ข่าวสื่อสารองค์กร : ประจำเดือนกันยายน 2566

เปิดตัวสภาองค์กรของผู้บริโภค ไปกับ – ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค ในโครงการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพ เริ่มที่แรกด้วยงานประชุมสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดนครสวรรค์ ภาคกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐได้รู้จักและเข้าใจบทบาทการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางและแผนการดำเนินงานสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับกรรมการนโยบาย (ผู้แทนเขตพื้นที่) เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานเครือข่าย

ในแง่การทำงานสนับสนุนองค์กรสมาชิก สภาผู้บริโภคได้สนับสนุน องค์กรผู้บริโภคจังหวัดศรีสะเกษ ในการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคและพัฒนากลไกการประสานจังหวัด รวมทั้งร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานรับเรื่องร้องเรียนให้แก่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันออก


ร่วมหารือหน่วยงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค – ฝ่ายงานเลขาธิการ เข้าพบสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อติดตามการติดตั้งเบรก ABS และ CBS ในรถจักรยานยนต์ และแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนการใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความปลอดภัยของการใช้รถจักรยานยนต์


นอกจากคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคก็สำคัญ – ฝ่ายบริหารสำนักงาน ได้จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตร “ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อให้บุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคที่มาร้องเรียนว่าข้อมูลส่วนบุคคลของท่านจะปลอดภัย

เดินหน้านโยบายเพื่อสิทธิผู้บริโภค – ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม จัดเสวนา “ทางออกปัญหาอาคารสูงในซอยแคบในมุมมองของผู้บริโภค” เพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยนมุมมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหากับส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจ 3 ชุมชนกลางกรุงเทพฯ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการอาคารสูงในซอยแคบ และเป็นตัวแทนสภาผู้บริโภคนำเอกสารร้องเรียนยื่นต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการกำกับดูแลค่าการตลาดน้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญ ฝั่งด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้เรียกร้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมประมง เร่งออกชี้แจงถึงมาตรการป้องกันและตรวจสอบ ปัญหาอาหารทะเลนำเข้า หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี


ไม่ใช่แค่รับเรื่องร้องเรียน แต่เฝ้าระวังปัญหาและเตือนภัยผู้บริโภคด้วย – ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง ผลการทดสอบ “เตารีดไฟฟ้าและอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์มือถือ” เพื่อสร้างกลไกการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย และสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้จัดเวทีเสวนา Town Hall Meeting จ่ายก่อน…ไม่มีจริง “ปัญหาธุรกิจบริการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำข้อเสนอแนะที่ผู้เสียหายต้องการพัฒนาเป็นนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคในระยะยาว


ร่วมสร้างพลังและความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค – ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ เปิดตัวรายการ “เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร” เพื่อให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้บริโภค ให้รู้เท่าทันสิทธิของตัวเองและไม่ตกเป็นเหยื่อของการโดนละเมิดสิทธิ ประเดิมอีพีแรกกับตอน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้จริง! ถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ และยูทูบ ‘tccthailand’ สามารถติดตามตอนต่อไปได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 – 14.00 น. นอกจากนี้ยังร่วมหารือกับตัวแทน ติ๊กตอก (TikTok) เพื่อหาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคป้องกันมิจฉาชีพหลอกขายสินค้าให้ผู้บริโภคผ่านแอปฯ ต่อไป