นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการไม่ใช่ ‘นโยบายเรือธง’ ของพรรค เนื่องจากพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าถ้าเศรษฐกิจดีคุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้นด้วย ดังนั้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 1 ปีหรือมากกว่า เพื่อดูว่าหากเศรษฐกิจดีขึ้นพรรคจะให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นหรือไม่
ดร.สมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะเคยออกนโยบายเรื่องบัตรทอง ทำให้คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปเรื่องรูปแบบของสวัสดิการแล้ว จะพบว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนไม่ชัดเจนว่าขับเคลื่อนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า หรือสวัสดิการแบบเจาะจง เช่น บำนาญผู้สูงอายุ เงินสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น
“ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยดูจังหวะว่าเมื่อไหร่ควรจะเป็นถ้วนหน้า เมื่อไหร่ควรจะเป็นเจาะจง ขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนทางการเมือง อะไรได้ผลประโยชน์สูงสุดสำหรับเขา จะสังเกตว่านโยบายเลือกตั้งไม่ได้มีการระบุว่าจะไปทางไหนกันแน่ เรื่องเบี้ยยังชีพก็ยังไม่ชัดเจน แม้กระทั่งปัจจุบันที่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้พูดถึงนโยบายสวัสดิการเลย อย่างน้อยอาจจะไม่พูดไปอีก 1 – 2 ปี เพราะไม่มีเงินแล้ว” ดร.สมชัยกล่าว
ดร.สมชัย แสดงความเห็นว่า หากจะเดินหน้านโยบายสวัสดิการต้องปฏิรูประบบภาษีเพื่อนำเงินเข้ารัฐให้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุจึงต้องคิดเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ใช้แนวทางดังกล่าวเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อกลุ่มทุน อีกทั้งพรรควิสัยทัศน์เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมองว่าหากทำให้เศรษฐกิจเติบโตจะสามารถแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องขึ้นภาษี และสามารถตอบโจทย์ทุกเรื่องได้
ด้าน นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair กล่าวว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P-move) ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเศรษฐา โดย 1 ใน 10 ข้อเสนอมีเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าโดยมี 9 ประเด็นสำหรับชุดข้อเสนอสวัสดิการถ้วนหน้า ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ครอบคลุมเรื่องเด็ก การศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย แรงงาน ประกันสังคม บำนาญ สวัสดิการเสมอหน้าเท่าเทียมเกี่ยวกับเรื่องคนพิการ การเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้สำหรับคนข้ามเพศ และการปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเครือข่าย We Fair ได้ยื่นการบ้านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับพรรคการเมืองทั้งหมด 14 พรรค ซึ่งขณะนี้คาดว่าพรรคการเมืองหลายพรรคกำลังถกเถียงกับผู้สมัครนายกของพรรคตัวเอง เนื่องจากตอนลงสมัครหาเสียงไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่พอมาเป็นนโยบายรัฐบาลกลับไม่ได้ระบุชัดเจน พอย้อนไปดูนโยบายรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์เปรียบเทียบกับนโยบายปัจจุบัน จะเห็นว่านโยบายสมัยยิ่งลักษณ์ได้ระบุไว้ว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 600 – 1,000 บาทและนโยบายค่าแรง 300 บาท แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่ชัดเจนใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นิติรัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นความยากจน หรือเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อวัดความยากจนต่อคนต่อเดือน อยู่ที่ 2,803 บาท แต่คนจนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศมีทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้านคน และมีคนเกือบจนอีก 4.8 ล้านคน เหล่านีเคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เครือข่าย We Fair จึงเสนอให้รัฐจัดสวัสดิการผู้สูงอายุที่ 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้มากกว่าเส้นความยากจน
นิติรัฐกล่าวอีกว่าดิจิทัลวอลเลตมักถูกเชื่อมโยงกับแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เจตจำนงค์ของดิจิทัลวอลเลตนั้นไม่ใช่การแก้ความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไปได้บ้างแต่ก็ไม่มากเท่านโยบายที่จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างแท้จริง
“ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนมีประมาณร้อยละ 90 ของจีดีพี ขณะที่ตอนนี้เรามีเศรษฐี 40 ครอบครัว ที่มีทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ28 ของจีดีพีทั้งประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ตอนนี้เรือธงของพรรคเพื่อไทยก็คือจะใช้สิ่งที่เป็นความล้มเหลวมาตลอดคือ รวยกระจุกจนกระจายมาผลิตซ้ำผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเป็นปัญหา เราต้องมาดูเศรษฐศาสตร์ที่ควบคู่กับไปเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการ” นิติรัฐกล่าว
นิติรัฐ กล่าวต่อไปว่า การให้บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท ใช้งบประมาณอย่างมาก 300,000 – 400,000 ล้านบาทต่อปี และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทุกเดือนเดือนละประมาณ 30,000 ล้านบาททันที นอกจากนี้ยังส่งผลให้แรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกหลานซึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุไม่ต้องทำงานล่วงเวลา หากสมมติว่าได้ค่าแรงชั่วโมงละ 100 บาทจะมีเวลาอยู่กับบุตรหลานหรือคนในครอบครัวมากขึ้นอย่างน้อย 30 ชั่วโมง นี่คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง
