เวทีเสวนาสะท้อน ดีลควบรวมทรู – ดีแทค กระทบผู้ใช้บริการกว่า 80 ล้านเลขหมาย และอาจสร้างความเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท หวั่นเป็นใบเบิกทางให้ธุรกิจอื่นทำตาม แนะ กสทช. เหยียบเบรกไม่ให้ควบรวม
“ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 80 ล้านเลขหมาย หากอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค และผู้ให้บริการตกลงแบ่งสัดส่วนผู้ใช้บริการกัน จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการมือถือแพงขึ้นเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับเสียหายรวมมากกว่า 305,184 ล้านบาท” สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ให้เห็นผลกระทบจากการควบรวมกิจการทรู – ดีแทค
ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากการพูดคุยในเวทีเสวนา Consumers Forum EP.3 “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” ที่ถูกจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ โคแฟคประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค
เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคแสดงจุดยืนของสภาองค์กรฯ และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทค และ เอไอเอส – 3BB เนื่องการควบรวมจะส่งผลกระทบต่อราคา คุณภาพของบริการ ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง
ทั้งนี้ กสทช. เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และมีหน้าที่คุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการ จึงอยากเรียกร้องให้ กสทช. พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง
โดยวันที่ 3 สิงหาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้เดินทางไปยื่น 1 หมื่นรายชื่อคัดค้านการควบรวมกิจการ ทรู – ดีแทค กับ กสทช. เพื่อเป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ของผู้บริโภค
สำหรับผู้บริโภคที่สนใจ ยังสามารถร่วมลงชื่อเพิ่มเติมผ่านเว็บไซด์ Change.org/TrueDtac ได้ รวมถึงร่วมกันแสดงจุดยืนโพสต์ข้อความและติดแฮชแท็ก (Hashtag) #หยุดผูกขาดมือถือ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ทุกช่องทาง
ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB
สอดคล้องกับ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ที่ระบุว่า ตลาดธุรกิจการให้บริการมือถือเดิมกระจุกตัวสูงอยู่แล้ว หากมีการควบรวมจะทำให้ตลาดเกิดการกระจุกตัวสูงขึ้นไปอีก จนถือว่าเป็นระดับที่อันตรายและทำให้ค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยค่าเฉลี่ยต่อหมายเลขต่อเดือน กรณีไม่ควบรวม ค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่ 220 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน แต่หากอนุญาตให้มีการควบรวม ค่าบริการมือถือจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่แตกต่างกันไป แบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
1. ควบรวมแล้วรายใหญ่แข่งขันรุนแรง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 – 10 หรือเฉลี่ย 235 – 242 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน 2.ควบรวมแล้วรายใหญ่แข่งขันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 – 23 หรือเฉลี่ย 249 – 270 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน และ 3. ควบรวมแล้วรายใหญ่มีการตกลงแบ่งสัดส่วนผู้ใช้บริการกัน ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 – 120 หรือเฉลี่ย 365 – 480 บาทต่อหมายเลขต่อเดือน
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ 101 PUB ยืนยันว่า หากเกิดการควบรวม ผู้ให้บริการรายใหม่ๆ จะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ยากมาก เพราะรายใหญ่ได้ครอบครองคลื่นและโครงข่ายแล้ว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ มีต้นทุนสูง ทั้งต้องลงทุนเสาสัญญาณ เช่าใช้โครงข่าย รวมถึงการสร้างฐานลูกค้า
ผูกขาดกระทบจีดีพี – หวั่นผู้ให้บริการสัญญาปากเปล่า
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงการผูกขาดคลื่นความถี่ว่า การที่ประเทศไทยไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ อีกทั้งวันนี้อาจมีผู้เล่นน้อยกว่าเดิมนั้น จะกลายสภาพจากการผูกขาดน้อยราย เป็นการผูกขาดผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเพียงแค่ 2 ราย
“สภาพผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือน้อยรายแบบนี้ ทำให้ผู้บริโภคถูกมัดมือชก กลายเป็นลูกไก่ในกำมือ และไม่สามารถมีอำนาจต่อรองได้ เรากังวลทั้งกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค และการควบรวมกิจการระหว่าง เอไอเอส กับ3BB หากดีลทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้น น่าจะเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค”
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำหรับมุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอนุกรรมการที่ทำรายงานการควบรวมกิจการโทรคมนาคมให้กสทช. ยืนยันว่า จากการใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ทำให้เห็นว่า การควบรวมกิจการจะส่งผลให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 – 200
ขณะที่แบบจำลองทางดุลยภาพชี้ให้เห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม โดยพบว่า ทุก ๆ ร้อยละ 10 ของราคากิจการโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ลดลง 1 หมื่น – 3 แสนล้านบาท
นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ยังแสดงความเห็นอีกว่า ประเด็นการกำกับดูแลราคาค่าบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช. ก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากราคาที่ผู้ประกอบการส่งให้ กสทช.นั้น เป็นราคาแพ็กเกจที่ถูกกำหนดโดยผู้ประกอบการ ไม่ใด้สะท้อนราคาที่แท้จริง
