เดินหน้าจัดอบรมเพื่อพัฒนาหน่วยงานไปกับ – ฝ่ายสนับสนุนสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค เริ่มกันที่หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่จัดกิจกรรมพัฒนาหลักสูตรนักคุ้มครองผู้บริโภคสร้างสุข เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ ฝ่ายสนับสนุนฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติหลักสูตรรับเรื่องร้องเรียนเพื่อผู้บริโภคขั้นต้นให้กับสมาชิกสภาผู้บริโภคภาคตะวันออก รวมไปถึงอบรมการบันทึกเรื่องร้องเรียนในระบบจัดการเรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภค (Customer Relationship Management : CRM) เพื่อเติมเต็มทักษะความรู้ให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดที่จัดตั้งใหม่
ร่วมขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผู้บริโภคไปกับ – ฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม เริ่มที่นโยบายด้านบริการสุขภาพ ทีมผู้บริหารสภาผู้บริโภค นำโดยบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค เข้าพบรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาการเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ ด้านการขนส่งและยานพาหนะ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) เข้าพบสภาผู้บริโภค เพื่อหารือกรณีที่มีการออกประกาศให้มีการติดตั้งระบบห้ามล้อร่วม สำหรับรถจักรยานยนต์ที่มีขนาดกระบอกสูบต่ำกว่า 125 ลูกบาศก์เซนติเมตร (ซีซี) ด้านการเงินและธนาคาร มีจัดเวทีความร่วมมือ “แก้ไขปัญหาภัยทุจริตทางการเงิน” เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาความร่วมมือในการจัดการปัญหา ระหว่างสภาผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภคได้ให้ความเห็นต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างเอไอเอสและทรีบรอดแบนด์และเสนอให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับสภาผู้บริโภคเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม
พัฒนาศักยภาพบุคลากร – ฝ่ายบริหารสำนักงาน ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการเขียนหนังสือราชการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบงานสารบรรณ และสามารถเขียนหนังสือโต้ตอบราชการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ
ร่วมพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ – ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้เข้าร่วมประชุมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีประกาศรายชื่อทนายความที่ขึ้นทะเบียนกับสภาผู้บริโภค มีผู้ผ่านคุณสมบัติและได้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 148 คน ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ รายชื่อทนายความที่ขึ้นทะเบียนกับสภา
พร้อมหารือทุกหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค – ฝ่ายงานเลขาธิการ เปิดบ้านต้อนรับปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ที่มาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสเปิดสำนักงานใหม่สภาผู้บริโภค และร่วมหารือแลกเปลี่ยนการทำงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ เพื่อนำไปปรับปรุงและปรับใช้เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และยังมีประชุมปรึกษาหารือเรื่องการรณรงค์การยกระดับมาตรฐานหมวกนิรภัยรถจักรยานยนต์เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้และสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคผู้บริโภค รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ผลิต และติดตามการบังคับใช้กฎหมาย
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด – ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ภาพรวมปัญหาผู้บริโภค 3 ไตรมาส ปี 66 พบปัญหาสินค้าและบริการมากเป็นอันดับ 1 พร้อมเผยมูลค่าความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้บริโภครวมกว่า 34 ล้านบาท และพบกับเรื่องเล่าผู้บริโภค ที่ผู้บริโภคจะมาแบ่งปันประสบการณ์ปัญหา เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่ผู้บริโภคท่านอื่น สามารถติดตามได้ในทุกช่องทางของสภาผู้บริโภคได้เลย และยังมีเข้าอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันที่สนับสนุนการเข้าถึงข่าวผู้บริโภคที่ครอบคลุมทุกแหล่งข่าวอย่าง NewsCenter x : NCX เพื่อการสร้างสรรค์เนื้อหาและข้อมูลเพื่อผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด