สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ให้ข้อมูลผู้สูงอายุ รวมไปถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อจะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ เผยช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ร้อยละ 44 พร้อมแนะ ผู้สูงอายุต้องหาข้อมูลผู้ขาย ที่อยู่ ซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) ที่น่าเชื่อถือ และอาจปรึกษา หรือขอข้อมูลจากลูกหลานก่อนซื้อสินค้าออนไลน์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า การรู้เท่าทันโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเผชิญหน้า รวมทั้งเรื่องการใช้สินค้าและบริการเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ ขณะเดียวกัน การซื้อขายสินค้าออนไลน์เหล่านี้กำลังสร้างภาระให้กับทุกคนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและการรู้เท่าทันโลกออนไลน์ ไม่ให้ถูกหลอกได้ง่าย และหากดูสถิติของกรมการปกครองจะพบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีถึง 10 ล้านกว่าคน และมีสถิติที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกำลังเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะร่วมกันหาแนวทางในการทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลที่มากพอ มีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยี
สอบ.จัดเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ขึ้น มีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลกับผู้สูงอายุ รวมไปถึงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ให้รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปูพื้นฐานให้เข้าใจกฎหมายสูงสูงของประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ที่กล่าวถึงมาตรา 46 ว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิรวมตัวจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค รวมทั้งรัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่มีการกำหนดสิทธิผู้บริโภคว่า มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน และมีสิทธิในการเลือกใช้สินค้าและบริการ หรือหากพบปัญหาก็สามารถได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิที่มี นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ที่กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในทางคดีด้วย
ดังนั้น จึงต้องการฝากผู้สูงอายุทุกคนว่า หากพบปัญหาเกี่ยวกับภัยออนไลน์ต่าง ๆ ต้องตั้งสติ และโทรไปขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เพราะผู้สูงอายุก็เป็นผู้บริโภคที่ต้องได้รับการช่วยเหลือตามสิทธิผู้บริโภคที่กำหนด อาทิ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคมของ พม. เบอร์ 1300 ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ของ ETDA เบอร์ 1212 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องถูกหลอกลวง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม เบอร์ 1202 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เบอร์ 1556 สายด่วนบัตรทอง เบอร์ 1330 หรือสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เบอร์ 1669
พศวัตน์ จุมปา หัวหน้าฝ่ายเฝ้าระวังตรวจสอบโฆษณา สคบ. กล่าวว่า การโฆษณาในปัจจุบัน มักใช้วิธีการลดราคาลงมาก ๆ เพื่อดึงดูดใจ รวมถึงมักใช้ข้อความที่เกินจริง อาทิ ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง ยายี่ห้อนี้ป้องกันโควิด-19 ได้ 100 % เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การอ้างข้อมูลที่เป็นสถิติจะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรที่จะซื้อ
ดังนั้น จึงฝากเตือนผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มักถูกดึงดูดด้วยการโฆษณาในลักษณะนี้ว่า อย่าเพิ่งเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ควรหาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย การซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ (E-Marketplace) ที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวผู้กระทำผิดได้ยาก นอกจากนี้ ยังอาจสอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับลูกหลานที่บ้าน หรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ. หรือ อย. ในประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เสี่ยงต่อชีวิตได้หากใช้หรือรับประทาน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการซื้อขายออนไลน์
“อยากให้ผู้สูงอายุมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายในเรื่องซื้อขายออนไลน์ จนไม่กล้าบอกลูกหลาน เพราะลูกหลานก็พร้อมช่วยเหลือ เพราะคือคนในครอบครัว หากพบว่ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่าหลอกขาย หรือขายของไม่มีคุณภาพให้เรา รวมทั้งต้องระวังว่า ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ” พศวัตน์ กล่าว
ด้าน ประภารัตน์ ไชยยศ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ฝ่ายดูแลบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สพธอ. กล่าวว่า จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปี 2564 พบว่า ปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์มีผู้ร้องเรียนเข้ามากว่า 50,000 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งปัญหาซื้อขายออนไลน์เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง มีทั้งปัญหาได้รับของไม่ตรงตามที่โฆษณา หรือหลอกขายสินค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันช่วงอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปเป็นช่วงอายุที่พบปัญหานี้มาก มาจากการที่มีอำนาจในการซื้อสูง แต่ก็ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน
ประภารัตน์ กล่าวอีกว่า โฆษณาในปัจจุบันมักนำเสนอราคาที่ถูก มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ มีการสร้างเรื่องให้คนเชื่อและต่อมาจึงหลอกลวง รวมถึงใช้ผู้สูงอายุมาเป็นพรีเซ็นเตอร์มากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ยาทาแก้ปวดเข่าที่นำเสนอให้เห็นว่าหากผู้สูงอายุใช้ยาตัวนี้ ต่อมาก็จะปวดเข่าน้อยลง เดินได้คล่องแคล่วขึ้น หากพบโฆษณาในลักษณะนี้ต้องการให้ไปปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ และควรตรวจสอบชื่อผู้ขาย ที่อยู่ หรือลองนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ETDA ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์
ส่วน จารุวรรณ ศรีภักดี ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยท่องโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลข่าวสาร พบปะเพื่อนฝูง และซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ และช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ร้อยละ 44 รองลงมา คือ ไลน์ (Line) ร้อยละ 31.25 และน้อยที่สุด คือ อินสตาแกรม (Instagram) ร้อยละ 5.25
จารุวรรณ กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่ออกมาทำให้เห็นว่า ผู้สูงอายุในไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้นด้วยนั่นเอง ดังนั้น ครอบครัวมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ และให้คำปรึกษาได้ เช่น แนะนำการใช้โซเชียลมีเดียแต่ละช่องทาง หรือแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์
ทั้งนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. จัดทำแอปพลิเคชัน ที่ใช้ชื่อว่า ‘GOLD by DOP’ สำหรับให้ความรู้กับผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมทั้งแจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และสวัสดิการของผู้สูงอายุที่จะได้รับ นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์ และมีการพัฒนาข้อมูลทุกด้านเตรียมรับสังคมสูงวัย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)
อย่างไรก็ตาม ในเวทีช่วงท้าย นิสรา แก้วสุข ผู้แทนจาก สอบ. นำเสนอแบบเลือกสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่จัดทำขึ้นสำหรับประชาชนที่กำลังจะเลือกใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่มีมาตรฐานคุณภาพ ตรงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ เนื่องจากปัญหาที่ลูกหลานและผู้สูงอายุมักเจอเวลาเลือกเข้าไปใช้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการบริการที่ไม่ครอบคลุม ผู้ดูแลไม่มีความรู้พื้นฐานด้านโภชนาการ หรือทัศนคติในแง่ลบเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแบบสอบถามดังกล่าว ได้ที่