ถ้ามีเงิน 560,000 ล้านบาทตั้งเป็นหลัก เราจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า 3 อย่างทันทีได้แก่ 1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน 2. เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน 3. สวัสดิการเงินอุดหนุนผู้พิการ และเมื่อมีการเกิด เด็กที่เกิดมาจะได้ 3,000 บาทถ้วนหน้า ตอนนี้อัตราการเกิดของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราการตายของประชากร
เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสามกลุ่มประชากรนี้อย่างถ้วนหน้าทันทีด้วยงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ซึ่งนิติรัฐชี้ว่า ในระยะเริ่มต้นอาจจะปรับเป็นการจ่ายถ้วนหน้าในปีแรก 1,000 บาทต่อเดือนในทุกกลุ่ม ซึ่งจะทำให้รัฐมีเงินเหลืออีก 12,000 ล้าน ซึ่งอาจนำไปเพิ่มในส่วนงบประมาณรายหัวให้กับผู้รับสิทธิบัตรทองได้ด้วย
ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องหารือกับรัฐบาล เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้อาจจะดูเหมือนว่าทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่ในความเป็นจริงวิธีการใช้เงินของประชาชนหากได้เงิน 10,000 บาทที่ต้องใช้ให้หมดภายในหกเดือน เมื่อเทียบกับการที่ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาททุกเดือนนั้ จะพบว่าวิธีการใช้เงิน และการวางแผนใช้เงินก็จะต่างกัน หากประชาชนทั่วไปได้รับเงินในระยะสั้นคราวเดียว อาจจะนำไปใช้ในลักษณะที่เป็นการซื้อสินค้าที่ไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นการไปใช้ซื้อสินค้าที่อาจจะไม่ใช่สินค้าจำเป็น
“แต่ถ้าเราได้ 3,000 บาททุกเดือนและเราก็จะเริ่มวางแผนว่าแต่ละเดือนเราจะมาใช้ในการบริโภค การปรับปรุงคุณภาพชีวิต หรือลงทุนอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควรคุยกับรัฐบาลว่าตัวเลขควรจะเป็นเท่าไรเนื่องจากไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังต้องยืนยันในหลักการถ้วนหน้าของผู้สูงอายุที่จะต้องได้รับโดยไม่ต้องพิสูจน์ความจน ทั้งนี้ ถึงเวลาที่นโยบายเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการควรจะออกมาเป็นกฎหมายเฉพาะแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางพรรคก้าวไกลก็เตรียมที่จะยื่นข้อเสนอกฎหมายในเรื่องนี้” ดร.เดชรัต กล่าว
ด้านเดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า นโยบายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้อายุ 3,000 บาทอยู่ในแนวคิดของพรรคเป็นธรรมที่ต้องทำ แต่มองไปไกลว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้ โดยเชื่อว่าคนที่มีอายุ 60 ปียังสามารถทำงานได้
“ส่วนตัวคิดว่าสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่รัฐต้องจัดสรรให้ แต่กลับเป็นสิ่งที่รัฐไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานความมั่นคงกลับมีงบประมาณในการเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ปีละ100 ล้านสำหรับบินจากภาคหนึ่งมากรุงเทพฯ ดังนั้นรัฐบาลอย่าบอกว่าไม่มีงบประมาณ เราจะมีโครงสร้างใหญ่โตจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ถ้าคนในประเทศเราอ่อนแอ เราจะไปสู้กับประเทศอื่นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะทวงสิทธิ์ของเราคืน ต้องเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารประเทศให้เห็นความสำคัญของเรื่องสวัสดิการ” เดโชนุชิตกล่าว
สำหรับสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนวิธีมองกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากในอนาคตผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น พม. จึงอาจต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากและรัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณและอุดหนุนเต็มที่
“ควรจัดลำดับใหม่ว่างบผู้สูงอายุควรจะอยู่ที่กระทรวง พม. ที่เดียว แล้วให้กำหนดชัดเจนมาจากสำนักงบประมาณเลย เนื่องจากตอนนี้เบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่มหาดไทย และต้องใช้วิธีตั้งเบิกตามช่วงเวลา ที่ให้มีปัญหาในการจัดการและพัฒนาในภาพรวม” สงกรานต์กล่าว
สุดท้ายสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคสนับสนุนเรื่องบำนาญถ้วนหน้าและคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเรื่องหนึ่งที่ถูกระบุอยู่ในสิทธิผู้บริโภคสากล และเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญคือสิทธิในการเข้าถึงการบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าวยังไม่ได้ถูกบรรจุเป็นสิทธิผู้บริโภคของไทย
ปัจจุบันสภาผู้บริโภคกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็่นเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน
“หลักการก็คือ เราไม่ได้ห้ามผู้สูงอายุไม่ให้ทำงาน หากผู้อายุอยากจะทำงานก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เมื่อสูงอายุแล้วยังจำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ถ้าอยากมีสัดส่วนผู้สูงอายุไปทำงานในหน่วยงานก็เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน แต่ถ้ารู้สึกว่าอายุ 60 แล้วจะไม่ทำงานและขออยู่ที่บ้าน รัฐก็ควรที่จะช่วยสนับสนุนให้มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ” สารีระบุ
สารีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท หากจัดสรรให้ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คนละ 3,000 บาทก็จะใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรมาให้ประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณแผ่นดินของทุกปีสำหรับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ
“เราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจริง ๆ ทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาทสูงกว่า 2,804 บาทซึ่งเป็นเส้นความยากจน ก็น่าจะเรียกว่าเซฟตี้เนตของครอบครัว อย่างน้อยเมื่อลูกตกงานกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ สร้างความมั่นคงทางรายได้ แทนที่เราจะต้องมีโครงการพิเศษหรือการใช้เงินพิเศษทุกครั้งที่เกิดปัญอย่างกรณีโควิด 19 ซึ่งเราควรจะทลายคำถามนี้นะว่าแล้วเราจะเอาเงินมาจากไหน บางคนก็บอกว่าอันนี้เป็นหน้าที่เราที่จะคิดไหมว่าเงินมาจากไหน คุณเป็นรัฐบาล คุณจะต้องคิดในเรื่องเหล่านี้ เพราะการสร้างหลักประกันให้คนเป็นเรื่องสำคัญ”สารีกล่าว