ผลักดันติดโซลาร์เซลล์ทั่วไทย เปิดวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 4

กองทุนแสงอาทิตย์เปิดตัววิทยาลัยแสงอาทิตย์ แห่งที่ 4 หวังผลิต “มนุษย์โซล่าร์” เพิ่มศักยภาพการขยายพื้นที่ติดโซล่าร์เซลล์ให้ประชาชนทั่วไทย พร้อมเปิดโครงการติดแผงโซล่าร์เซลล์ให้กับวิทยาลัย หวังลดภาระค่าไฟปีละกว่า 60,000 บาท นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ เพื่อพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน

เมื่อวานนี้ (29 มีนาคม 2565) กองทุนแสงอาทิตย์ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เปิดตัว “วิทยาลัยแสงอาทิตย์ (SOLAR GENERATION)” สร้างการเรียนรู้ และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงถือเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของจังหวัดลพบุรีและภาคกลาง รวมถึงเป็นวิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากการระดมทุนของกองทุนแสงอาทิตย์

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการวิทยาลัยแสงอาทิตย์ คือติดโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัยจำนวน 7 แห่ง เพื่อริเริ่มให้เกิดการเรียนรู้จากการติดตั้งและการติดตามผลงาน รวมถึงเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับผู้คนที่สนใจ รวมทั้งการจ้างงาน และก้าวสู่ผู้ประกอบการพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงในครั้งนี้ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อปี หรือราว 1,500,000 บาทตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งอยู่ที่ 25 ปีขึ้นไป

ประธาน สอบ. กล่าวอีกว่า กองทุนแสงอาทิตย์ยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้เอง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตัวเอง และความเสมอภาคในด้านพลังงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้สนับสนุนและให้ความสำคัญเท่าที่ควร

“แสงอาทิตย์คือความเป็นธรรมด้านพลังงาน ที่ให้ความเสมอภาคกับทุกภาคส่วน การเข้าถึงแสงอาทิตย์เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน แต่ทุกวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมุ่งมั่นผลักดันให้ประชาชนเป็นได้แค่ผู้จ่ายเงินซื้อพลังงาน ภายใต้การผูกขาดของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของผู้คน” บุญยืนกล่าว

เริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง

เริงศักดิ์ เข็มทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง ระบุว่า จังหวัดลพบุรีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของไทย จึงมองว่าที่ว่างบนหลังคาของบ้านเรือน สถาบันการศึกษา หน่วยงาน และสถานประกอบการมีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ สำหรับวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง เป็นสถานศึกษาในจังหวัดลพบุรี ที่มีนักเรียนด้านวิชาชีพ ระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 998 คน โดยหลักสูตรพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในการเรียนการสอนที่ทางวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นเช่นกัน

“ทางวิทยาลัยขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมบริจาคเงิน ทำให้เราสามารถติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปได้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าไฟฟ้าของทางวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถใช้หลังคาโซลาเซลล์เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนสู่การประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา และผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์ได้” ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง กล่าว

ธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฎิวัติเมืองยั่งยืน
กรีนพีซ ประเทศไทย

ธีรพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฎิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการจ้างงานโซลาร์เซลล์ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนที่จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงงานแสงอาทิตย์ ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ถือเป็นการมีส่วนร่วมของทุกคนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และหยุดยั้งหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้ว พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานของความยั่งยืนสำหรับอนาคตของพวกเราทุกคน

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562 – 2563 คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการชื่อ “โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ (Solar Hospitals)” เพื่อระดมเงินบริจาคและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล 7 แห่ง โดยข้อมูลจากงานวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่า โซลาร์เซลล์ใช้ได้ทุกภูมิภาคและเกิดผลดีกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก หลังจบโครงการดังกล่าว กองทุนฯ จึงมีเป้าหมายต่อเนื่องในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับวิทยาลัย 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ โดยใช้เงินในการติดตั้งแห่งละ 400,000 บาท ซึ่งปัจจุบันข้อมูลวันที่ 10 มีนาคม 2565 มียอดบริจาคอยู่ที่ 706,688.19 บาท จากเป้าหมายรวม 1,600,000 บาท ทำให้ขณะนี้กองทุนแสงอาทิตย์สามารถระดมเงินทุนเพื่อเดินหน้าพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของวิทยาลัยได้อย่างน้อย 5 แห่งจากเป้าหมายทั้งหมด 7 แห่งนำร่องทั่วประเทศ

สำหรับผู้บริโภคที่สนใจสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนแสงอาทิตย์ สามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เลขที่บัญชี 429-017697-4 และมีช่องทางการรับบริจาคและรับหลักฐานการบริจาคเงินทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thailandsolarfund.org โดยการบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ เนื่องจากมูลนิธิฯ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

กองทุนแสงอาทิตย์เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งด้านผู้บริโภค การพัฒนาเด็ก สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อระดมทรัพยากรติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในระดับครัวเรือน หน่วยงาน สถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคธุรกิจ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงาน โดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน

เครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ประกอบด้วย (1) คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ (2) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) (3) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (4) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) (5) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค (6) สมาคมประชาสังคมชุมพร (7) มูลนิธิป่า – ทะเลเพื่อชีวิต (8) บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด (9) Solarder (10) โรงเรียนศรีแสงธรรม (11) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) (12) เครือข่ายสลัม 4 ภาค (13) มูลนิธิภาคใต้สีเขียว (14) เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green (15) มูลนิธิสุขภาพไทย (16) กรีนพีซ ประเทศไทย และ (17) สภาองค์กรของผู้บริโภค

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #ผู้บริโภค