ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ค่าไฟต้องแฟร์ หยุดเอื้อนายทุน

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 สภาผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG MOVE) และมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดแถลงข่าว “ค่าไฟต้องแฟร์” และได้ยื่นข้อเสนอของภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเป็นธรรม และชวนคนไทยทุกคนร่วมลงชื่อทางเว็บไซต์ https://www.energy-justice-thailand.com รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้

1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายจากสัญญาหลายฉบับกับโรงไฟฟ้าที่มีพันธะผูกมัดนานถึง 25 – 35 ปี จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน

2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net Metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้ากับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ที่ให้ธุรกิจเอกชนและครัวเรือนนำมาใช้บนหลักการที่เปิดเสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและครอบคลุมทั้งประเทศ

3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่น ๆ

4. พัฒนาระบบซื้อ – ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม

5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และ ก๊าซจากพม่าไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ และนําต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ไปคิดเป็นต้นทุนสําหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ


ในการยืนหยัดเพื่อ “ค่าไฟต้องแฟร์” กับประชาชน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แต่ปัจจุบันกลับมีการตรากฎหมายหรือจัดทำนโยบายที่เอื้อนายทุนมากเกินควร อีกทั้งการทำสัญญาต่าง ๆ กับเอกชนยังไม่มีการรับฟังเสียงจากประชาชนหรือผู้บริโภคหรือไม่มีการนำเสียงของประชาชนเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย จนทำให้เกิดภาระผูกพันกับประชาชนและผู้บริโภคต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง

“เรื่องไฟฟ้าเป็นความจําเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ด้วยซ้ำ แต่มีคนทำให้เรื่องนี้มันซับซ้อนเข้าใจยาก แต่พอจะเรียกเก็บเงินกลับเป็นเรื่องง่ายเหมือนการบังคับจ่าย คือเราไม่ต้องเข้าใจอะไรทั้งนั้นมีหน้าที่จ่ายก็จ่ายไป และผู้บริโภคไม่ต้องการใช้ของถูก แต่ผู้บริโภคต้องการราคาไฟฟ้าที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ บุญยืนกล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการทำให้ก๊าซธรรมชาติมีราคาแพง ทั้งที่สามารถผลิตภายในประเทศได้และควรจะมีราคาถูก แต่รัฐกลับนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ไปให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ใช้ก่อนในราคาที่ไม่ต้องเสียภาษี รวมถึงการขายให้กับการไฟฟ้าในราคาที่สูง และสุดท้ายการไฟฟ้านำมาผลิตเป็นไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ในราคาที่สูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากสามารถปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติได้ ผู้บริโภคจะจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรมได้


ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัย Fair Finance Thailand กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติเพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายให้ปรับราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้า – ออก จากโรงแยกก๊าซให้ใช้ราคาที่รวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย และจะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติโดยรวมลดลง ที่ตามมาคือภาระค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะลดลงตาม ดังนั้นหลังจากนี้ต้องการฝากให้ผู้บริโภคติดตามความคืบหน้าจาก กกพ. ต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าไฟลดลงคือการจัดโครงสร้างการจัดการพลังงานใหม่และต้องทำให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส


ส่วน อาทิตย์ เวชกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลกจาก 180 ประเทศ จัดโดย German Watch กลุ่มอิสระที่วิเคราะห์นโยบายสากลในรายงานดัชนีความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศโลกปี 2021 ซึ่งประมวลข้อมูลช่วงปี 2000-2019 เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องเป็นหนึ่งในผู้นําที่ต้องแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้น พลังงานสะอาดจึงเป็นหัวข้อสำคัญในการแก้ปัญหาและนำพลังงานสะอาดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงควรลดการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น อย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องการฝากภาครัฐให้ทำสิ่งสำคัญมากที่สุดคือการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเมื่อรับฟังแล้วต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ทุกขั้นตอนก่อนที่คณะรัฐมนตรี จะอนุมัติสัญญาต่าง ๆ

