หน่วยงานเขตพื้นที่

“หน่วยงานเขตพื้นที่” เป็นหนึ่งในในโครงสร้างสภาองค์กรของผู้บริโภค ตามข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 หมวดที่ 7 ข้อ 31 ระบุให้สภาองค์กรของผู้บริโภค มีโครงสร้างองค์กรอย่างน้อย ประกอบด้วย (1) เลขาธิการและสำนักงาน (2) หน่วยงานเขตพื้นที่ (3) หน่วยงานประจำจังหวัด และ (4) หน่วยงานอื่นที่คณะกรรมการอาจกำหนดให้มีเพื่อสนับสนุนการทำงานตามวัตถุประสงค์ของสภาก็ได้ โดยให้ “หน่วยงานเขตพื้นที่” หมายความว่า สมาชิกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการให้เป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานประจำจังหวัด และองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่ซึ่งไม่มีหน่วยงานประจำจังหวัด

“หน่วยงานเขตพื้นที่” เดิมใช้ชื่อว่า “กลไกเขตพื้นที่” ตามความหมายในระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด “กลไกเขตพื้นที่” และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด “กลไกเขตพื้นที่” สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภคของสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2564 หมายความว่า สมาชิกที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการให้เป็น “กลไกเขตพื้นที่”

ต่อมามีการแก้ไข ข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา12 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และมติของที่ประชุมสามัญสมาชิก สภาองค์กรของผู้บริโภค ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ได้มีการนิยามชื่อของกลไกเขตพื้นที่ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยงานประจำจังหวัด จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ “หน่วยงานเขตพื้นที่” โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นชอบระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภคให้มีความเหมาะสม สามารถส่งเสริมการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 27 (7) (13) ข้อ 39 และข้อ 41 แห่งข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 โดยให้มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศระเบียบฯ เป็นต้นไป (ประกาศ ณ วันท่ี 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) และให้ยกเลิกระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2564

“หน่วยงานเขตพื้นที่” เป็นองค์กรกลางในการเชื่อมประสานงานคุ้มครองผู้บริโภค และการขับเคลื่อนงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ระหว่าง สภาองค์กรของผู้บริโภคกับหน่วยงานประจำจังหวัด องค์กรสมาชิก และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดและภูมิภาค เพื่อสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานประจำจังหวัด และองค์กรของผู้บริโภคในพื้นที่เกิดการเชื่อมร้อยการทำงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

ทั้งในด้านสนับสนุนการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค ตามประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด พัฒนาข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ โดยระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยงานอื่น และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2566 หมวด 1 ส่วนที่ 2 ข้อ 13 ระบุว่า ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานเขตพื้นที่ตามบัญชีแนบท้ายของข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค (บัญชีเขตพื้นที่สำหรับการกำหนดที่มาของกรรมการตามข้อ 21 (3) ของข้อบังคับสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2565 ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร) ซึ่งอาจมีทุกเขตพื้นที่ หรือเท่าที่จำเป็นต่อการคุ้มครองผู้บริโภคและคำนึงถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการ โดยอาจจัดตั้งเองหรือแต่งตั้งให้สมาชิกทำหน้าที่หน่วยงานเขตพื้นที่

ภายหลังคณะกรรมการนโยบายเห็นสมควรตามข้อ 13 ให้สำนักงานแจ้งสมาชิกในเขตพื้นที่นั้นทราบ ไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 14 เสนอรายชื่อเข้ารับการคัดเลือก หรือรับรองสมาชิกเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ และเมื่อสำนักงานทวนสอบคุณสมบัติของรายชื่อสมาชิกแล้วเสร็จ จึงกำหนดวันในการประชุมเพื่อคัดเลือกหรือรับรองสมาชิกเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ โดยทำหนังสือแจ้งถึงรายชื่อสมาชิกที่มีคุณสมบัติครบถ้วน วันเวลา วิธีการประชุม และช่องทางการจัดประชุมให้สมาชิกทั้งหมดในเขตพื้นที่นั้นทราบ ไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งนี้การจัดประชุมเพื่อคัดเลือกหรือรับรองสมาชิกเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ ให้ดำเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


ปัจจุบัน “หน่วยงานเขตพื้นที่” จัดตั้งขึ้นแล้วใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก
1. ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคเหนือ)
2. สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
3. สมาคมผู้บริโภคสงขลา (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้)
4. สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก (หน่วยงานเขตพื้นที่ภาคตะวันตก)

ทั้งนี้ยังคงเหลืออีก 3 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานคร ที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกำลังดำเนินการจัดตั้งต่อไป ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยงานอื่น และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2566 ข้อ 14 ระบุคุณสมบัติของหน่วยงานเขตพื้นที่ไว้ว่า สมาชิกที่จะได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

1. เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่มีผลงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามปี
2. เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่มีผลงานด้านการทำงานร่วมกับองค์กรของผู้บริโภค ในระดับพื้นที่นั้นอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
3. เป็นองค์กรของผู้บริโภคที่มีระบบการบริหารจัดการที่สามารถตรวจสอบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าสามปี เช่น รายงานการเงินประจำปี หรือระบบการเงินและการบัญชีขององค์กร รวมทั้งมีการประชุมติดตามงานเป็นประจำอย่างน้อยทุกสามเดือน
4. มีผู้ปฏิบัติงานประจำอย่างน้อยสามคน
5. ผ่านการรับรองการประเมินคุณภาพองค์กรของผู้บริโภค ตามที่คณะกรรมการกำหนด
6. ไม่เป็นหน่วยงานประจำจังหวัด
7. คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด 

บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานเขตพื้นที่ ตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ หน่วยงานอื่น และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2566

1. สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานประจำจังหวัด สามารถดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่
2. สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิกเพื่อพัฒนาเป็นหน่วยงานประจำจังหวัด
3. สนับสนุนให้องค์กรของผู้บริโภค สามารถจดแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
4. สนับสนุนสำนักงานในการติดตามการทำงานของหน่วยงานประจำจังหวัด
5. สนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเขตพื้นที่และประชาชน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสำนักงาน
6. ปฏิบัติหน้าที่อีื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกองค์กรสมาชิกในภูมิภาคที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จัดตั้งเป็นหน่วยงานเขตพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในระดับภูมิภาค โดยมีหน่วยงานประจำจังหวัด หน่วยงานเขตพื้นที่ องค์กรสมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นผู้แทนของผู้บริโภคทุกด้าน และมีส่วนร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน

ค้นหาหน่วยงานเขตพื้นที่และหน่วยงานประจำจังหวัด สภาผู้บริโภค

ที่ตั้ง