การประชุมคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2566 ซึ่งมี ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายและประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบในการจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ที่ใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้คำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน
ให้กระทรวงพลังงานและ กกพ. ปรับโครงสร้างราคา Pool Gas ใหม่ โดยให้นำปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วย จะทำให้ราคา Pool Gas ลดลงได้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทต่อปี ให้ กกพ. ประกาศราคารับซื้อไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านด้วยการยอมให้มิเตอร์หมุนย้อนกลับในช่วงเวลากลางวันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และนำมาหักลบกับไฟฟ้าจากสายส่งที่ใช้ในช่วงเวลากลางคืนได้
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเห็นชอบให้ติดตามข้อเสนอที่ยังไม่มีความคืบหน้าคือ การหยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หยุดเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ การจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบอัจฉริยะเพื่อ แก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกิน ตลอดจนให้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น และให้มีการเจรจาต่อรองปรับปรุงสัญญากับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อลดค่าซื้อไฟฟ้าและค่าความพร้อมจ่าย
รวมถึงให้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น ให้อายุสัญญามีความยืดหยุ่น (flexibility) และให้รัฐบาลเคารพและเร่งรัดการปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากที่ประชุม COP27 พร้อมกับให้มีการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐที่ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงด้วยอีกทางหนึ่ง
สำหรับแผนงานศึกษาวิจัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงาน คณะอนุกรรมการฯ ได้เห็นชอบแผนงานศึกษาวิจัย 3 เรื่องคือ 1.ศึกษาการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 หรือไม่ 2. งานวิจัยเรื่อง บทเรียนการใช้นโยบาย Net Metering ในต่างประเทศเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทย และ 3. การศึกษาเกี่ยวกับแนวคิด/นโยบาย/ผลกระทบจากคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นการฟอกเขียวประเภทหนึ่ง และมอบหมายให้สำนักงานสภาผู้บริโภคดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2566 นี้