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรเทพ ได้แสดงความเป็นห่วงว่า ภายหลังการควบรวมกิจการผู้ประกอบการอาจจะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาโครงข่ายในพื้นที่ห่างไกล ส่วนประเด็นเรื่องการใช้โครงข่ายร่วมกันของผู้ประกอบการ หรือการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ นั้น ผู้ประกอบการก็สามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องควบรวมกิจการ
“การที่ผู้ให้บริการไม่มีแผนที่ชัดเจน มีเพียงคำสัญญาของผู้ให้บริการว่าหลักการควบรวมจะสร้างนวัตกรรมนั้น เป็นการพูดมาเฉย ๆ เหมือนให้สัญญาปากเปล่า เพื่อให้กสทช. เซ็นเช็กเปล่า โดยความเชื่อว่าผู้ให้บริการจะทำนวัตกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งเท่านั้น”
ควบรวม ทรู – ดีแทค ใบเบิกทางให้ธุรกิจอื่นทำตาม
วรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล
วรภพ วิริยะโรจน์ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการคณะกรรมการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทค เป็นอีกคนที่เชื่อมั่นว่า การแข่งขันมาพร้อมประโยชน์ของผู้บริโภค ธุรกิจที่มีการแข่งขัน ยิ่งมีการแข่งขันมากเท่าไหร่ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์มากเท่านั้น โดยเฉพาะค่าบริการ คุณภาพการบริการ
ทั้งนี้ กสทช.มีอำนาจและหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดในตลาด หากมีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการนี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ เหมือนเป็นใบเบิกทางให้กับทุก ๆ ธุรกิจในประเทศ
“ผมยังไม่เคยเห็นประเทศไหนปล่อยให้เกิดการควบรวมกิจการรายใหญ่ระดับครองส่วนแบ่งตลาด 50 เปอร์เซ็นต์ทั้งคู่ ส่วนข้ออ้างเรื่องต้นทุนลดลงผู้บริโภคจะได้ประโยชน์สูงสุด ก็ไม่จริง เพราะค่าบริการจะลดลงต่อเมื่อธุรกิจนั้นเกิดการแข่งขัน” ตัวแทนพรรคก้าวไกล ระบุ
เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัททุนผูกขาดคลื่นความถี่กำลังกำหนดอนาคตเงินในกระเป๋าผู้บริโภคทุกเดือน และกำหนดวิถีชีวิตจากการครอบงำข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ผ่านคลื่นความถี่ ทั้งนี้ ไม่มีประเทศไหนในโลกปล่อยให้มีการผูกขาดเหลือการแข่งขันแค่ 2 รายในตลาด กรณี เอไอเอส – 3BB ด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ทุนใดผูกขาดตลาดเกินร้อยละ 25 ของตลาด อย่างน้อยแต่ละตลาดควรมีผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 4 รายขึ้นไป เพื่อเกิดการแข่งขันได้อย่างเสรีตามกลไกตลาด แต่ประเทศไทยกลับมีหลายธุรกิจที่ผู้เล่นรายใหญ่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินร้อยละ 50 ซึ่งในประเทศที่มีธรรมาภิบาลที่ดีจะไม่อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ กระทั่งเกิดการผูกขาดเกิดขึ้น
ผู้บริโภคเสี่ยงน้อยที่สุด กสทช. ต้องเหยียบเบรคไม่ให้ควบรวม
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการควบรวมธุรกิจว่า การรวม เลิก แยก หรือตั้งธุรกิจขึ้นตั้งใหม่เป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลคือ ดูแลการแข่งขัน หากอนุญาตให้เกิดการรวมธุรกิจ ต้องหามาตรการรักษาการแข่งขัน หรือคืนการแข่งขันให้อยู่ในสภาพก่อนรวมธุรกิจให้ได้ เช่น ในประเทศมาเลเซีย มีการเรียกคืนคลื่นกลับมาจัดสรรใหม่ ภายในเวลา 2 ปี บังคับให้ขายแบรนด์มือถือออกมา และให้ผู้ควบรวมแยกหน่วยธุรกิจออกมา
ในทำนองเดียวกัน ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB แสดงความเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ กสทช. ต้องไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมทรู – ดีแทค ขึ้น แต่หากจำเป็นต้องอนุญาตให้มีการควบรวม กสทช. ก็ต้องมีมาตรการเชิงโครงสร้างที่เข้มข้น ไม่ให้การแข่งขันลดลง เช่น สั่งขายคลื่นความถี่ เสาสัญญาณบางส่วนให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ หรือสั่งปล่อยเช่า โครงสร้างพื้นฐานแก่รายใหม่ในราคาต้นทุน
“สุดท้ายภารกิจ กสทช.คือการทวงคืนคลื่นที่อยู่กับหน่วยงานราชการกลับมา รวมถึงการทำให้เกิดการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Sharing) และเพื่อความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาดีลนี้ อยากให้กสทช เปิดเผยรายงานต่างๆ ทั้งหมด ให้สาธารณชนรับรู้ ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ๆ ” ผู้อำนวยการ 101 PUB ระบุ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า
ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า คาดการณ์ว่าผลของการพิจารณาควบรวมครั้งนี้จะออกมา 4 กรณี 1. กสทช.ให้มีการควบรวม แบบไม่มีเงื่อนไข 2. ให้มีการควบรวม แบบมีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการกำกับพฤติกรรม 3. ควบรวมแบบมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องกับเปลี่ยนโครงสร้าง และ 4.ไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมเกิดขึ้น
“เราพูดเสมอธุรกิจนี้เข้ายาก ออกยาก เพราะมีกำแพงขวางกั้นให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามายาก มีใบอนุญาต มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ติดกฎระเบียบ การปกป้องผู้บริโภค การอนุญาตให้ควบรวมแล้วกำหนดเงื่อนไข เชื่อว่า กสทช. ไม่มีทางตามทัน
และองค์กรกำกับดูแลในประเทศไทยก็ไม่เคยใช้ยาแรงที่ทำให้เกิดการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้าง ทั้งการบังคับขาย บังคับแยกตัว ฉะนั้น ทางออกสำหรับการตัดสินใจของกสทช. เพื่อให้ผู้บริโภคแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด นั่นก็คือ ไม่ให้ควบรวมตั้งแต่แรก” ธนาธรกล่าว