นับตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต ที่มาจากสาเหตุถุงลมนิรภัยบกพร่องยี่ห้อทาคาตะระเบิดออกทำให้มีเศษโลหะกระเด็นออกมาสร้างความเสียหายถึงชีวิตถึงสามราย และมีผู้บาดเจ็บสูญเสียอวัยะวะหนึ่งราย แม้สภาองค์กรของผู้บริโภคมีการรณรงค์ให้เจ้าของรถยนต์ที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยชำรุด ที่ติดตั้งไปในรถยนต์หกยี่ห้อในช่วงระหว่างปี 1998 – 2018 ไปแล้ว แต่ยังมีรถยนต์กว่า 610,000 คันที่ยังไม่ได้นำรถเข้ามาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
นับตั้งแต่จากกรณีที่ มีผู้เสียชีวิตจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยชำรุดขณะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เริ่มรณรงค์ให้เจ้าของรถยนต์หกยี่ห้อที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยชำรุด ยี่ห้อทาคาตะ (Takata) นำรถมาเปลี่ยนถุงลม โดยการจัดแถลงข่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2565 โดยให้เจ้าของรถยนต์ตรวจเช็คยี่ห้อและรุ่นที่เข้าข่ายติดตั้งถุงลมนิรภัยบกพร่องทางออนไลน์ และแนะนำให้เอารถยนต์เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายที่ศูนย์บริการของยี่ห้อรถตนเอง และแถลงข่าวครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565 เพื่อแจ้งจำนวนรถยนต์ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนถุงลมนิรภัยอีกกว่า 610,000 คัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์เรียกคืนรถยนต์ที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัย นั้น
ล่าสุด (3 พฤศจิกายน 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับข้อมูลจากยุทธพงษ์ เพิ่มพงษ์พิพัฒน์ ญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุถุงลมนิรภัยระเบิด โดยยุทธพงษ์ ระบุว่า กรณีการเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยทำงานบกพร่องนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เหตุเกิดจากการซื้อรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ปี 2006 จากร้านขายรถยนต์มือสองในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงไม่ทราบว่าเป็นรถยนต์รุ่นที่ถุงลมนิรภัยมีปัญหาและไม่ได้นำรถเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัย จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุและผู้ขับขี่เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยระเบิด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 นั่นแปลว่าระยะเวลาล่วงเลยมามากกว่า 1 ปีแล้วนับจากที่มีผู้เสียชีวิตจากจากถุงลมนิรภัยระเบิดครั้งแรก แต่ปัจจุบันยังคงมีรถยนต์อีกมากกว่า 610,000 คันในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตราย
ทั้งนี้ เนื่องจากหลังเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวบริษัทฮอนด้าได้จ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และญาติผู้เสียชีวิตไม่ติดใจเอาความ ทำให้ประเด็นการเสียชีวิตจากเหตุถุงลมนิรภัยระเบิดไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในช่วงเวลานั้น การที่ยุทธพงษ์ออกมาเปิดเผยขอมูลในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ ให้เร่งจัดการปัญหาเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
หากนับรวบกรณีที่คุณยุทธพงษ์ให้ข้อมูล ปัจจุบันมีผู้ได้รับความเสียหายจากการระเบิดของถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ ภายในรถยนต์ยี่ห้อ ฮอนด้าทั้งสิ้นจำนวน 4 รายโดยเสียชีวิต 3 รายและรับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ดังนี้
- วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 รถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ปี 2006 ประสบอุบัติเหตุในเขตพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตทันที
- วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 รถยนต์ฮอนด้า แจ๊ส ปี 2009 ประสบอุบัติเหตุในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตทันที
- วันที่ 23 มิถุนายน 2565 รถยนต์ฮอนด้า ซิตี้ ปี 2005 ประสบอุบัติเหตุในเขตพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ขับขี่บาดเจ็บสาหัส สูญเสียดวงตา กรามแตก ใบหน้าผิดรูป และหูดับ
- วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 รถยนต์ฮอนด้า ซีวิค ปี 2009 ประสบอุบัติเหตุในเขตพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ส่งผลให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตทันที
นอกจากการแจ้งเตือนเจ้าของรถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมอันตรายดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภคขอย้ำข้อเรียกร้อง ให้บริษัทรถยนต์ทุกยี่ห้อตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบเพื่อตรวจสอบยี่ห้อรถและรุ่นปีที่ติดตั้งถุงลมอันตราย และนำรถยนต์เข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่ศูนย์รถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงขอให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการขนส่งทางบก และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยประสานงานกับอู่รถยนต์ต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบข้อมูลของถุงลมนิรภัยที่มีปัญหา เนื่องจากพบว่ามีกรณีที่ผู้บริโภคเสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยที่มีการเปลี่ยนอะไหล่ในรถยนต์ที่เข้าซ่อมในอู่รถยนต์ด้วย
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบว่ารถยนต์เข้าข่ายที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ ได้ที่ www.checkairbag.com เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก หรือเว็บไซต์ของสภาองค์กรของผู้บริโภค tcc.or.th หรือนำรถยนต์เข้าไปตรวจสอบได้ที่ศูนย์บริการทุกสาขา หรือสามารถติดต่อสายด่วน 1584 ของกรมการขนส่งทางบก เพื่อสอบถามข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ารถยนต์เข้าข่ายต้องเปลี่ยน สามารถติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) ของแต่ละบริษัทรถยนต์ เพื่อนำเข้าไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
หากพบปัญหาการถูกปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมนิรภัย หรือถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือพบปัญหาอื่น ๆ สามารถร้องเรียนไปยัง สคบ. ที่เบอร์สายด่วน 1166 และสามารถร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ complaint.ocpb.go.th หรือ ร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ที่เว็บไซต์ tcc.or.th คลิกลิงก์ https://crm.tcc.or.th/portal/public อีเมล [email protected] โทรศัพท์ 02 239 1839 กด 1 ไลน์ออฟฟิเชียล @tccthailand หรืออินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค