คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เผยแพร่ผลการศึกษา “การกำกับดูแลการแข่งขันธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Marketplace ในประเทศไทย” พบว่าธุรกิจแพลตฟอร์ม e-Marketplace ในประเทศไทย มีการกระจุกตัวสูง แต่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง จึงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บางแพลตฟอร์มอาจจะใช้กลยุทธ์ต่อต้านการแข่งขันโดยการปิดกั้นการมองเห็น และจัดการผลการค้นหาสินค้า แต่ผู้ซื้อสินค้าเอง ก็ปรับตัวเป็นผู้ซื้อเชิงกลยุทธ์เช่นกัน ดังนั้น ในการแข่งขันเชิงพลวัตจึงไม่เกิดปรากฏการณ์ผู้ชนะได้ทุกสิ่ง (Winner Takes All) ในธุรกิจนี้
นอกจากนี้ ในการกำกับดูแลธุรกิจควรกำกับดูแลตามพฤติกรรมของแพลตฟอร์มและคู่ค้าบนแพลตฟอร์ม มีแนวทางในการบังคับไม่ให้แพลตฟอร์มปิดกั้นการมองเห็น รักษาความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้กฎหมายและเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ พร้อมอินโฟกราฟฟิก (Infographic) นี้ได้เลย
ธุรกิจแพลตฟอร์มหลายมิติ (Multi-Sided Platforms) คือ บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกลุ่มผู้เข้าร่วมตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป โดยมีบทบาทเป็นตัวกลาง ที่ส่งมอบคุณค่าให้กับผู้ใช้บริการ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์อีมาร์เก็ตเพลส (E-marketplace) ซึ่งเป็นเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นตัวกลางที่เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขาย อย่างช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) หรือแพลตฟอร์มบริการเดินทาง/ขนส่ง ที่เชื่อมโยงคนขับและผู้โดยสาร เช่น แอปพลิเคชั่น แกร็บ (Grab) ไลน์ (Line) โบลท์ (Bolt) เป็นต้น นอกจากคุณค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับจากสินค้าหรือบริการบนแพลตฟอร์มหลายมิติแล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มที่เป็นไปได้ เช่น การถูกปิดกั้นการมองเห็นหรือจำกัดการมองเห็น รวมถึงความเสี่ยงทางอ้อมที่เกิดจากการที่ธุรกิจอาจจะมีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน และอำนาจเหนือตลาดได้