หนึ่งในผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ ที่ต้องการเห็นการปรับปรุงและพัฒนามากที่สุดคือ “ระบบการบริการรถเมล์ขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ”
“รถเมล์” เป็นระบบบริการขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐานที่อยู่ใกล้ตัวประชาชน ในฐานะผู้บริโภคทุกคนมากที่สุด แต่ในขณะนี้ เป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีการเชื่อมต่อโครงข่าย ราคาค่าโดยสารแพงจากการต่อหลายทอด ประชาชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ ป้ายรถเมล์ที่ใช้ไม่ได้จริง และคนขับขาดวินัย ซึ่งหากจะแก้ปัญหาระบบรถเมล์ในกรุงเทพได้จริง ต้องสร้างการเข้าถึงทุกพื้นที่ ต้องทำระบบตั๋วใบเดียว และฟื้นฟูประสิทธิภาพของพนักงานขับรถและบริการ แต่การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็จำเป็นต้องแก้ที่ต้นตอของระบบที่ขาดประสิทธิภาพนี้ คือ ระบบราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย
เสียงสะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ไขของบริการรถขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ เหล่านี้ เกิดขึ้นในเวทีระดมความคิดเห็น ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ของสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเก็บรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะระหว่างนักวิชาการ และผู้บริโภค เพื่อนำไปทำเป็นข้อเสนอ “นโยบายพัฒนาระบบบริการขนส่งมวลชน (รถเมล์) กรุงเทพฯ” และนำเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในระยะต่อไป ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่นำเสนอผลงานการศึกษาด้านอุปสรรคของการใช้รถเมล์ของคนกรุงเทพฯ และนักวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่นำเสนอผลการศึกษาด้านราคาบริการ
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พบว่า ปัญหาและอุปสรรคของผู้ใช้บริการรถเมล์ขนส่งมวลชนที่สำคัญ ๆ คือ 1) การเข้าไม่ถึงบริการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ได้แก่ รถเมล์ให้บริการมีน้อย ทำให้รอนาน และบางพื้นที่ไม่มีรถเมล์บริการ 2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เพราะต้องใช้บริการหลายต่อ หลายระบบ 3) คุณภาพบริการและความปลอดภัยมีน้อย เพราะรถเก่า มีอายุการใช้งานมาก ป้ายรถเมล์ใช้ไม่ได้จริง คนขับไม่มีวินัยและความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของปัญหารถเมล์ถูกชี้ไปยังระบบโครงสร้างการจัดการของรัฐ ที่ขาดความชัดเจน ทำให้เป็นต้นตอของปัญหาระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐไม่มีแนวคิดและเป้าหมายในการจัดบริการขนส่งว่าคืออะไร ในขณะที่ปัจจุบันเมืองขยายใหญ่ขึ้น มีขนส่งสาธารณะหลายระบบ แต่โครงสร้างพื้นฐานและแผนการจัดบริการ โครงสร้างการบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสาร ยังขาดความเชื่อมโยงกัน
สิ่งที่เป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ การทำงานที่ขาดการบูรณาการ ในขณะที่กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้วางแผนจัดบริการและกำหนดอัตราค่าโดยสาร แต่ ขสมก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจควรจะมีสิทธิในการจัดบริการและกำหนดอัตราค่าโดยสาร กลับมีฐานะเป็นผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่งเท่านั้น และขณะนี้มีฐานะการเงินที่อ่อนแอ เพราะต้องแบกรับปัญหาหนี้สะสมประมาณ 130,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอแผนฟื้นฟู จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้ามาบริหารจัดการปัญหารถเมล์กรุงเทพฯ
อีกประการหนึ่ง เมื่อเส้นทางเดินรถ รวมทั้งพื้นถนนมีจำกัด และการขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาโดยภาพรวมของระบบรถเมล์เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
แนวคิดจากการระดมความคิดเห็นบนเวทีได้ข้อสรุปการแก้ปัญหา ดังต่อไปนี้
- รัฐต้องมีแนวคิดที่ชัดเจนว่า บริการรถเมล์ขนส่งมวลชน เป็นบริการสาธารณะที่รัฐต้องอุดหนุน
- ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นโครงข่ายใยแมงมุม ที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ทุกระบบ
- ลดค่าแรกเข้า ตั๋วใบเดียวใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ
- ตัดถนนเพิ่มในที่ดินของรัฐ กำหนดโซนการใช้ถนน และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณรถบนถนน
- จัดเก็บภาษีลาภลอย จากผู้ที่ได้รับประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาที่ดินของรัฐ
- การหารายได้เพิ่ม เช่น จากการโฆษณา, Co-Promotion กับสินค้า, บัตรรายเดือนมีโฆษณา รวมถึงส่วนแบ่งจากบัตรร่วม กับรถไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน ปัญหาเฉพาะหน้าของบริการรถเมล์ขนส่งมวลชน ที่ต้องแก้เร่งด่วน คือ
- พักชำระหนี้ ขสมก. 130,000 ล้านบาท
- แผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ต้องมีความชัดเจน และสามารถทำได้จริง
- หา CSR องค์กรมาช่วยปรับปรุงขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์
- ให้ ขสมก. หารายได้เพิ่มจากช่องทางและวิธีการต่าง ๆ เช่น รับฝากส่งพัสดุระบบ “วันเดียวถึง” ที่ท่ารถใหญ่ ๆ ในวัน-เวลาธรรมดา ที่ไม่ใช่ชั่วโมงเร่งด่วน มีการพัฒนาที่ดินที่เป็นของ ขสมก. หรือการสร้างระบบ Job Ticket หรือ “ตั๋วทำงาน” สำหรับคนทำงานที่ใช้บริการรถเมล์ทุกวันทำงาน
ด้าน กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มพบ.และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตามบทบาทภารกิจของ สอบ. และแนวทางความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัด มีหน้าที่เสนอข้อมูลและนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยข้อมูลและข้อเสนอที่ได้จากเวทีดังกล่าว มพบ. จะนำไปพัฒนาเป็น (ร่าง) ข้อเสนอแนะนโยบาย พร้อมทั้งจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการต่อไป