สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชง กระทรวงสาธารณสุข บังคับขออนุญาต กรณีครอบครอง และผสมกัญชาในอาหารทุกครั้ง จนกว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชง-กัญชา จะมีผลบังคับใช้ เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค หลังพบเด็ก 3 ขวบ กินบราวนี่ผสมกัญชา อาการหนักต้องเข้า รพ. พร้อมเสนอรัฐต้องเร่งสร้างความเข้าใจประชาชน – เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชน
จากการปลดล็อกกัญชาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ส่วนของพืชกัญชง และกัญชา สามารถซื้อขาย ผสมลงในอาหารต่าง ๆ รวมทั้งใช้เพื่อสันทนาการได้ ประกอบกับกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมกัญชาและกัญชงยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ยังไม่มีการบังคับใช้ จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านลบจากกัญชาเสรีเป็นจำนวนมากนั้น
มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สอบ. กล่าวว่า หลายฝ่ายได้แสดงความกังวลและข้อห่วงใยภายหลังการปลดล็อกกัญชา รวมถึง สอบ. ส่งข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วยเช่นเดียวกัน โดยเห็นว่าส่วนของพืชกัญชา กัญชงที่ขายได้เสรีอาจจะยังอันตราย โดยเฉพาะหากนำ ‘ช่อดอก’ ไปบริโภค โดยไม่มีมาตรการรองรับอาจไม่ปลอดภัยกับชีวิตได้
ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการเกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชาออกมา อาทิ การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ หรือประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร หรือประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม มีการยกเว้นห้ามครอบครองและใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือให้นมบุตร
มลฤดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมาตรการที่ออกมายังไม่สามารถควบคุมหรือคลี่คลายความกังวลของสังคมในการทำให้กัญชาเสรีได้ กระทั่งในช่วงที่ผ่านมา มีกรณีเด็กวัย 3 ขวบเผลอกินบราวนี่ที่มีส่วนผสมของกัญชา จนทำให้มีอาการเดินเซ ตัวสั่น และตอบสนองช้ากว่าปกติ และต้องนำส่งโรงพยาบาลในที่สุด และเหตุการณ์ก่อนหน้าอื่น ๆ อาทิ สั่งต้มจืดมะระและร้านใส่ใบกัญชาลงไปโดยไม่แจ้งลูกค้า สุดท้ายกินเข้าไปจึงเกิดอาการแพ้รุนแรง เด็กมัธยมปลายใช้กัญชาเพื่อสันทนาการและเกิดอาการแพ้จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู เป็นต้น
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังสร้างความสับสนให้ประชาชนและผู้บังคับใช้กฎหมายหลายประการ ได้แก่ ประเด็นการไม่มีกฎหมายควบคุมการปลูกกัญชา แต่ขอความร่วมมือหรือเป็นความสมัครใจของผู้ปลูกให้จดแจ้งกับราชการ แต่หากไม่ได้จดแจ้งไม่ได้มีความผิดทางกฎหมายแต่อย่างใด
“การอนุญาตให้ปลูกได้โดยเสรีแต่ไม่มีการจดแจ้งข้อมูลการปลูกจะทำให้รัฐไม่สามารถพัฒนาระบบการกำกับดูแลการปลูกของประชาชนได้ ซึ่งแตกต่างจากการควบคุมของประเทศที่เป็นต้นแบบของกัญชาเสรีเพื่อนันทนาการ เช่น แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ที่กำหนดจำนวนต้นกัญชาที่ประชาชนสามารถปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในระดับครัวเรือนและต้องขออนุญาตจากหน่วยงานควบคุมกำกับก่อน” มลฤดี กล่าว
ต่อมา การผสมกัญชาลงในอาหารเพื่อจำหน่ายให้กับคนทั่วไปได้ หรือคำแนะนำในการใช้กัญชาผสมในอาหารของกรมอนามัยนั้นเป็นเพียงมาตรการป้องปรามเท่านั้น แต่ไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างจริงจัง รวมทั้งไม่มีวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นให้ทราบได้ว่าอาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้นมีสารทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol : THC) มากกว่าร้อยละ 0.2 หรือไม่ เนื่องจากสารทีเอชซีเป็นสารที่ผสมอยู่ในกัญชา หากผู้บริโภคได้รับสารดังกล่าวในปริมาณเกินกว่าที่ประกาศกรมอนามัยกำหนดก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสี่ยงจากการบริโภคกัญชา และอาจเกิดผลกระทบต่อร่างกายได้ อาทิ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว เป็นต้น
ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการด้านอาหารฯ สอบ. กล่าวอีกว่า จากการตีความประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 อนุญาตให้บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อการค้าตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 นั้น
กล่าวคือ ในมาตรา 46 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมฯ พ.ศ. 2542 ระบุว่า หากใครจะครอบครอง ใช้ เก็บรักษา ขนย้าย หรือจำหน่ายสมุนไพรควบคุม จำเป็นจะต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้งโดยไม่มีข้อยกเว้น ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 นั้นกลับอนุญาตให้ครอบครองและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาต สอบ. จึงเห็นว่าเป็นการออกประกาศกระทรวงที่ไม่ชอบโดยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเป็นการออกอนุบัญญัติ (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข) ที่ฝ่าฝืนหรือขัดกับบทบัญญัติ (พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมฯ พ.ศ.2542) ใน พ.ร.บ.และสร้างความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับก่อนนั้น ทั้งการไม่มีมาตรการควบคุมการขายอาหารทางออนไลน์ การขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์จากการบริโภค หรือการไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา
ดังนั้น เพื่อยุติความสับสนต่าง ๆ จากภาวะสุญญากาศในการบังคับใช้กฎหมาย สอบ. ขอเสนอให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการดังต่อไปนี้
1) ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ควบคุมกัญชาที่ได้ประกาศเป็น “สมุนไพรควบคุม” แล้วอย่างจริงจัง กล่าวคือ ให้ใช้ความในมาตรา 46 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต” เพื่อยุติภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ปัญหาและความสับสนต่าง ๆ จากการจำหน่ายกัญชาและการปรุงอาหารหรือผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผสมกัญชายุติลง เพราะต้องขออนุญาตเท่านั้น ไม่สามารถกระทำได้โดยเสรี จนกว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ที่ยังอยู่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติของรัฐสภาจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย เนื่องจากการแปรรูปตามกฎหมายนี้ หมายความว่า “การปรุงแต่งหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพหรือคุณสมบัติของสมุนไพร” ซึ่งกินความกว้างขวางไปถึงการแปรรูปเป็นสมุนไพรแห้ง การสกัด และการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
2) ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่ให้บุคคลทั่วไปที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายกัญชาได้ เพื่อมิให้สร้างความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 และประกาศกำหนดให้การครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้ายกัญชาเพื่อการค้า ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนตามบทบัญญัติในมาตรา 45
3) รัฐบาลควรสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายควบคุมกำกับการใช้กัญชาในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้อย่างจริงจัง และปรับนโยบายเป็นการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่แสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันคลี่คลายปัญหา ลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ และเฝ้าระวังการขยายตัวของปัญหาที่จะเกิดขึ้น
4) รัฐบาลควรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน และพัฒนาระบบการดูแลการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์เพื่อการพึ่งตนเองของประชาชน โดยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสม และป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่นเดียวกับระบบที่พัฒนาขึ้นในอารยประเทศ