ขณะที่ ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ บริษัท Dot to Dot & Co จังหวัดระยอง กล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงผังเมือง ที่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใกล้กับแหล่งชุมชนเพิ่มมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยช่วงที่ผ่านมาพบสถิติประชาชนในพื้นที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จากการที่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างปฏิเสธไม่ได้ และยังพบว่าการที่ภาครัฐไม่จริงจังกับระบบพลังงานหมุนเวียนเท่ากับเป็นการผลักนวัตกรรมดี ๆ ที่ส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานออกไป ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคจากพลังงานสะอาดได้ เพราะไม่สามารถเลือกใช้พลังงานรูปแบบอื่นได้ และต้องอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ผลกระทบจากการเผาไหม้ถ่านหินจะปล่อยสารพิษทั้งปรอทและสารหนู เป็นมลพิษทางอากาศ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ส่วน อธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรสวนปาล์ม และผู้ประกอบการ SMEs ปาล์ม จังหวัดกระบี่ ได้สะท้อนถึงผลกระทบของเกษตรกรที่เกิดจากปัญหาค่าไฟแพง ทำให้เกษตรกรต้องดิ้นรนและพยายามหาแนวทางพึ่งพาตัวเอง โดยได้หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น และในภาคการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่มีเรือท่องเที่ยวเป็นเรือไฟฟ้าชุมชน ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนที่สะอาด โดยไม่ใช้พลังงานฟอสซิล เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

“เพราะว่าเราถูกถีบส่ง ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง แต่โชคดีที่ปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานได้มากขึ้นเพื่อทำให้เราอยู่ได้ และการที่เรามาเรียกร้องไม่ใช่ว่าเรารอรับความช่วยเหลือ แต่เราพยายามสู้มาด้วยตนเองเกินพอแล้ว” อธิราษฎร์ ระบุ


ด้าน กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างประเทศไทยและในหลาย ๆ ประเทศยังพึ่งพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก แม้ว่าจะมีความพยายามหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนแล้วก็ตาม โดยร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก รวมทั้งประเทศไทยมาจากพลังงานฟอสซิลเป็นตัวหลัก หากไม่แก้ไขจะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนที่หนักยิ่งขึ้น ควรเริ่มแก้ไขที่พลังงานไฟฟ้าก่อน เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคต้องมาแบกภาระกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่ความจริงแล้วค่าไฟต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค สุขภาพ ระบบนิเวศน์ และคนรุ่นต่อไป

กฤษฎาได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการใช้คำโฆษณาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันว่าบริษัทต่าง ๆ มักกล่าวอ้างถึงจุดยืนการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเป็นมิตรกับโลก แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงการทำการตลาดและการโฆษณาที่ทำขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ซื้อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกกันว่า ‘การฟอกเขียว Greenwashing’ ดังนั้น ทุกคนจึงควรต้องตระหนักและระมัดระวังคํากล่าวอ้างข้างต้น รวมทั้งการพยากรณ์แผนกําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยว่าประเทศจะเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก จึงต้องมีการเพิ่มกําลังการผลิตและกําลังการสํารองไว้มากเกินควร ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นการพยากรณ์ที่เกินจริง และเป็นการการพยากรณ์ที่มีเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือกลุ่มธุรกิจรายใหญ่

“การอ้างคำว่า ‘สีเขียว – ยั่งยืน – คาร์บอน’ ที่นำมาใช้ในธุรกิจแบบใหม่ต่าง ๆ แน่นอนว่าจะเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจ แต่กลับไม่ได้มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ผู้บริโภคคาดหวัง ซึ่งความไม่เป็นธรรมของไฟฟ้าก็ยังรวมไปถึงความไม่เป็นธรรมสำหรับโลกด้วย” กฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ มีการยื่นข้อเสนอถึงผู้แทนพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย โดยทั้ง 4 พรรคได้รับข้อเสนอและเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ และสภาผู้บริโภคจะติดตามและรายงานความคืบหน้าข้อเสนอราคาค่าไฟที่เป็นธรรมให้ผู้บริโภคทราบต่อไป

#ผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #สภาองค์กรของผู้บริโภค