สภาผู้บริโภค – ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาสินค้าแพงไม่ถูกจุด เรียกร้องนายกรัฐมนตรีรื้อโครงสร้างราคาน้ำมัน คุมราคาค่าการตลาดไม่เกิน 2 บาท และปรับราคาหน้าโรงกลั่นให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จจริง หวังแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงในระยะยาว
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 รัฐบาลมีมติลดราคาน้ำมันดีเซลและปรับลดราคาค่าไฟฟ้า โดยน้ำมันดีเซลลดราคาลง 2.50 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาดีเซลเหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่วนค่าไฟฟ้าปรับลดลงเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ซึ่งการปรับลดราคาน้ำดีเซลและไฟฟ้านั้นทำให้ต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง แต่ราคาสินค้าหลายรายการกลับไม่ได้ลดลงตามต้นทุน นั้น
วันนี้ (13 ตุลาคม 2566) สภาผู้บริโภคได้จัดรายการ ‘เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร’ ในหัวข้อ “อย่าปล่อยให้รอเก้อ น้ำมันลด สินค้าต้องลง” ถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊กสภาองค์กรของผู้บริโภค และ ยูทูบ @tccthailand เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างยั่งยืน
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าลง เพื่อปรับลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับผู้ประกอบการ 288 ราย สำหรับสินค้าที่นำมาลดราคา ประกอบด้วย 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มกว่า 3,000 รายการ อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแห้ง ข้าสาร นม ถั่วเหลือง กาแฟ ซอสปรุงรส ปุ๋ยเคมีและอาหารสัตว์ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มบริการ เช่น รถยนต์ บริการทางการแพทย์ และค่าขนส่ง ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มแพลตฟอร์มสั่งอาหารและอีคอมเมิร์ซรายการ
ส่งผลให้ปรับลดราคาสินค้าและบริการได้รวมทั้งสิ้น 151,676 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 87 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ให้โค้ดส่วนลดเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการสั่งอาหารและซื้อสินค้าออนไลน์ รวม 1,012,000 รายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2566 หรือประมาณ 3 เดือน
ร้อยตรีจักรา ยอมรับว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องลดราคาสินค้า จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือจาผู้ประกอบการเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่หากผู้บริโภคพบราคาสินค้าที่แพงเกินสมควร มีกฎหมายในเรื่องของการค้ากำไรเกินควรที่มีโทษสูง ดังนั้นผู้บริโภคที่พบราคาสินค้าแพง หรือ ถูกค้ากำไรเกินควรสามารถแจ้งมาที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อดำเนินการได้ทันที
ขณะที่ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การลดราคาสินค้าในบางรายการของกระทรวงพาณิชย์เป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาต้นทุนราคาสินค้าที่ไม่ตรงจุด เพราะต้นตอของปัญหามาจากต้นทุนราคาน้ำมัน โดยเฉพาะโครงสร้างราคาน้ำมันที่เอื้อให้กั ผู้ประกอบการและผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานต้องเข้าไปควบคุมราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ให้ไม่เกิน 5 – 10 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพื่อให้โรงกลั่นได้จ่ายเบี้ยประกันฟรี และค่าการตลาดน้ำมันไม่ให้เกิน 2 บาทต่อลิตรตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลักล้านล้านบาทและอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกฎหมายพลังงานให้ข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาบริษัทน้ำมันได้ ดังนั้นจึงตั้งคำถามไปยัง นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติว่าเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหานี้หรือไม่ ทั้งนี้ หากเห็นความสำคัญสามารถสั่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันได้ทันที
“ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ไม่เคยเข้าไปควบคุมค่าการตลาดของน้ำมัน แม้ว่าจะมีมติกบง. ควบคุมไว้ที่ 2 บาทต่อลิตร แต่ปล่อยให้ค่าตลาดน้ำมันสูงถึง 3 – 4 บาท ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบอย่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงานบอกว่าไม่มีอำนาจในการควบคุม และสุดท้ายการแก้ปัญหาราคาน้ำมันจะไปจบที่การนำเงินกองทุนน้ำมันมาอุ้ม ซึ่งเงินกองทุนน้ำมันคือการนำเงินจากคนที่เติมเบนซินไปอุ้มน้ำมันดีเซลซึ่งคือภาษีของประชาชน จึงอยากตั้งคำถามว่าสาเหตุที่ไม่ควบคุมราคาหน้าโรงกลั่นและค่าการตลาด เป็นเพราะเกรงว่าจะไปทำให้กำไรของเอกชนลดลงใช่หรือไม่”ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ
เช่นเดียวกันกับ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่มีการปรับขึ้นราคาสินค้าผู้ประกอบการไม่ได้เข้าไปประชุมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ แต่หากปรับลดราคาสินค้ากระทรวงพาณิชย์ต้องประชุมเพื่อขอความร่วมมือปรับลดราคาสินค้าลง
ทั้งนี้ เมื่อศึกษาข้อมูลการปรับลดราคาสินค้า จะพบว่าสินค้าที่ลดราคา ส่วนมากคือสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยหากตรวจสอบจะพบว่าเป็นการลดราคาเนื่องจากโปรโมชั่น ในขณะที่สินค้ากลุ่มที่จำเป็น เช่น สินค้าที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และเด็ก คือกลุ่มผ้าอ้อมสำเร็จรูป (แพมเพิส) หรือกลุ่มวัสดุก่อสร้างกลับไม่ได้ปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคยังคงแบกรับค่าใช้จ่ายเช่นเดิม
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า ต้องแก้ปัญหาต้นตอคือโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งต้องกำหนดเพดาน และควบคุมไม่ให้เป็นแบบลอยตัวสมบูรณ์ อีกทั้งค่าการตลาดต้องกำกับให้ไม่เกิน 2 บาท และปรับค่าการกลั่นโดยอ้างอิงต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากปัจจุบัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงกลั่นเองแต่กลับอ้างอิงค่าการกลั่นของสิงค์โปร จึงเกิดการบวกค่าขนส่งเทียมและค่าประกันภัยเทียมเพิ่มสูงขึ้นแบบไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง