สภาผู้บริโภคเตือน เจ้าของห้องเช่า ต้องเก็บค่าไฟตามที่รัฐบาลสั่งลดราคาจาก 4.45 บาท/หน่วย เหลือ 3.99 บาท/หน่วย ในรอบบิลเดือนกันยายนนี้ และขอให้ผู้เช่าตรวจยอดค่าไฟของตนเองว่าได้ลดลงตรงตามนโยบายรัฐหรือไม่ หากยังถูกเก็บราคาเดิมให้มาร้องเรียนได้ที่สภาผู้บริโภค
ในวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยการลดค่าไฟฟ้าของงวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 จาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือหน่วยละ 3.99 บาท โดยมีผลทันทีในรอบบิลเดือนกันยายน 2566 ซึ่งมติดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน และรวมไปถึงผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ห้องเช่า บ้านเช่า ห้องพักเพื่ออยู่อาศัยด้วย ดังนั้น ผู้เช่าที่อยู่อาศัยย่อมได้รับประโยชน์จากการลดค่าไฟฟ้า ตาม มติ ครม. ดังกล่าวด้วย
แต่ผู้เช่าคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ห้องเช่า บ้านเช่า หรือห้องพักเพื่ออยู่อาศัย หลาย ๆ ราย ยังกังวล เรื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยหลายแห่ง ยังคงมีการคิดค่าไฟฟ้าเกินกว่าราคาที่รัฐกำหนด ซึ่งมีนโยบายลดราคาดังกล่าว เกรงว่าผู้เช่าจำนวนมากอาจยังอาจถูกคิดในราคาเดิม ไม่เป็นไปตามมติ ครม. ที่ต้องการให้ประชนทุกคนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้
อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบธุรกิจให้เช่า ห้อง หอพัก ไม่ได้คิดค่าไฟฟ้าต่อผู้เช่าตามที่กฎหมายกำหนดถือว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 โดยกำหนดให้ ผู้ให้เช่าหรือเจ้าของห้องพัก ห้องเช่าต่าง ๆ จะต้องเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้เช่าตามอัตราที่ตนชำระแก่การไฟฟ้า เช่น หากผู้ให้เช่าจ่ายค่าไฟให้แก่ตามอัตราที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยก็จะเรียกเก็บจากผู้เช่าได้เพียง 3.99 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
แต่หากผู้ให้เช่าอาคารที่อยู่อาศัยไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวและเก็บค่าไฟในอัตราที่แพง อาทิ 7 – 9 บาทต่อหน่วย จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับได้ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 1 ห้อง/1 สัญญา อีกทั้งในสัญญาเช่าผู้ให้เช่าต้องกำหนดวิธีการคำนวณและระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าไว้เป็นภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจนด้วย และต้องส่งใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนถึงกำหนดวันชำระค่าเช่า โดยผู้เช่ามีสิทธิตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าเรียกเก็บได้
อย่างไรก็ตาม แม้ ครม. จะมีมติลดค่าไฟลง ด้วยการให้แต่ในอนาคตจะเป็นการผลักภาระให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระจ่ายค่าเอฟที (Ft) หรือค่าไฟฟ้าผันแปรส่วนที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นไปให้ก่อน ซึ่งสภาผู้บริโภคเห็นว่านโยบายการลดค่าไฟฟ้าลงเป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างภาระต้นทุนกิจการไฟฟ้าของประเทศไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น หาก กฟผ. แบกรับหนี้ต่อไม่ไหว สุดท้ายภาระจะไปตกที่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงในที่สุด ซึ่งสภาผู้บริโภคยืนยันว่าค่าไฟลดลงได้แต่ค่าไฟ “ต้องแฟร์” ด้วย โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้ยื่น 5 ข้อเสนอร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนให้เร่งแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้าให้เป็นรูปธรรม ดังนี้
1. แก้ปัญหาโรงไฟฟ้าล้นระบบ รัฐบาลต้องหยุด กฟผ. ทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ทั้งในและนอกประเทศทุกแห่ง
2. แก้ปัญหาค่าไฟบ้านแพง รัฐบาลต้องสั่งปลดล๊อคโซลาร์ภาคประชาชน ไฟที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านให้คิดค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า การไฟฟ้าขายไฟให้ประชาชนหน่วยละเท่าไหร่ ให้ซื้อไฟโซลาร์เซลล์จากประชาชนในราคาเดียวกัน
3. ลดต้นทุนค่าก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลต้องนําราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีใช้มาคิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย จะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลง
4. การทำแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนพลังงานอื่นๆ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง กว้างขวาง
5. ให้พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องค่าไฟฟ้าที่คิดราคาเกินจริงไม่ตรงตามประกาศ หรือต้องการสนับสนุนข้อเรียกร้องของสภาผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแส/ร้องเรียน ร่วมแสดงความคิดเห็น มาได้ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ตามช่องทางต่อไปนี้
ร้องเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public
ไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand คลิกลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1, 081 134 9215 หรือ 081 134 9216
อีเมล : [email protected] อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) : สภาองค์กรของผู้บริโภค