สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ คมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับแก้ปัญหารถตู้ผิดกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ชี้ สาเหตุหลักอุบัติเหตุรถตู้เกิดจากการใช้รถผิดประเภท พร้อมเร่งหน่วยงานออกมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำรถเข้าสู่ระบบ เพื่อให้การกำกับดูแลทำได้ง่ายขึ้น
จากกรณีอุบัติเหตุรถตู้ส่วนบุคคลเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทาง บนถนนเลี่ยงเมืองบ้านหนองแสง-โนนตุ่น ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เกิดจากสาเหตุที่คนขับรถหลับใน จนทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 6 ราย และเสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ราย รวมทั้งหมด 8 รายนั้น
คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุรถตู้ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 8 ราย ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดของปี 2565 ที่รัฐจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจากอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากรถคันดังกล่าวเป็นรถตู้ส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน นข-2678 นครพนม จดทะเบียนรถยนต์ประเภท รย.2 (รถยนต์นั่งเกิน 7 แต่ไม่เกิน 12 คน) ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้นำมาวิ่งรับจ้างส่งคนโดยสารได้
แต่ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และขาดการส่งเสริมมาตรการที่ดีเพื่อให้ผู้ประกอบการรถโดยสารอยู่ในระบบ จึงทำให้มีผู้ประกอบการรถตู้โดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางนำรถออกจากระบบจำนวนมาก บางส่วนนำไปจำหน่ายขายต่อ หรือนำไปวิ่งรับส่งนักเรียน รวมถึงนำไปเป็นรถตู้ส่วนบุคคลวิ่งรับจ้างส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด
“กลุ่มรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างจะแตกต่างจากกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง คือ กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องการติดตั้ง GPS การบันทึกประวัติผู้ขับรถ จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบถึงพฤติกรรมและชั่วโมงเวลาทำงานของผู้ขับรถได้ หากผู้ขับขี่ไม่ได้พักผ่อน รับงานต่อเนื่องอาจเกิดความอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อย จนทำให้หลับในและเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุในเวลาต่อมา รวมถึงไม่ได้บังคับการทำประกันภัยภาคสมัครใจที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไม่คาดฝันขึ้น ผู้รับผิดชอบ คือ คนขับและเจ้าของรถเท่านั้น แต่ในหลายกรณีที่เกิดขึ้นผู้บริโภคอาจไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่พึงได้ กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความทุกข์ของผู้บริโภค ขณะที่หน่วยงานกำกับภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้เลย เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถกำกับควบคุมผู้ประกอบการขนส่งนอกระบบได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้บริโภคที่ใช้บริการ” คงศักดิ์กล่าว
ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงมาตรการกำกับด้านขนส่งสาธารณะของรัฐที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอและทำให้มีผลในทางปฏิบัติได้ และจากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ข้อมูลวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ระหว่างตุลาคม 2564 – พฤษภาคม 2565 แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับกลุ่มรถตู้โดยสารทั้งสิ้น 304 ครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 38 ครั้ง มากกว่าอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถโดยสารขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 30 ขณะที่ข้อมูลการจดทะเบียนสะสมของกรมการขนส่งทางบก พบว่าอัตราการจดทะเบียนของรถตู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทางลดลงอย่างต่อเนื่อง 3 ปีหลังสุด โดยทั่วประเทศมีรถตู้โดยสารประจำทางจำนวนคงเหลือ 9,488 คัน และกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทางจำนวนคงเหลือ 24,753 คัน
ประกอบกับในปัจจุบัน ผู้บริโภคเริ่มเดินทางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สถานการณ์รถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางทั่วประเทศมีจำนวนลดน้อยลง และในบางพื้นที่มีรถไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค การเข้ามาแทนที่ของรถตู้ส่วนบุคคลจึงมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต่อความไม่ปลอดภัยจากการใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเร่งพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์หรือแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางในระบบให้มากขึ้น และกำหนดมาตรการเข้มงวดกับผู้ประกอบการขนส่งนอกระบบอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม คงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สำหรับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องเช่าเหมารถตู้โดยสารเพื่อการเดินทาง ควรเลือกรถที่จดทะเบียนตามกฎหมายก่อนเป็นลำดับแรก คือ กลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 30-35 ป้ายสีเหลืองอักษรสีดำ และกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทาง เลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย 36 ป้ายสีขาวตัวหนังสือสีฟ้าเท่านั้น เพราะรถกลุ่มนี้ต้องให้บริการภายใต้การกำกับคุณภาพมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถตรวจสอบประวัติการให้บริการและกำกับความเร็วของรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเดินทางได้