สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) นักวิชาการ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากน้ำมันแพง เสนอรัฐลดภาษีสรรพสามิต ปรับปรุงโครงสร้างราคา และกำหนดเพดานราคาไม่เกินลิตรละ 25 บาท
วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2564) สอบ.จัดงานเสวนาออนไลน์ “รวมพลังผู้บริโภค สะท้อนปัญหาน้ำมันราคาแพง” เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคและประชาชนถึงสาเหตุปัญหาราคาน้ำมันแพง และข้อเรียกร้องที่มีถึงรัฐบาล โดยมีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และผู้บริโภคที่สนใจในประเด็นเกี่ยวกับพลังงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
ดร.มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันหน้าปั๊มน้ำมันของประเทศไทยอยู่ที่ 39.96 บาทสำหรับน้ำมันเบนซิน และ 29.69 บาทสำหรับน้ำมันดีเซล ขณะที่ ราคาน้ำมันของประเทศเมียนมาอยู่ที่ 26.22 บาท และ 24.84 บาท ตามลำดับ ทั้งที่นำเข้าน้ำมันจากประเทศไทย ส่วนราคาน้ำมันที่มาเลเซียอยู่ที่ 16.32 บาท และ 17.11 บาทตามลำดับ โดยที่มาเลเซียใช้กำไรของบริษัทปิโตรนาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาลมาสนับสนุนราคาน้ำมัน โดยตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาราคาน้ำมันของไทยอยู่ที่การบริหารจัดการ
“การคิดราคาน้ำมันของไทย ที่สมมติราคาว่า เรานำเข้าน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์ จึงใช้ราคาน้ำมันของสิงคโปร์ และบวกค่าขนส่ง ทั้งที่โรงกลั่นอยู่ในประเทศไทย การคิดราคาแบบนี้เป็นการคิดราคาอ้างอิงในอดีต ซึ่งโรงกลั่นของไทยมีไม่เพียงพอ ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้เกินพอมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว” ดร.มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ไข ดร.มล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ และเป็นส่วนที่รัฐดูแลอยู่ คือ การปรับลดภาษีสรรพสามิต แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบันกลับเก็บภาษีสรรพสามิตสูง โดยปัจจุบัน รายได้ภาษีน้ำมันรวมตั้งแต่ปี 2557 – 2563 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารัฐบาลอื่น ๆ เกือบสามเท่า แต่ก็ยังใช้กองทุนน้ำมันมาพยุงราคาด้วย ดังนั้น หากลดภาษีสรรพสามิตลง ราคาภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะลดลง ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันถูกลงด้วย
ด้าน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันของประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเกิดจากการร่วมกันของรัฐและบริษัทผูกขาดทางพลังงาน ที่เมื่อข้าราชการเกษียณแล้วก็จะไปเป็นที่ปรึกษาของบริษัท และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจในทางนโยบาย
ธีระชัย อธิบายว่า รัฐบาลแต่ละยุคใช้ภาษีสรรพสามิตในการควบคุมราคาน้ำมันแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันของโลก หากราคาน้ำมันต่ำก็จะเก็บภาษีสูง และเมื่อราคาน้ำมันสูงก็จะเก็บภาษีต่ำ แต่ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น ช่วงต้นของรัฐบาลปัจจุบัน ราคาน้ำมันโลกมีราคาอ่อนตัวลง รัฐเลือกที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตสูง แทนที่การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อเตรียมไว้ใช้พยุงราคาในช่วงน้ำมันราคาแพง
ในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันแพง รัฐไม่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตลง แต่กลับใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคา ส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และกลายเป็นการกู้ต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น ฉะนั้น ข้อเสนอในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในขณะที่รัฐเสพติดภาษีน้ำมันจึงเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากจะต้องรื้อนโยบายการคลังของรัฐบาลใหม่ทั้งหมด
ส่วน รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. ระบุว่า รัฐอ้างว่าเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูง เพราะมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันกลับไม่เห็นว่ารัฐนำภาษีน้ำมันที่เก็บได้ไปอุดหนุน หรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะเลย นอกจากนี้ การเก็บ VAT ยังแสดงถึงความไม่เป็นธรรม เนื่องจากทุกคนจ่ายเท่ากันในอัตราเดียว ไม่ว่าจะมีรายได้น้อยหรือมาก และรัฐยังยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มธุรกิจพลังงานอีก ขณะที่เก็บภาษีธุรกิจประเภทอื่น ๆ สูง
รสนา เสนอว่า น้ำมันเป็นต้นทุนของธุรกิจหรือภาคการผลิตที่จำเป็นจะต้องทำให้ต่ำที่สุด โดยที่ต้องไม่มีการชดเชย รัฐควรต้องทำให้ราคาพลังงานต่ำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ แล้วรัฐค่อยเก็บภาษีจากกำไรของธุรกิจ ไม่ใช่เก็บภาษีจากต้นทุนอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เครือข่ายผู้บริโภคและประชาชนควรร่วมกันเรียกร้องให้รัฐกำกับราคาน้ำมันให้ไม่เกิน 25 บาท มิใช่ราคา 30 บาทอย่างที่รัฐกล่าวอ้าง เนื่องจากเป็นราคาที่รัฐสามารถทำได้ และเป็นราคาตลาด
