ข้อเสนอต่อการกำหนดมาตรการควบคุมโฆษณาแฝงและโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

สถานการณ์ปัญหา

จากงานวิจัยเรื่อง “โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” จัดทำโดย บุณยาพร กิตติสุนทโรภาศ นักวิจัยอิสระ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) โดยสำรวจสถานการณ์ของการโฆษณาในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในปัจจุบัน

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบโฆษณาแฝง 7 ประการ ได้แก่ แฝงสปอตสั้นหรือวีทีอาร์ (VTR) แฝงภาพกราฟิก แฝงวัตถุ แฝงบุคคล แฝงเนื้อหา และรายการแนะนำสินค้า ถูกนำมาใช้กันอย่างผสมผสาน และแพร่หลายในรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ซึ่งประเภทของสินค้าหรือบริการไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์เสริม อาหารและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเหมือนเมื่อก่อน แต่กลับพบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์

ประเด็นต่อมา คือ การพบเนื้อหารายการที่น้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที ซึ่งแสดงว่าใน 1 ชั่วโมง มีโฆษณามากเกินกว่าเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด คือ 12 นาที 30 วินาที ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะเนื้อหารายการกับโฆษณา พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 52 นาที 36 วินาที แต่เมื่อพิจารณาโดยแยกเป็น 5 องค์ประกอบ คือ เนื้อหารายการ โฆษณา โฆษณาแฝง รายการแนะนำสินค้า และสปอตโปรโมตรายการ พบว่าค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการอยู่ที่ 43 นาที 55 วินาที ซึ่งน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที

ขณะที่ค่าเฉลี่ยเนื้อหารายการ จำแนกตามประเภทสถานีโทรทัศน์และประเภทรายการโทรทัศน์ พบว่ามี 6 กลุ่ม ที่เนื้อหารายการน้อยกว่า 47 นาที 30 วินาที ได้แก่

  • รายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) ในช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ มีค่าเฉลี่ยของเนื้อหารายการ 46 นาที 22 วินาที
  • รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) ในช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) มีค่าเฉลี่ยของเนื้อหารายการ 38 นาที 31 วินาที
  • รายการที่นำเสนอความบันเทิง (Light Entertainment) ในช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (SD) มีค่าเฉลี่ยของเนื้อหารายการ 43 นาที 12 วินาที
  • รายการที่นำเสนอข้อเท็จจริง (Non-Fiction) ในช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) มีค่าเฉลี่ย 42 นาที 56 วินาที
  • และรายการที่นำเสนอเรื่องแต่ง (Fiction) ในช่องบริการทางธุรกิจ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) มีค่าเฉลี่ย 42 นาที 37 วินาที

การดำเนินงาน

1. จัดเวทีสาธารณะแถลงข้อมูลงานวิจัย “โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล” เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2564

2. สภาผู้บริโภคออกหนังสือ ที่ สอบ.นย. 388/2564 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เรื่อง ขอให้กำหนดมาตรการ เรื่อง โฆษณาแฝงและการโฆษณาเกินเวลาทางช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)


ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค

ใจความสำคัญของข้อเสนอ คือ สภาผู้บริโภคเห็นว่า ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะการกระทำที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. จึงมีข้อเสนอแนะให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. เนื่องจาก กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)

การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที ประกอบกับประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ข้อ 5(8) ที่กำหนดลักษณะดังกล่าว ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่า กสทช. ควรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและบังคับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ตลอดจนพิจารณามาตรการเชิงรุกในการดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องการโฆษณาเกินเวลาต่อไปด้วย

2. นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2557 กสทช. มีนโยบายเปลี่ยนจากโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัล

นับจากห้วงเวลานั้น ปรากฏรูปแบบการโฆษณาแฝงอย่างหลากหลายและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาของเนื้อหารายการตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ทั้งนี้ ข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาของการโฆษณาและบริการธุรกิจเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ผู้บริโภคควรได้รับการคุ้มครอง สภาผู้บริโภคจึงเห็นว่า กสทช.ควรพิจารณากำหนดรูปแบบและลักษณะโฆษณาแฝงให้เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะโฆษณาและการบริการธุรกิจภายใต้มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

3. สภาผู้บริโภคเห็นว่า เพื่อให้เกิดมาตรการและกลไก ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องการโฆษณาในระยะยาว

กสทช. ควรสนับสนุนให้เกิดแนวทางการกำกับดูแลร่วมระหว่างผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และองค์กรกำกับดูแล เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงสร้างสรรค์ในการติดตามและตรวจสอบลักษณะและวิธีการโฆษณาที่เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในทุกรูปแบบ