สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันราคารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 15 บาท พร้อมเสนอ สภา กทม. ตั้งคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คุมค่าโดยสาร แก้ปัญหาทั้งระบบ
จากกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยยื่นหนังสือถึงชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นการแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว และผู้ว่าฯ กทม. จะนำแผนแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีการจัดการหนี้สินค้างจ่ายส่วนต่อขยาย 1 – 2 และแนวทางจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต เสนอต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นั้น
วันนี้ (26 ตุลาคม 2565) สภาองค์กรของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภากรุงเทพมหานคร กรณีการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว 15 บาทตลอดสาย การจัดการหนี้สิน รวมถึงการตั้งคณะทำงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหาทางออกร่วมกัน โดยมีภิษัช สีไธสง นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการ สำนักงาน กทม. เป็นผู้รับหนังสือแทน
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยืนยันว่า จุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ในเส้นทางช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต โดยใช้สูตร 14+2x แต่เห็นด้วยในหลักการที่จะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย
อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดบางส่วนที่สภาองค์กรของผู้บริโภคและกรุงเทพมหานคร ยังเห็นไม่ตรงกัน โดยสภาองค์กรฯ มองว่า ยังมีช่องทางจัดเก็บรายได้ส่วนอื่น เช่น ค่าโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้า หรือ ค่าเชื่อมต่อสถานี เพื่อทำให้ค่าโดยสามารถถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
“แม้จะมีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาท แต่หากผู้บริโภคใช้งานทั้งส่วนต่อขยายและส่วนสัมปทานหลัก ผู้บริโภคก็ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ ดังนั้นก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 กทม.ควรจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 15 บาทตลอดสาย และสูงสุดในช่วงไข่แดงที่เป็นสัมปทานเดิมไม่ควรเกิน 44 บาทเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น” คงศักดิ์กล่าว
สำหรับรายละเอียดข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาสัมปทานและการกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มีทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้สภากรุงเทพมหานครกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในราคา 15 บาทตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2) ขอให้สภากรุงเทพมหานครสนับสนุนแนวทางการเจรจาพักชำระหนี้กับกระทรวงการคลัง หรือคืนภาระหนี้ค่าก่อสร้างและกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 69,105 ล้านบาท ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหากกรุงเทพมหานครรับภาระหนี้ดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานหลักที่จะครบอายุสัญญาในปี 2572 และทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต
3) ขอให้สภากรุงเทพมหานครสนับสนุนแนวทางการออกซีเคียวริไทเซชัน (Securitization) ซึ่งเป็นกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ โดยการระดมทุนจากรายได้ในอนาคตมาใช้หนี้ค้างจ่าย เนื่องจากหากหมดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเส้นทางสัมปทานหลักที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 จะมีผลให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 59 สถานีได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถนำรายได้ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายได้
4) ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะทำงาน โดยมีสภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนของผู้บริโภค เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้และมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าโดยสาร การเชื่อมต่อระบบบริการ และกำกับคุณภาพบริการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาเปิดเผยว่า สภา กทม. ให้ถอนญัตติเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงขอเวลาศึกษาข้อมูลเรื่องการเดินรถสายสีเขียวอย่างละเอียดรอบคอบก่อน โดยมีการพูดคุยถึงเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานวิสามัญเพื่อศึกษาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการพิจารณาอัตราค่าโดยสารว่าอาจไม่ใช่อำนาจของกรุงเทพมหานคร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานงานและพูดคุยรายละเอียดกันต่อไป