สอดคล้องกับ อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลยังยืนยันจะตรึงราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 30 บาท ก็อาจทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น เพราะการขนส่งเป็นเหมือนสายพานของสินค้าอื่น ๆ ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ เคยยื่นข้อเสนอเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำมันไปยังรัฐบาล เช่น ให้นำน้ำมันไบโอ 100 ออกจากระบบโครงสร้างน้ำมันเป็นการชั่วคราว และให้พิจารณาลดภาษีน้ำมันแต่ละประเภทเท่าที่จะลดได้
ประธานสหพันธ์ฯ ฝากถึงรัฐบาลว่า ต้องชี้แจงให้ประชาชนรับทราบแนวทางการจัดการ เพื่อให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละไม่เกิน 25 บาท เพื่อทำให้ภาคการขนส่งสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เมื่อค่าขนส่งไม่เพิ่ม ราคาสินค้าก็จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ด้วย
“การเรียกร้องในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเฉพาะผู้ประกอบการขนส่งเท่านั้น แต่ต้องการให้ดูแลภาคประชาชนด้วย เพราะเรามองว่ามันมีวิธีที่จะจัดการปัญหาดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องไปกู้เงินตามที่รัฐเคยระบุว่าจะกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาทเพื่อพยุงให้น้ำมันราคาไม่เกิน 30 บาท” อภิชาติระบุ
ด้าน รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไบโอดีเซลมีราคาสูงคือ 1.มีเจ้ามือรายใหญ่คอยกำหนดราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 2.การปั่นราคาขึ้นลงทำกำไร ทำให้ราคารับซื้อผลผลิตปาล์มไม่แน่นอน เกษตรกรไม่มีส่วนร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จากราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ปลายทาง และ 3.กลไกการคิดราคามีช่องโหว่ มีการแจ้งราคาซื้อขายเท็จ กล่าวคือ ราคาไบโอดีเซลมีทั้งสิ้น 3 ราคา แบ่งตามวัตถุดิบ คือ น้ำมันปาล์มดิบ เสตียรีน และน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ โดยไบโอดีเซลส่วนใหญ่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบ แต่กลับใช้ราคาน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ซึ่งมีราคาสูงที่สุดแทน
รศ.ดร.ชาลี ระบุว่า การยกเลิกการใช้ไบโอดีเซลจะส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน คือ รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างการกำหนดราคาไบโอดีเซล อุดช่องโหว่การแจ้งราคาเท็จ ทำให้สะท้อนราคาซื้อขายจริงที่รับซื้อ โดยการประมูลระหว่างโรงงานผลิตและผู้ค้าน้ำมัน และทำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)
นอกจากนี้ รัฐควรใช้กลไกภาษีสรรพสามิตเข้ามาจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำประเด็นเรื่องมลภาวะและการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงของแต่ละเชื้อเพลิงมาใช้ในการพิจารณากำหนดราคาด้วย
ส่วน อธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ระบุว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ราคาปาล์มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง จากปกติจะอยู่ระหว่าง 2.88 – 4.17 บาท ส่วนราคาประกันรายได้อยู่ที่ 4 บาท ซึ่งสาเหตุที่ราคาปาล์มสูงขึ้นเกิดจากการขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ภาครัฐสนับสนุนให้ปลูกสวนปาล์ม รวมถึงนำน้ำมันไบโอดีเซลเข้ามาใช้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันแพง แต่ทุกครั้งที่ราคาปาล์มสูงขึ้นก็จะลดสต็อกน้ำมันไบโอดีเซลลงมา เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ในขณะที่ปาล์มเป็นพืชยืนต้นที่ปลูกแล้วมีอายุการเก็บเกี่ยวถึง 25 ปี เมื่อลดปริมาณการใช้ไบโอดีเซลจึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว
หนึ่งในข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีมาอย่างต่อเนื่อง คือ ให้มีโครงสร้างราคาปาล์มทะลายที่ถูกต้อง รวมถึงมีโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มบริโภค และโครงสร้างราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่เป็นธรรมทั้งระบบ เพราะแม้ว่ารัฐพยายามสร้างกลไกดูแลราคาพลังงาน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการดูแลราคาน้ำมันไบโอดีเซล แต่เมื่อต้องบวกกับภาษีและค่าการตลาดต่าง ๆ ทำให้ราคาไบโอดีเซลสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น การเรียกร้องที่เหมาะสมน่าจะเป็นให้รัฐปรับปรุงโครงสร้างการคิดต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง
รับชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กไลฟ์ตามลิงก์นี้ https://www.facebook.com/tccthailand/videos/597750321367110